เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ชาวไทยได้รับชมภาพถ่ายความละเอียดสูงภาพแรกจากดาวเทียม THEOS-2 ก่อนเริ่มปฏิบัติภารกิจและให้บริการข้อมูลอย่างเต็มรูปแบบเป็นลำดับถัดไป
เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากภารกิจ THEOS-2 ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงสร้างพื้นฐาน และองค์ความรู้ในการทำดาวเทียมสำหรับอุตสาหกรรมอวกาศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย GISTDA และหลายหน่วยงานพันธมิตรของไทย กำลังพัฒนาดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-3 เพื่อสนับสนุนการใช้งานข้อมูลให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เช่นเดียวกับเป็นรากฐานสำคัญของระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศไทยอย่างยั่งยืน
สำหรับดาวเทียม THEOS-3 จะเป็นดาวเทียมแบบ Micro Satellite สำหรับสำรวจทรัพยากรธรรมชาติความละเอียดสูงดวงที่ 4 ของประเทศไทย มีกำหนดออกเดินทางขึ้นสู่วงโคจรในปี ค.ศ. 2027 เพื่อขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในวงโคจร Sun-synchronous เช่นเดียวกับ THEOS-2
ที่ผ่านมา GISTDA ได้เปิดระดมความเห็นจากมากกว่า 30 หน่วยงานที่มีความต้องการใช้ข้อมูลดาวเทียม พบว่าการเข้าถึงข้อมูลด้านมลภาวะ เกษตรกรรม ไฟป่า ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นส่วนที่หลายหน่วยงานลงความเห็นว่ามีความจำเป็นมากที่สุด โดยข้อมูลดังกล่าวได้รับการพิจารณาให้เป็นพื้นฐานสำหรับออกแบบเซนเซอร์และอุปกรณ์บนดาวเทียม THEOS-3
นายลิขิต วรานนท์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาและสร้างดาวเทียม ศูนย์ผลิตดาวเทียมแห่งชาติ ของ GISTDA ที่รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และร่วมพัฒนาดาวเทียม THEOS-2A กับบริษัท Surrey Satellite Technology หรือ SSTL ระบุว่าขณะนี้ได้มีการทำ Preliminary Design Review หรือ PDR ที่เป็นการตรวจสอบระบบต่าง ๆ ของดาวเทียมในขั้นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้สามารถใช้งานได้จริงเป็นที่เรียบร้อย ก่อนเริ่มประกอบ Engineering Model ของดาวเทียมภายใน ค.ศ. 2025 และต่อยอดเป็นการประกอบ Flight Model ของ THEOS-3 ในปีถัดไป
ดาวเทียม THEOS-3 จะมีการผลิตชิ้นส่วนจากผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยอาศัยการถ่ายทอดองค์ความรู้มาตรฐานการผลิตวัสดุแบบ Space-grade หรือตามมาตรฐานเพื่อรองรับภารกิจสำรวจอวกาศ โดยศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ หรือ AIT ในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ที่มีห้องปลอดเชื้อ ห้องสุญญากาศ อุปกรณ์ทดสอบอุณหภูมิ และอุปกรณ์ทดสอบการสั่นสะเทือน พร้อมสำหรับรองรับการทดสอบต่าง ๆ และประกอบดาวเทียม THEOS-3 ก่อนส่งขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนวงโคจร
ประเทศไทย โดย GISTDA ภายใต้กระทรวง อว. มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศใหม่ของประเทศ ผ่านกระบวนการออกแบบ ผลิต ประกอบ และทดสอบดาวเทียม THEOS-3 ที่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้สำหรับเทคโนโลยีดาวเทียม เช่นเดียวกับส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อยกระดับความพร้อมของภาคส่วนต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยีอวกาศ ผลักดันขีดความสามารถของประเทศไทยให้มีความพร้อมด้านอวกาศในระดับสากล ต่อยอดจากความสำเร็จของดาวเทียม THEOS-2 ที่กำลังเริ่มให้บริการข้อมูลจากวงโคจร และมีความพร้อมปฏิบัติงานได้อีกนานหลายปีต่อจากนี้ รวมถึง THEOS-2A ที่จะขึ้นสู่วงโคจรในช่วงปลายปีนี้
ด้วยการพัฒนาจากความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลจริง ดาวเทียม THEOS-3 จะช่วยยกระดับการเข้าถึงข้อมูลเชิงเกษตรกรรม มลภาวะ สิ่งแวดล้อม และการป้องกันภัยพิบัติล่วงหน้าผ่านดาวเทียม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ GISTDA ที่เป็นองค์กรในการนำคุณค่าจากอวกาศและภูมิสารสนเทศสู่สังคม และนโยบายของประเทศในด้านการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่อย่างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ
สำหรับความคืบหน้าเพิ่มเติมของดาวเทียม THEOS-3 และภารกิจต่าง ๆ ของ GISTDA สามารถติดตามได้ผ่านแฟนเพจของ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และช่องทางต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย
ที่มา : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.)
https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=7965&lang=TH
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.