“นายกฯ” คิกออฟแคมเปญ “ยุวชนสร้างชาติ” เปิดทำเนียบรับ500 ยุวชนไทย นำพลังเยาวชนไทยขับเคลื่อนประเทศสู่ศตวรรษที่ 21 ผ่าน 3 โครงการหลัก ยุวชนอาสา - บัณฑิตอาสาและกองทุนยุวสตาร์ทอัพ ด้าน“สุวิทย์” ขานรับนโยบาย ชูแนวคิดปฎิรูปการเรียนรู้สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน ใช้นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำชุมชน นำร่องยุวชนลงพื้นที่พัฒนา จ.กาฬสินธุ์ 1 ใน 4 จังหวัดยากจนของประเทศ
(13 มค. 2563) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานเปิดตัวแคมเปญ “ยุวชนสร้างชาติ” ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พร้อมให้โอวาทนักศึกษาที่เข้าร่วมจากโครงการยุวชนอาสา จำนวน 500 คน จาก 7 มหาวิทยาลัยภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมกันนี้ยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานโครงการยุวชนอาสาระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ 7 มหาวิทยาลัยภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และมหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเปิดเผยว่า โครงการยุวชนสร้างชาติ นับเป็นหนึ่งในยุธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศและเป็นโครงการสำคัญในการปฎิรูปประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้พลังเยาวชนไทยเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ พร้อมทั้งปฏิรูประบบการเรียนรู้สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน เปิดโอกาสให้ยุวชนนำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีไปพัฒนาพื้นที่ชนบท พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และผู้ประกอบการยุคใหม่อีกด้วย
ซึ่งสิ่งที่ประเทศไทยต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วนและจริงจัง คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่มีทั้ง “ทักษะทางวิชาการ (Hard Skill)” และ “ทักษะทางอารมณ์และสังคม (Soft Skill)” รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม และศักยภาพที่จะดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 ดังนั้น กระทรวง อว. นับถือเป็นกระทรวงสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากเป็นการหลอมรวมหน่วยงานวิจัยของประเทศและสถาบันอุดมศึกษามาเพิ่มพลังทวีคูณในการเติมเต็มศักยภาพของคนไทยให้สามารถเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมและความรู้เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน
ด้าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า โครงการยุวชนสร้างชาติ ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1.โครงการยุวชนอาสา: สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 กลุ่มละ 8-10 คนแบบคละศาสตร์ (วิทย์-สังคม) เรียนรู้และพักอาศัยในชุมชนเป็นเวลา 1 ภาคเรียน (4-5 เดือน) และได้รับหน่วยกิตเทียบเท่าการเรียนในชั้นเรียนทั้งภาคเรียน 2.โครงการบัณฑิตอาสา: สำหรับบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี กลุ่มละ 8-10 คนแบบคละศาสตร์ (วิทย์-สังคม) ลงพื้นที่พักอาศัยและทำโครงการในชุมชนเป็นระยะเวลา 12 เดือน และ 3.โครงการกองทุนยุวสตาร์ทอัพ : สำหรับนักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่ที่มีความสนใจเป็นผู้ประกอบการ และต้องการรวมกลุ่มกันจัดตั้ง Start-up
โดยโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วคือ โครงการยุวชนอาสา ซึ่งได้เลือกจังหวัดกาฬสินธุ์ถือเป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินโครงการนี้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ติด 1 ใน 4 จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ มีสัดส่วนคนยากจนสูงถึง 31.99 % ซึ่งมีนักเรียน นักศึกษาผ่านการคัดเลือก จำนวน 83 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 83 ตำบล ใน 15 อำเภอ จาก 134 ตำบล ใน 18 อำเภอ ระยะเวลาในการดำเนินโครงงาน 1 ภาคการศึกษา โดยประเด็นการพัฒนา คลอบคลุม 4 ด้านได้แก่ 1.พัฒนาศักยภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย 2. ยกระดับคุณภาพและรายได้ด้านการท่องเที่ยว และส่งเสริมการค้า การลงทุน 3. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.การพัฒนาทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่มีความมั่นคงและสงบสุข
นอกจากนี้ ภายในงานนักศึกษายังได้นำเสนอผลงานในการร่วมพัฒนาชุมชนต่อนายกรัฐมนตรีฯ จำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย 1. การสร้าง Smart Farmer ไทยด้วย IoT (Internet of Thing): โครงการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีอบพริกแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบ IoT โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 2. การพัฒนาที่ยั่งยืนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ : การบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น 3. โครงการสู่ ‘นาบอนโมเดล’ การท่องเที่ยวชุมชนเทคโนโลยี 4.0 โดย มหาวิทยาลัยศรีปทุม 4. จากขยะสู่หนอนสู่โปรตีนเลี้ยงสัตว์คุณภาพสูง : โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากหนอนแมลงวันลาย (ย่อยขยะอินทรีย์) ให้เป็นโปรตีนเลี้ยงสัตว์คุณภาพสูง โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร และ 5. หมู่บ้านต้นแบบผ้าทอพื้นเมืองตามอัตลักษณ์ผู้ไทเพื่อสุขภาพโดยมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
ที่ผ่านมา NIA ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาเยาวชนในมหาวิทยาลัยให้สามารถก้าวไปเป็นสตาร์ทอัพมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดตั้ง “กองทุนยุวสตาร์ทอัพ” ขึ้น โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง NIA และกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย และผู้ประกอบการที่อยู่ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาสามารถต่อยอดแนวคิดพัฒนาสู่การเป็นสตาร์ทอัพที่สร้างมูลค่าสูงให้กับประเทศ ผลักดันมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ รวมไปถึงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งในกับระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพทั้งในมิติพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา นักลงทุน ความร่วมมือจากศิษย์เก่า กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มการค้าในพื้นที่ ฯลฯ
โครงการนี้จะประกอบด้วย 1) การพัฒนา บ่มเพาะ การประกวดแข่งขันการนำเสนอแผนธุรกิจของนักศึกษาระดับประเทศ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้โครงการ Startup Thailand League และ 2) เงินอุดหนุนสมทบบางส่วนแบบให้เปล่า ซึ่งแบ่งเป็น 3 โปรแกรม คือ 1) INCUBATORS INCENTIVE PROGRAM 2) UNIVERSITY SEED GRANT PROGRAM และ 3) INNOVATION LABS PROGRAM
ข้อมูลเพิ่มเติมโทร 02 017 5555 ต่อ 410 (สุทธิรักษ์) หรืออีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
9 มีนาคม 2563 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานการประชุม “บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” ร่วมกับมหาวิทยาลัย ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครรินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อให้นโยบายและชี้แจงถึงความจำเป็นในการปลดล็อคมหาวิทยาลัยให้ตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ 3 จังหวัดในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อผลักดันการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการในพื้นที่สู่ EECi ให้รองรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ และมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อน BCG Economic Model โดยอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับงบประมาณทุนวิจัยของมหาวิทยาลัยและโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
จากนั้น ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อว. ได้ประกาศเจตนารมณ์การสร้างคนผ่านโครงการ “ยุวชนสร้างชาติ” ว่า โครงการสร้างชาติ นับเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญในการปฏิรูปการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เปลี่ยนจากการเรียนในห้องเรียนมาเป็นการลงมือทำจริง นำองค์ความรู้ที่เรียนมาบูรณาการในการแก้ไขปัญหาความยากจจน ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยได้เลือกพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินโครงการนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่เยาวชนไทยจะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการนำความรู้ความสามารถที่เรียนมาช่วยแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้เกิดขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด ภายใต้แนวคิด “มั่งคั่งด้วยเกษตรปลอดภัย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมเฉลี่ยต่อคนต่อปีเพิ่มสูงขึ้น 7% และสัดส่วนคนจนลดลง 2.5% ต่อปี ระยะเวลาในการดำเนินโครงงาน 1 ภาคการศึกษา โดยมีประเด็นการพัฒนาคลอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1.พัฒนาศักยภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย 2.ยกระดับคุณภาพและรายได้ด้านการท่องเที่ยว และส่งเสริมการค้า การลงทุน 3.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.การพัฒนาทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่มีความมั่นคงและสงบสุข ซึ่งการประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้มีนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการกว่า 800 คน จาก 9 มหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว วิทยาลัยชุมชนตราด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ต่อมา รมว.อว. และคณะผู้บริหาร อว. เยี่ยมชมนิทรรศการของนักศึกษาที่นำเสนอผลงานของพื้นที่เป้าหมาย “ยุวชนสร้างชาติ” ต.คลองเขื่อน อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา ภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ได้แก่ 1.โครงการจัดทำฐานข้อมูลระดับหมู่บ้าน เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ตามยุทธศาสตร์ราชภัฏ พื้นที่หมู่ที่ 5 ต.คลองเขื่อน และ 2.โครงการสืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน “การท่องเที่ยวตามศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาลุ่มแม่น้ำบางปะกงอย่างยั่งยืน” ตลอดจนพบปะผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
ข้อมูลโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครรินทร์
ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ภาพ : นายจิรายุ รุจิพงษ์วาที
วีดีโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 - 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. Facebook: MHESIThailand
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 กองทุนยุวสตาร์ทอัพ (Youth Startup Fund) ภายใต้โครงการยุวสร้างชาติ ดำเนินการโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) จัดกิจกรรม Pitching คัดเลือกผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรง เพื่อเข้าร่วมโครงการ “การพัฒนาแนวคิดเพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจนวัตกรรม (Ideation Incentive Program)” มูลค่าทุนสูงสุด 100,000 บาท รอบแรก ร่วมกับ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Certified Incubator) ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 16 ศูนย์ ทั่วประเทศ ในรูปแบบ Social Distancing
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เผยว่า โครงการ “การพัฒนาแนวคิดเพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจนวัตกรรม (Ideation Incentive Program)” จะให้เงินสนับสนุนทุน มูลค่า 100,000 บาท แก่ทีมยุวสตาร์ทอัพ (3 คนขึ้นไป) สำหรับเป็นค่าใช้บริการภายในหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Certified Incubator) การพัฒนาแบบจำลอง (mockup) หรือการพิสูจน์ความเป็นไปได้ด้านการตลาดเบื้องต้น ค่าจัดทำแผนธุรกิจที่มีศักยภาพ และค่าที่ปรึกษาวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจ ซึ่งผู้ที่จะเข้ามารับทุนในส่วนนี้ได้ จะต้องเป็นนิสิต และนักศึกษา ที่ศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก และ/หรือเป็นบัณฑิตที่จบใหม่ไม่เกิน 5 ปี และผู้สมัครจะต้องอยู่ภายใต้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Certified Incubator) จึงจะสามารถสมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้ได้
โดยการนำเสนอ (Pitching) โครงการในรอบแรกนี้ มีผู้ประกอบการที่ได้ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้น เข้าร่วมนำเสนอโครงการจำนวนทั้งหมด 19 ราย อาทิ
1. โครงการ “ฟิวเจอร์ฟาร์ม เอไอ (FutureFarm AI)”การรวมเทคโนโลยี IoT ศาสตร์แห่งการวิเคราะห์ข้อมูล Data Science และการเกษตร เพื่อนำมาพัฒนาผลผลิต คุณภาพ และรูปแบบการทำการเกษตรที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น โดยพืชพันธ์ุที่เลือกเป็นชนิดแรกก็คือ เห็ดโคนญี่ปุ่น โดยนวัตกรรมนี้จะเป็นการนำ AI มาช่วยในการจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ของการเพาะปลูกเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพให้แก่ผลผลิตเห็ดโคนญี่ปุ่น
2. โครงการ “Ticketista: ธุรกิจซื้อขายตั๋วมือสอง”แพลตฟอร์มการซื้อขายตั๋วมือสองที่มีจุดเด่นเรื่องความปลอดภัยผ่านระบบการตรวจสอบตั๋ว (Ticket Verification) เพื่อให้ผู้ซื้อมั่นใจได้ว่าตั๋วที่นำมาขายเป็นตั๋วจริง มีระบบป้องกันการโดนโกงเงิน และการควบคุมราคาเพื่อป้องกันการขายที่ราคาสูงเกินควร นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันการประมูลราคาตั๋ว (Ticket Bidding) เพื่อตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการขายตั๋ว ซึ่งมีความต้องการสูงในตลาด
3. โครงการ “Co-Lab Game: แพลตฟอร์มการสร้างการ์ดเกมเพื่อการศึกษาแบบมีส่วนร่วม”นวัตกรรมบริการแพลตฟอร์มสำหรับการสร้างและเล่นเกมเพื่อการศึกษาแบบมีส่วนร่วม โดยใช้เทคโนโลยีการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ และเทคโนโลยีด้านการศึกษา โดยใช้เกมการ์ดอย่างง่ายที่สร้างปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มและรูปแบบการเล่นที่ใช้ทักษะความคิดในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับกลุ่มคุณครูและผู้สอนที่สนใจนำเกมมาใช้ในการเรียนเชิงรุก สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาไปตามบริบทและจำนวนผู้เรียนได้ เป็นพื้นที่รวบรวมความรู้หลากหลาย และยังเป็นพื้นที่รวบรวมพัฒนาต่อยอดแลกเปลี่ยนจนเกิดเป็นชุมชนผู้ใช้สื่อการสอนประเภทเกม เป็นการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนจนนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการศึกษาที่สนุกสนานในอนาคตได้
กองทุนยุวสตาร์ทอัพ (Youth Startup Fund) ได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาผู้ที่ยื่นข้อเสนอโครงการเข้ามา และประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือก ดังนี้
- รอบที่ 1 จะพิจารณาโครงการและประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกได้รับทุนสนับสนุน ในช่วง เดือนเมษายน - พฤษภาคม 2563
- รอบที่ 2 จะพิจารณาโครงการและประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกได้รับทุนสนับสนุน ในช่วง เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2563
- รอบที่ 3 จะพิจารณาโครงการและประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกได้รับทุนสนับสนุน ในช่วง เดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2563
โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรับทุนในโครงการ “การพัฒนาแนวคิดเพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจนวัตกรรม (Ideation Incentive Program)” นั้น สามารถติดตามผลการคัดเลือกได้ตามช่องทางอีเมล์ที่ลงทะเบียน และข่าวประชาสัมพันธ์จากหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Certified Incubator) ที่ท่านเป็นสมาชิก
หากท่านสนใจเข้าร่วมโปรแกรมการสนับสนุนกองทุนยุวสตาร์ทอัพ สามารถติดตามข่าวสารได้ที่ www.tedfund.most.go.th หรือโทรศัพท์ 02 333 3700 ต่อ 4072-4074
ข้อมูลข่าวโดย : กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (สกน.)
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : sciencethailand
Call Center โทร.1313