Soft Power เรื่องซอฟต์ ๆ ที่จะพาชาวสตาร์ทอัพไทยไปสู่ตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง
Soft Power คืออะไร
‘Soft Power’ คือ แนวคิดที่พัฒนาโดย “Joseph Nye” ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ว่าด้วยทุกประเทศล้วนมีเสน่ห์ จุดเด่น และจุดแข็งของตนเอง สามารถใช้ชักจูงใจ ดึงดูดความสนใจให้ผู้คนคล้อยตาม และชื่นชอบ โดยปราศจากการบังคับขมขู่ หรืออำนาจทางการทหาร (Hard Power) สามารถเปลี่ยนแปลงความคิด และพฤติกรรมของผู้คนได้ จนสามารถนำมาพัฒนาประเทศของตนได้
Soft Power ไทยที่ชาวสตาร์ทอัพต้องไม่พลาด
อาหารไทย
ประเทศไทยของเรามีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านอาหารการกินอย่างมาก จนมีประโยคที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ซึ่งความอุดมสมบูรณ์นี้ เป็นที่มาของความโดดเด่นจนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายของอาหารไทย จนติดอันดับอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกตลอดมา ใครมาเที่ยวที่ประเทศไทย ก็ต้องไม่พลาดที่จะชิม และตกหลุมรัก ดังนั้นอาหารไทยเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นเสน่ห์ และ Soft Power ที่น่าสนใจสำหรับชาวสตาร์ทอัพไทยเพื่อนำไปต่อยอดอย่างแน่นอน
ภูมิปัญญาของไทย เช่น ศาสตร์การนวด สินค้า OTOP ฯลฯ
ภูมิปัญญาของไทยมีมากมาย ตั้งแต่ศาสตร์การนวดที่โด่งดังไปทั่วโลก รวมถึงผลิตภัณฑ์ และสินค้าท้องถิ่นต่าง ๆ ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้า การจักสาน การแปรรูปพืชให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ที่พร้อมสำหรับการนำเสนอสู่ชาวโลกให้รับรู้ถึงภูมิปัญญา และความสามารถของคนไทย
วัฒนธรรมไทย เช่น มวยไทย การรำ เครื่องแต่งกาย ฯลฯ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสน่ห์ของไทยที่โดดเด่นอย่างมาก ก็คือศิลปะ วัฒนธรรมไทย ตั้งแต่การไหว้ การรำ มวยไทย หรือแม้แต่เครื่องแต่งกายที่วิจิตรงดงาม ไม่ว่าจะชาติไหนมาเยือนไทย ก็ต้องมาดู มาชม และถ่ายภาพเก็บเอาไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ชาวสตาร์ทอัพสามารถนำไปคิดต่อยอด ตีโจทย์ต่อในการดัดแปลงให้เข้ากับวิถีชีวิตปัจจุบันได้ รับรอง ปังแน่นอน!
การท่องเที่ยวไทย
ในหนึ่งปี มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจำนวนนับไม่ถ้วนบินข้ามฟ้าข้ามทะเลมาเพื่อเที่ยวประเทศไทยของเรา ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และความงดงามของวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่น ที่ได้สร้างเรื่องราวสุดน่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวอย่างไม่รู้จบ ดังนั้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเด่นที่น่าสนใจ และพาประเทศไทยไปสู่ระดับโลกได้อย่างทัดเทียมนานาประเทศ อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้คนในแต่ละท้องถิ่น และเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อีกด้วย
มูเตลู
แม้จะฟังดูแปลก แต่รู้หรือไม่ว่ามูเตลูแบบไทย ๆ นั้นถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้คนต่างชาติชื่นชอบในประเทศไทย โดยเราสามารถเห็นได้จากการที่นักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ และสัญชาติเดินทางมาเพื่อสักการะพระพรหม เอราวัณที่แยกปทุมวัน หรือแม้แต่การที่นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังมาสักกับอาจารย์สักชื่อดังถึงที่ประเทศไทย แม้เรื่องมูเตลูจะยังไม่ถูกนำเสนอในแง่ Soft Power มากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ และสามารถนำมาต่อยอดได้
หนัง/ละคร และเพลงไทย
สื่อสมัยใหม่อย่างหนัง ละคร และเพลงไทย ก็มาแรงในบริบทโลกสุด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่หนัง และละครไทยได้มีโอกาสไปฉายในต่างประเทศ และเป็นที่ชื่นชอบ รวมถึงการที่ศิลปินนักร้องของไทยหลายคนถูกเชิญให้ไปแสดงในงานเทศกาลดนตรีระดับโลกมากมาย แม้จะยังดูเป็นเรื่องใหม่อยู่ แต่ถ้าชาวสตาร์ทอัพนำไปต่อยอดก็จะสามารถพาอุตสาหกรรมบันเทิงไทยให้ไปสู่ระดับโลกได้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบาย ”ซอฟต์พาวเวอร์” ของรัฐบาล ผ่านการเข้าไปสนับสนุนใน 3 ส่วนสำคัญคือ
1. การพัฒนากำลังคนให้มีทักษะสูงขึ้น
2. การใช้ข้อมูลทางวิชาการเสริมในประเด็นสำคัญเพื่อให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทยได้รับความเชื่อถือในระดับโลก
3. การจัดโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ใน 11 สาขา ประกอบด้วย 1. อาหาร 2. กีฬา 3. งานเทศกาล 4. ท่องเที่ยว 5. ดนตรี 6. หนังสือ 7. ภาพยนตร์ 8. เกม 9. ศิลปะ 10. การออกแบบ และ 11. แฟชั่น เพื่อสนับสนุน และผลักดันให้ประเทศไทยขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์
ที่มา : กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม TED Fund
https://www.facebook.com/tedfund.most.th
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.