แม้ประเทศไทยจะอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2562 แต่ปัจจุบันตลาดกัญชายังคง ‘มีมูลค่าต่ำ’ เหตุจากยังไม่สามารถแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมมูลค่าสูงได้
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนา ‘อนุภาคนาโนสำหรับนำส่งสารสกัด Cannabidiol (CBD) ในกัญชาและกัญชง (Cannabis sativa L.)’ เพื่อลดจุดอ่อนของสารสกัด CBD ใน 2 ด้านหลัก ด้านแรกคือ ‘การนำส่งสาร’ ที่ยังมีประสิทธิผลต่ำ เนื่องจากสารสกัด CBD ละลายน้ำได้น้อย ซึมผ่านผิวหนังได้ไม่ดี จึงมักสะสมอยู่ที่หนังกำพร้าชั้นนอก การห่อหุ้มด้วยอนุภาคไขมันจะช่วยให้สาร CBD ซึมผ่านชั้นผิวหนังของมนุษย์ได้ดีขึ้น สามารถละลายหรือนำส่งสารออกฤทธิ์ไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้านที่สอง คือ ‘ลดการเสื่อมสภาพของสาร’ การห่อหุ้มด้วยอนุภาคระดับนาโนจะช่วยลดการโดนแสง ค่าความเป็นกรด-ด่าง ที่ไม่เหมาะสม รวมถึงออกซิเจนในอากาศที่ทำให้คุณสมบัติแอนติออกซิแดนต์ (Antioxidant) ของสารเสื่อมสภาพ
การลดข้อจำกัดของสารสกัด CBD ทั้ง 2 ด้านนี้ได้สำเร็จ จะทำให้สารสกัด CBD ออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดปริมาณการใช้สารสกัด CBD ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และยังลดอัตราเสี่ยงให้แก่ผู้ใช้งานที่อาจต้องสัมผัสสารปริมาณมากจนเกิดการระคายเคือง ซึ่งจะเป็นประโยชน์หากจำเป็นต้องใช้สารสกัด CBD ในปริมาณสูงเพื่อพัฒนายารักษาโรคในอนาคต
นอกจากนี้การห่อหุ้มด้วยอนุภาคไขมันยังช่วยให้ผู้ประกอบการหรือนักพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถ ‘ใช้สาร CBD ในเวชสำอางประเภทซีรัมหรือน้ำตบ’ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อบางเบา ซึมเข้าผิวได้รวดเร็ว ให้ความรู้สึกเบาสบายผิว เหมาะแก่การใช้เป็นประจำทุกวันมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อหนักซึมเข้าผิวช้าได้เพิ่มเติมจากการใช้งานในผลิตภัณฑ์ประเภทครีมหรือน้ำมันที่ใช้กันอยู่เดิมได้ด้วย โดยสารสกัด CBD เป็นสารสำคัญที่มีจุดเด่นทั้งในด้านการเป็นสารแอนติออกซิแดนต์ประสิทธิภาพสูง ช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์หรือการเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น และยังช่วยลดการอักเสบ สมานแผล รวมถึงเพิ่มคอลลาเจนไฟเบอร์ (Collagen fiber) ให้แก่ผิวได้เป็นอย่างดี
หนึ่งในตัวอย่างอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบเชิงบวกและมีแนวโน้มเติบโตขึ้นสูงจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ คือ กลุ่มการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Health and wellness travel) เพราะเริ่มเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าประเทศไทยอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจำนวนมากที่มองหากิจกรรมการท่องเที่ยวประเภทสปาที่มีการนำสารสกัด CBD มาใช้เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า ดังนั้นหากผู้ประกอบการมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นสูตรเฉพาะซึ่งออกฤทธิ์ได้ดีก็จะเป็นจุดแข็งสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาใช้บริการในช่วงที่การท่องเที่ยวไทยกำลังกลับมาคึกคักได้
รายละเอียดเพิ่มเติม: นวัตกรรมยกระดับ ‘การนำส่งสารสกัด CBD ในกัญชา’ สร้างจุดขายเวชสำอางและท่องเที่ยวไทย
ที่มา : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
https://www.bcg.in.th/news/bcg-delight-cbd-encapsulation/
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.