มหาพรหมราชินีกับสรรพคุณทางเภสัชวิทยา
มหาพรมราชินี หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora sirikitiae มีการสำรวจพบครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2546 จากอุทยานแห่งชาติ แม่สุรินทร์ บ้านห้วยฮี้ ตำบลห้วยปูลิง อำเภอเมือง จังหวดแม่ฮ่องสอน โดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ตั้งขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสที่เจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2547
สำหรับมหาพรหมราชินี เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน บริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ ขึ้นในป่าดิบเขาที่เป็นหินปูน ความสูง 1,000-1,100 เมตร เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 5-6 เมตร ดอกมีลักษณะเป็นดอกเดี่ยวหรือ เป็นช่อ 1-3 ดอกใกล้ปลายยอด เป็นพรรณไม้ที่มีดอกใหญ่ที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับดอกของพรรณไม้ชนิดอื่นๆ ในสกุลมหาพรหม คือ เมื่อบานเต็มที่ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร โคนกลีบสีเขียวอ่อน ปลายกลีบสีม่วงเข้ม กระดกงอขึ้นและประกบติดกันเป็นรูปกระเช้า แต่ละดอกบานอยู่ได้ 3-5 วัน กลิ่นหอมอ่อนๆ มีการศึกษาสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบของต้น มหาพรหมราชินี พบว่าสารที่เป็น องค์ประกอบหลักที่มีการแยกได้จะเป็นกลุ่มลิกแนน (lignan) นอกจากนี้ ยังแยกสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ (alkaloid) สเตียรอยด์ ไกลโคไซด์ (steroid glycoside) และเทอร์พีนอยด์ (terpenoid) โดยเป็นสารที่มีการ ค้นพบใหม่จำนวน 1 สาร ในกลุ่มลิกแนน คือ mitrephoran (1) โดยโครงสร้างของสารที่เป็นองค์ประกอบได้จากการวิเคราะห์ ด้วยเทคนิคทางสเปกโทรสโกปี
สารที่เป็นองค์ประกอบที่พบในต้นมหาพรมราชินี มีการนำไปทดสอบการออกฤทธิ์ต่อเซลล์ซึ่งพบว่า สารที่มีชื่อว่า liriodenine (3) และ oxoputerine (4) มีฤทธิ์ที่ดีในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง อาทิ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งช่องปาก มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด เป็นต้น ในขณะเดียวกันสาร magnone A (2) และ 3, 4-O-dimethylcedrusin (5) แสดงฤทธิ์ที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งเต้านม และมะเร็งช่องปาก ที่ค่า IC50 4.40 ฑ 0.10 และ 2.03 ฑ 0.11 ไมโครโมลาร์ตามสำดับ เทียบกับสารมาตรฐาน ellipticine นอกเหนือจากนี้ยังมีผลการทดสอบการต้านภูมิแพ้ของสารที่แยกได้จากต้นมหาพรมราชินี ซึ่งพบว่าสาร 1, 5, (ญ)-phillygenin(6) และ 2-(3,4-methylene-dioxyphenyl)-6-(3,5- dimethoxyphenyl)-3,7-dioxabicyclo [3.3.0]octane (7) แสดงฤทธิ์ในการต้านการอักเสบด้วยกลไกที่แตกต่างกัน จากที่กล่าวมาข้างต้น มหาพรมราชินีพืชที่ค้นพบโดยผู้เชี่ยวชาญวิจัยของ วว. และได้รับการพระราชทานนามแล้วนั้น ยังถือว่าเป็นต้นไม้ประจำสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) อีกด้วย โดยการศึกษาองค์ประกอบและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของต้นมหาพรหมราชินียังไม่แพร่หลายมากนัก และจากการรายงานที่ผ่านมาสามารถเป็นแนวทางสำหรับการประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าหรือการสร้างนวัตกรรมต่อไปได้ในอนาคต
เอกสารอ้างอิง :Anantachoke, N., Lovacharaporn, D., Reutrakul, V., Michel, S., Gaslonde, T., Piyachaturawat, P., Suken, K., Prabpai,
S. and Nuntasaen, N., 2020. Cytotoxic compounds from the leaves and stems of the endemic Thai plant
Mitrephora sirikitiae. Pharmaceutical Biology, 58, pp. 490-497.
Mangmool, S., Limpichai, C., Han, K.K., Reutrakul, V. and Anantachoke, N., 2022. Anti-inflammatory effects of
Mitrephora sirikitiae leaf extract and isolated lignans in RAW 264.7 Cells. Molecules, 27, p. 3313.
Weerasooriya, A.D., Chalermglin, P. and Saunders, R.M.K., 2004. Mitrephora sirikitiae (Annonaceae): a remarkable
new species endemic to northern Thailand. Nordic Journal of Botany, 24, pp. 201-206.
ที่มา : https://www.facebook.com/MHESIThailand
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.