ข้อจำกัดมีไว้ให้ก้าวข้าม เปิด 3 มุมมองยกระดับ “อันดับนวัตกรรมของประเทศ” จากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 หน่วยงานผู้ร่วมขับเคลื่อนและเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก
การหยิบผล “ดัชนีนวัตกรรม” มาสแกนหาการเปลี่ยนแปลง เพื่อวางแนวทางการพัฒนา เป็นสิ่งที่ NIA ให้ความสำคัญ ซึ่งในปีนี้เป็นการจัดอันดับภายใต้ธีมผู้นำนวัตกรรมท่ามกลางความไม่แน่นอน (Innovation in the face of uncertainty) ที่เป็นผลมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อนวัตกรรมในห่วงโซ่อุปทาน
แม้จะพบกับความท้าทายหลายอย่าง แต่ประเทศไทยก็ยังสามารถรักษาอันดับที่ 43 คงเดิมจากปีที่แล้วเอาไว้ได้ อีกทั้งยังพบว่าองค์ประกอบปัจจัยภายในหลายด้านเริ่มมีการพัฒนาขึ้น บ่งชี้ให้เห็นถึงสัญญาณการเตรียมพร้อมเพื่อเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่การที่จะพาประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 30 ของโลกภายในปี 2575 ได้นั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากอีกหลายหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ชาตินวัตกรรม” ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งดำเนินการ
และภายใต้การปรับเปลี่ยนบทบาทของ NIA สู่การเป็น “Focal Conductor” หรือผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม โดยมี 3 โจทย์ท้าทายสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านทุนมนุษย์ การดึงดูดนักลงทุน และการส่งออกวัฒนธรรม เกิดเป็นการเสวนาวิเคราะห์ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกโดย 3 ผู้เชี่ยวชาญจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ที่มาร่วมวิเคราะห์ถึงทิศทางการพัฒนาอย่างตรงจุดว่าหลังจากนี้ ประเทศไทยควรปักธงเดินเกมเช่นไร ต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายบ้าง ตามไปดูกัน
ปัจจัยสำคัญอย่างแรกในการพัฒนาคือทุนมนุษย์ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นจากหลายประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมของโลก
จึงกลายมาเป็นโจทย์สำหรับประเทศไทยในการเพิ่มความเข้มข้นตั้งแต่ภาคการศึกษา ที่ไม่เพียงต้องผลิตผู้เรียนที่มีความเก่งกาจ แต่ต้องมองไปถึงการปรับหลักสูตรโดยมุ่งไปสู่ความเป็นสากลของผู้ประกอบการ ซึ่งเมื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงในช่วงไม่กี่ปี จะพบว่าหลายสถาบันการเรียนการสอน เริ่มมีการปรับตัวเพิ่มหลักสูตรบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมไปถึงทักษะต่างๆ ให้เกิดการปั้นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมรุ่นต่อไป
นอกจากนั้นต้องต่อยอดงานวิจัยออกมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ผ่านการสนับสนุนจาก Holding Company จนสามารถเกิดเป็นกลไกในการหมุนเวียนความรู้ที่ได้ผ่านประสบการณ์จริง กลับมาเป็นบทเรียนที่มีคุณภาพ ภาครัฐจึงควรต้องเพิ่ม Sandbox ที่เปรียบเสมือนกับสนามทดลองหรือพื้นที่นำร่องการใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ เร่งการเติบโตในการลงทุนทางนวัตกรรม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกด้วยเช่นกัน
อีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการลงทุนและระดับความน่าเชื่อถือด้านนวัตกรรม คือ “ระบบสิทธิบัตร”
โดยหากเปรียบเทียบจากอดีตจะเห็นว่า ระบบสิทธิบัตรในประเทศไทยมีการพัฒนาขึ้นมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น จำนวนคำขออนุสิทธิบัตรที่ยื่นโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในไทย จำนวนคำขอสิทธิบัตรผ่านระบบสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร การใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าและบริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญ จึงต้องต่อยอดสิ่งเหล่านี้ให้มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
เริ่มจากการสื่อสารถึงความสำคัญของระบบสิทธิบัตร ซึ่งเป็นปัจจัยในการดึงดูดการลงทุน และเป็นอีกมิติหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ส่วนในด้านระยะเวลาการดำเนินงานที่หลายคนอาจจะมองว่ายังเป็นข้อจำกัด ก็ได้มีการเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็น E-filing เพื่อส่งเอกสาร Image Search ที่ช่วยในการจับจุดความเหมือนคล้ายต่างๆ รวมถึงยังมีระบบจดสิทธิบัตรแบบมุ่งเป้าสำหรับทรัพย์สินทางปัญญาที่จะให้บริการตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนผันอย่างรวดเร็วของโลกในเวลานี้
การส่งออกวัฒนธรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศ
เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีข้อได้เปรียบจากต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายในแต่ละภูมิภาค ซึ่งพร้อมนำมาต่อยอดเชิงพาณิชย์และสามารถสร้างมูลเพิ่มได้อีกมาก ที่ผ่านมาเริ่มมีการผลักดันนโยบายส่งเสริมต่างๆ แต่ก็ยังมีความท้าทายในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับต้นทุนเหล่านี้ (Creative Economy Value Creation) เนื่องจากจะต้องมีการใส่ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี พร้อมกับการเปลี่ยนมุมมองให้วัฒนธรรมเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนและดูจับต้องได้ในโลกยุคปัจจุบัน
การพัฒนาจึงต้องลงลึกและวางรากฐานที่มั่นคงทั้งระบบนิเวศ สร้างสภาพแวดล้อม หรือพื้นที่ในการทำงาน ที่สามารถดึงดูด Talent จนเกิดเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพด้าน Soft power ที่มีอิทธิพลในระดับนานาชาติ และที่ขาดไม่ได้คือการมองหานักลงทุนที่มีความสนใจในการสนับสนุนด้านเดียวกันนี้ ซึ่งหากประเทศไทยมีครบทุกองค์ประกอบสำคัญ ก็จะนำไปสู่การแข่งขันจนเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
จะเห็นได้ว่าการยกระดับดัชนีนวัตกรรมไทย หรือการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรม ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน และ NIA เองยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการเชื่อมต่อและผลักดันให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ผ่านบทบาทใหม่ในการเป็น “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม หรือ Focal Conductor” ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เข้มข้นอย่างไรบ้างนั้น รอติดตามในคอนเทนต์ต่อๆ ไปได้เลย
รับชมการเสวนาวิเคราะห์ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2566 ย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/100064357042971/videos/835238034940560
ที่มา : สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) https://www.nia.or.th/GII-Thai2023
สามารถคลิกอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆ ของสำนักงานนัวตกรรมแห่งชาติ NIA ได้ที่ https://www.nia.or.th/article/blog.html
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.