เคยสงสัยกันไหม...ทำไมการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นถึงมีความสำคัญ
เพราะจำนวนยูนิคอร์น เป็นการสะท้อนถึงศักยภาพการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อระดมทุน ยูนิคอร์นจึงเป็นเหมือนเครื่องมือ ช่วยดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ ดังนั้นหลายหน่วยงานจึงพยายามส่งเสริมการ Scale-up ของธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อให้เกิดการขยับฐานะไปสู่การเป็นยูนิคอร์น
ประเทศไทยเวลานี้ มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นทั้งหมด 3 รายด้วยกัน ได้แก่ Flash Express ธุรกิจโลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซ LINE MAN Wongnai แพลตฟอร์มที่ครอบคลุมทั้งการให้บริการส่งอาหาร การรีวิวร้านอาหาร การค้นหาร้าน และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ Ascend Money บริษัทด้าน FinTech ที่มีบริการ เช่น E-Wallet สินเชื่อออนไลน์ ประกันออนไลน์ ฯลฯ
ภาพรวมของสถานการณ์การลงทุนในสตาร์ทอัพในช่วง Q2 ของปี 2024 จากรายงานของ Crunchbase ระบุว่า นักลงทุนให้การสนับสนุนในบริษัทสตาร์ทอัพมากขึ้นกว่าปี 2023 แต่ก็ยังมีความระมัดระวัง ซึ่งสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดในปีที่ผ่านมา จะอยู่ในอุตสาหกรรม AI, healthcare, energy and robotics ส่วนภาพรวมการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ในช่วง Q2 ของปี 2024 ยังเป็นไปในทิศทางที่มีความหวัง เพราะสามารถระดมทุนไปได้ประมาณ 130 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสิงคโปร์เป็นประเทศที่สามารถระดมทุนได้มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนคือ 55% แล้วตามด้วยอินโดนีเซีย 26% เวียดนาม 9% และประเทศไทยในสัดส่วนอยู่ที่ 4%
โดยกลุ่มของธุรกิจในประเทศไทยที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ดูได้จากบริษัทระดับยูนิคอร์นที่มีอยู่ ก็คือ กลุ่ม FinTech และ Logistics Tech นอกจากนั้นยังมีกล่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่น่าจับตามองและยังเติบโตได้อีก เช่น กลุ่ม BioTech, AgriTech, FoodTech, TravelTech และ EdTech โดยในกลุ่ม HealthTech มีการเติบโตสูงสุด
เมื่อเห็นโอกาสและศักยภาพของไทย จึงถึงเวลาพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพไทย ให้สามารถ Scale-up ไปถึงการเป็นยูนิคอร์น ซึ่งความสำเร็จในการเปลี่ยนสถานะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญที่ผู้ระดมทุนมองนั้นก็คือ ทีมงานที่มีคุณภาพ โดยทุกคนต้องมี Global Mindset ในการประกอบธุรกิจ อย่างที่สองคือ Product Market Fit ที่ไม่ได้มองแค่การมีเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่ต้องมีความพอดี ตรงตามความต้องการของตลาด และสุดท้ายคือกลไกในการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
โดยเป้าหมายในการ Scale-up นั้น จะมีผลต่อการสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่มีรายได้และคุณภาพ รวมไปถึงการพัฒนาประเทศไปสู่ภาพของสังคมที่ยั่งยืน
ดังนั้นในการส่งเสริมศักยภาพของปัจจัยทั้ง 3 ด้าน สิ่งที่ระบบนิเวศสตาร์ทอัพต้องการจึงขึ้นอยู่กับ 3C สำคัญ ได้แก่ ‘Coach’ การสร้างศักยภาพของคน โดยให้มี Mentor ส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ต่อมาคือ ‘Cash’ การสนับสนุนทางด้านเงินทุน โดยเฉพาะ Early Stage ที่ต้องแปลงไอเดียออกมาสู่การผลิตชิ้นงานและบริการต่างๆ และสุดท้ายคือ ‘Connection’ การเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือเข้าด้วยกัน อย่างเช่นภาคเอกชนและภาครัฐที่ร่วมกันทำ Matching Funds เพื่อให้เกิดเม็ดเงินในการลงทุนที่มากขึ้นตลอดจนโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น
ในฐานะที่ NIA เป็นผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรมหรือ “Focal Conductor” ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สร้างความร่วมมือในการส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพ ภายใต้กลไก Groom Grant Growth และ Global มีการดำเนินงานในการสนับสนุนด้านเงินทุน โดยมีการปรับกลไกการสนับสนุนรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์การ Scale-up ของธุรกิจสตาร์ทอัพได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น การเพิ่มศักยภาพของธุรกิจสตาร์ทอัพ ผ่านการจัดกิจกรรมอบรม และโครงการบ่มเพาะธุรกิจ การสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ให้ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ NIA ได้มีการพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรมและการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ โดยเพิ่ม กลไล Global เพื่อมุ่งต่อยอดการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมและสตาร์ทอัพให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านโครงการและความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร โดยมีเป้าหมายคือ การสร้างความเข้มแข็งของระบบนวัตกรรมในระดับภูมิภาค การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย และการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยสู่ตลาดสากลโดยสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจและการระดมทุน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน
จึงเป็นความหวังต่อไปในอนาคต ที่ประเทศไทยจะมีการเกิดขึ้นของยูนิคอร์นใหม่ๆ แต่ละคนคิดว่ายูนิคอร์นรายต่อไปของไทยจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอะไร ลองคอมเมนต์มาพูดคุยกันได้เลย!
อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1107761
https://news.crunchbase.com/venture/startup-funding-q1-2024-charts/
https://www.facebook.com/NIAThailand/videos/1022933269410360
https://mgronline.com/science/detail/9670000060277
ที่มา : สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
https://www.nia.or.th/Scale-up-to-Unicorn
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.