ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นประเทศที่มีความได้เปรียบทั้งด้านการดำรงชีพและโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับจุลภาคจนถึงมหภาค แต่ช่วงหลักสิบปีที่ผ่านมาสิ่งมีชีวิตหลายชนิดในไทยกำลังมีจำนวนประชากรลดลงจนถึงขั้นวิกฤต ทั้งเหตุจากภัยธรรมชาติและการรุกรานอย่างหนักโดยมนุษย์ รายชื่อของพืชและสัตว์ที่ปรากฏใน ‘บัญชีเสี่ยงสูญพันธุ์’ กำลังส่งสัญญาณเตือนครั้งใหญ่ว่า ‘หากคนไทยไม่ร่วมกันฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนมาตั้งแต่วันนี้…ในอนาคตอันใกล้อาจต้องเผชิญกับความสูญเสียที่ไม่มีวันกลับคืน’
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการนำความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยรวมถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เข้าหนุนการดำเนินงานอนุรักษ์ให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ ตัวอย่างงานวิจัยสำคัญที่พัฒนาจนแล้วเสร็จในช่วงปีที่ผ่านมา คือ “โปรแกรมวิเคราะห์เลือกคู่ผสมพันธุ์สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์” โดยทีมวิจัยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT)
โปรแกรมที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นนี้ใช้สำหรับวางแผนจับคู่ผสมพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่เสี่ยงสูญพันธุ์ โดยวิเคราะห์ความแตกต่างของรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้น แล้วคัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่มีรหัสต่างกันมากที่สุด เพื่อป้องกันการผสมแบบเลือดชิดหรือในเครือญาติใกล้ชิด (Inbreeding) เป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการจับเข้าคู่ของยีนด้อยที่อาจทำให้เกิดการส่งต่อโรคทางพันธุกรรมหรือลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์อ่อนแอลงและมีแนวโน้มสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้จุดเริ่มต้นในการพัฒนาโปรแกรมมาจากความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการทำวิจัยเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ ‘ละมั่งสายพันธุ์ไทย’ ให้แก่หน่วยงานด้านการอนุรักษ์ในประเทศ เพราะจากการประมาณจำนวนละมั่งสายพันธุ์ไทยพบว่า ‘ปัจจุบันมีเหลืออยู่เพียงหลักสิบตัวเท่านั้น ทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง’ ในการนี้ สวทช. จึงได้สนับสนุนการทำวิจัย 2 ส่วน คือ ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (NOC) ดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมของละมั่งในประเทศไทย และ NBT พัฒนาโปรแกรมสำหรับสนับสนุนการดำเนินงานขยายพันธุ์ดังที่กล่าวถึงข้างต้น
หลังจากนี้ NBT มีแผนที่จะดำเนินงานร่วมกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการนำโปรแกรมเข้าสู่ระบบขององค์การสวนสัตว์ฯ เพื่อเปิดให้ผู้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และการผสมพันธุ์สัตว์ในประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์ในการวางแผนอนุรักษ์สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ชนิดต่าง ๆ ร่วมกัน โดยทีมวิจัยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโปรแกรมนี้จะไม่เพียงมีส่วนสนับสนุนงานด้านการอนุรักษ์ในไทย แต่จะยังช่วยอำนวยความสะดวกการดำเนินงานให้แก่หน่วยงานในประเทศอื่น ๆ ได้ด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติม: NBT พัฒนาโปรแกรม “วิเคราะห์เลือกคู่ผสมสัตว์” ลดเสี่ยงสูญพันธุ์ นำร่องอนุรักษ์ “ละมั่งพันธุ์ไทย”
ที่มา : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
https://www.bcg.in.th/data-center/delight-infographic/bcg-delight-infographic-elds-deer-bioinformatics/
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.