กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.อว.(ภารกิจด้านการอุดมศึกษา)
ถนนศรีอยุธยา ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
www.facebook.com/opsMHESI/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกประกาศ เรื่องมาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 จำนวน 5 ฉบับ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคโควิด-19 โดยประกาศทั้ง 5 ฉบับครอบคลุมเนื้อหาเรื่องการให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งหยุดการเรียนการสอนแบบปกติแล้วปรับเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทั้งหมด, การเลื่อนพิธีประสาทปริญญาบัตร และการปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) ของบุคลากรในสังกัดกระทรวง อว. โดยไม่มีผลกระทบต่อการบริการประชาชน รายละเอียดโดยย่อของประกาศทั้ง 3 ฉบับมีดังนี้
ฉบับที่ 1 ให้นักศึกษาจีนที่เดินทางกลับบ้านที่ประเทศจีนและยังไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทย ขอให้พำนักอยู่ในประเทศจีนต่อไปเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และขอให้มหาวิทยาลัยติดต่อ กับนักศึกษาเหล่านั้นเพื่อแจ้งกำหนดการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป ส่วนนักศึกษาจีนที่พำนักในประเทศไทยและไม่ได้เดินทางกลับประเทศจีน ขอให้หลีกเลี่ยงการพบปะกับคนที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศจีน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ
ฉบับที่ 2 ให้บุคลากรในสังกัดกระทรวงฯ อาจารย์และนักศึกษา หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศและเขตที่มีความเสี่ยงหรือมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับผู้ที่เดินทางกลับมายังประเทศและเขตที่มีความเสี่ยงหรือมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว ต้องเข้ารับการตรวจร่างกายเพื่อคัดกรองโรค กรณีที่พบว่ามีไข้หรือมีอาการที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำทางการแพทย์ และให้หยุดงาน/เรียนเป็นเวลา 14 วัน พร้อมทั้งให้บุคลากรในสังกัดกระทรวงฯ อาจารย์และนักศึกษา ดูแลและสังเกตสุขภาพส่วนบุคคล
ฉบับที่ 3 ให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งหยุดการเรียนการสอนแบบปกติแล้วปรับเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทั้งหมดภายในวันที่ 1 เม.ย. 63 รวมทั้งยกเลิกการฝึกงาน โดยให้ปรับรูปแบบการสอบและประเมินผลให้เหมาะสม
ฉบับที่ 4 การเลื่อนพิธีประสาทปริญญาบัตร เพื่อดูแลนิสิต นักศึกษา และบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ฉบับที่ 5 การปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) ของบุคลากรในสังกัดกระทรวง อว. โดยไม่มีผลกระทบต่อการบริการประชาชน โดยให้ทุกหน่วยงานวางแผน ซักซ้อมและเตรียมการให้เกิดการทำงานที่บ้านและการใช้ระบบประชุมทางไกล รวมทั้งพิจารณาการเหลื่อมเวลาทำงาน และเวลาพักกลางวัน พร้อมทั้งงดกิจกรรมทั้งหมดที่ต้องมีคนหมู่มากเข้าร่วม โดยหน่วยงานต้องปรับรูปแบบการประเมินผลงาน ภาระงาน และเกณฑ์การปฏิบัติงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการทำงานที่บ้านด้วย นอกจากนั้น ทุกหน่วยงานต้องจัดทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการควบคุมโรค เช่น การจัดจุดคัดกรอง แอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือ และกำหนดศูนย์ประสานงานเฉพาะกิจในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยด่วน พร้อมทั้งเตรียมการแผนปฏิบัติการเพื่อความต่อเนื่องของการปฏิบัติงาน (Business Continuity Plan)