วันเพ็ญเดือนสิบสอง ทำไมน้ำถึงนองเต็มตลิ่งกันนะ
ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เทศกาลที่พวกเราชาวไทยมักต้องนึกถึงเลยก็คือ “เทศกาลวันลอยกระทง” นั่นเอง แล้วประโยคติดหูที่อยู่ในเพลงลอยกระทงที่เราได้ยินกันอยู่ทุกปีก็คือ “วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง” ทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่า การที่มีน้ำมากจนเต็มตลิ่งในวันนี้ เกิดขึ้นจากอะไร วันนี้ ‘Mhesi ชวนไปดู’ จะพาทุกคนไปหาคำตอบกัน
วันลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปีของไทย ซึ่งเป็นค่ำคืนที่พระจันทร์เต็มดวงในฤดูน้ำหลากพอดี และเป็นวันที่ระดับน้ำขึ้นสูงสุด อันเนื่องจาก “ปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง” โดยปรากฏการณ์นี้ เกิดจากการที่ดวงจันทร์ โลก และดวงอาทิตย์ เรียงกันอยู่ในแนวเส้นตรง ทำให้แรงดึงดูดจากดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เสริมกัน ส่งผลให้น้ำทะเลของโลกด้านที่อยู่ใกล้กับดวงจันทร์เกิดน้ำขึ้น และด้านที่อยู่ตรงกันข้ามเกิดน้ำขึ้นเช่นกันแต่มีระดับน้อยกว่า โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ ซึ่งเรียกกันว่า “ปรากฏการณ์น้ำเกิด”
ปรากฏการณ์นี้จะแตกต่างกับวันขึ้น 8 ค่ำ และแรม 8 ค่ำ ในวันนั้นดวงจันทร์จะทำมุมตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ ทำระดับน้ำขึ้นลงน้อยสุด ซึ่งเรียกกันว่า “ปรากฏการณ์น้ำตาย”
ปรากฏการณ์น้ำเกิด (วันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ) และปรากฏการณ์น้ำตาย (วันขึ้น 8 ค่ำ และวันแรม 8 ค่ำ) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติทุกเดือนอยู่แล้ว แต่ที่ “เทศกาลลอยกระทง” จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนั้น เป็นเพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่มีน้ำหลาก ทำให้เหมาะกับกับการลอยกระทงนั่นเอง
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.