มาแล้ว... ฤดูกาลไฟป่า ! หนึ่งในภัยพิบัติที่ประเทศไทยต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถสร้างความสูญเสียในชีวิต ทรัพย์สิน อาคารบ้านเรือน ป่าไม้ และชีวิตสัตว์ป่าแล้วยังทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ก่อมลพิษให้กับสภาพแวดล้อม เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และถือเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน
ปัจจุบันการแก้ปัญหาไฟป่าได้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการเตรียมความพร้อมในการรับมือทั้งด้านการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงภัย การเฝ้าระวัง และเป็นตัวช่วยในการดับไฟที่สามารถเพิ่มความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ อย่างเช่น โดรนดับเพลิง หุ่นยนต์ ระบบเซ็นเซอร์ ไอโอที (IoT) และเทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะข้อมูลจุดความร้อนจากดาวเทียมที่ช่วยชี้เป้าในการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า
วันนี้...จะพาไปรู้จักกับระบบให้บริการข้อมูลเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดาวเทียมที่จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการปัญหาไฟป่าในประเทศไทย โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถใช้บริการและเข้าถึงข้อมูลได้แล้ว... ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เรียกว่า “Disaster Platform” หรือ “ระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ภัยพิบัติ”
โดย “Disaster Platform” เป็นระบบให้บริการข้อมูลเชิงพื้นที่ด้านน้ำท่วม ไฟป่า ภัยแล้ง และมลพิษทางอากาศ ผ่าน “เว็บแอพพลิเคชั่น https://disaster.gistda.or.th” ที่มีการนำเสนอภาพรวมสถานการณ์ภัยพิบัติล่าสุดของประเทศไทยในรูปแบบ Story Map ซึ่ง GISTDA ได้พัฒนาระบบดังกล่าวขึ้นเมื่อปี 2565 โดยปรับปรุงและยกระดับจากระบบเดิมที่ใช้งานมากว่า 15 ปี เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน
ทั้งนี้การนำเสนอข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีดาวเทียม ใน “Disaster Platform” นอกจากจะเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาใช้ในการเฝ้าระวังภัยพิบัติให้กับสังคม ชุมชน และยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย สะดวกและรวดเร็วผ่านระบบออนไลน์ โดยระบบจะเน้นการให้บริการข้อมูลในหลากหลายรูปแบบมีการแสดงผลเป็นแบบ Dashboard หรือ หน้าจอที่สรุปข้อมูลทุกอย่างให้อยู่ในหน้าจอเดียว นอกจากนี้ยังมีการให้รายละเอียดข้อมูลของการเกิดภัยพิบัติทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน และมลพิษทางอากาศที่ได้จากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หากจะดาวน์โหลดข้อมูลสามารถลงทะเบียนยืนยันตัวตนครั้งแรก เพื่อใช้บริการได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายแล้ว
ขณะที่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศโดยใช้ดาวเทียมเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ (tool) ในการบริหารจัดการปัญหา “ไฟป่า” ในประเทศไทย “ดร.สุรัสวดี ภูมิพานิช” นักภูมิสารสนเทศชำนาญการ ฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ สำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ GISTDA บอกว่า GISTDA น่าจะเรียกได้ว่าเป็นหน่วยงานแรก ๆ ที่มีการนำข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีอวกาศโดยการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมในด้านต่างๆ แล้วเผยแพร่ข้อมูลให้กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และต่อมาเปิดเผยให้กับสาธารณชนและประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงข้อมูล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และนำไปสู่การวางแผนบริหารสถานการณ์ในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น
อย่างไรก็ดี ในเรื่องของ “ไฟป่า” GISTDA ได้พยายามพิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์และความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีดาวเทียม เช่น “จุดความร้อน หรือ Hotspot” ที่สามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นจุดที่ค่าความร้อนสูงกว่าปกติเมื่อเทียบกับบริเวณข้างเคียง ซึ่งช่วยจำกัดขอบเขตของการตรวจสอบในพื้นที่จริงว่าพื้นที่ใดที่เกิดไฟป่าขึ้น และช่วยให้ลดภาระการทำงานและลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปดับไฟ นอกจากนี้ ข้อมูลนี้ยังสามารถนำมาบูรณาการร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศเพื่อวิเคราะห์เชิงพื้นที่ในการเฝ้าระวังการลุกลามของไฟโดยเฉพาะในพื้นที่ติดต่อกับเขตชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงอีกด้วย
เทคโนโลยีดาวเทียมที่ใช้ในการตรวจจับ “จุดความร้อน” มีหลากหลายดวง เมื่อปี 2557 ได้มีการนำข้อมูล MODIS (จากดาวเทียม Terra และ Aqua) มาใช้ในการติดตามสถานการณ์ไฟป่าในประเทศไทย จำนวน 4 ครั้งต่อวัน และเพิ่มประสิทธิภาพความถี่ในการติดตามด้วยข้อมูลระบบเวียร์ (VIIRS) จากดาวเทียม Suomi NPP จำนวน 2 ครั้งต่อวัน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เทคโนโลยีดาวเทียมได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากโดยเฉพาะรายละเอียดเชิงพื้นที่ดีขึ้น ให้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง แม่นยำสูง และมีหลากหลายดวงมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ฤดูไฟป่าปี 2568 GISTDA สามารถติดตามจุดความร้อนของประเทศไทยได้สูงถึง 10 ครั้งต่อวัน โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม NOAA-20 จำนวน 2 ครั้งต่อวัน และจากดาวเทียม NOAA-21 จำนวน 2 ครั้งต่อวัน รวมทั้งการจัดทำสรุปจุดความร้อนปัจจุบันในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จังหวัดที่เกิดจุดความร้อนเป็นจำนวนมาก สามารถระบุได้ว่าจุดความร้อนที่เกิดขึ้นเป็นพื้นที่ป่าประเภทไหน หรือเป็นพื้นที่ทำการเกษตรประเภทใด รวมทั้งมีข้อมูลสถิติเปรียบเทียบในด้านต่าง ๆ เช่น 5 อันดับ พื้นที่ที่มีจุดความร้อนทั้งแบบรายประเทศและในประเทศไทย ทำให้การติดตามสถานการณ์ไฟป่าในเชิงพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพสูงสุด
ดร.สุรัสวดี ย้ำว่า GISTDA ได้มีการจัดทำข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีดาวเทียมและเผยแพร่ข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่าน Disaster Platform เช่น การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงไฟป่า และการประเมินพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซาก ดังเช่น การติดตามสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันได้มีการประสานงานและบูรณาการความร่วมมือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานระดับท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน ภาคประชาชน และกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผน วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์แบบทันต่อสถานการณ์ และร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันได้อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์และบริบทของแต่ละพื้นที่
จากสถิติจำนวนผู้ขอรับบริการข้อมูลไฟป่าและหมอกควันในห้วงฤดูกาลไฟป่าหมอกควันในปี 2567 พบว่ามีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานในระดับพื้นที่ขอความอนุเคราะห์ข้อมูลฯ เป็นจำนวนมากเพื่อนำไปใช้วางแผน ป้องกันและช่วยตัดสินใจบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จำนวน มากกว่า 200 หน่วยงาน ขณะที่จำนวนผู้เข้าชม Disaster Platform ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 9 กรกฏาคม 2567 มียอดผู้ใช้งานข้อมูลด้านภัยพิบัติผ่าน API จำนวนทั้งสิ้น 208,083 ราย และมีการดาวน์โหลดข้อมูลด้านภัยพิบัติ จำนวนทั้งสิ้น 122,702 ครั้ง
สำหรับแนวทางการพัฒนาระบบฯ ในอนาคต ดร.สุรัสวดี บอกว่า เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลด้านไฟป่ารวมถึงภัยพิบัติต่างๆ ใน “Disaster Platform” มากขึ้น GISTDA มีการนำเทคโนโลยี AI/ML มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และสกัดข้อมูลจากดาวเทียมที่มีหลากหลายให้ได้อย่างรวดเร็วและมีความถูกต้องแม่นยำสูงขึ้น ร่วมกับการนำเสนอภาพถ่ายดาวเทียมที่ GISTDA รับสัญญาณร่วมกับข้อมูลจากดาวเทียมไทยโชต และ ดาวเทียม THEOS-2 ที่มีรายละเอียดระดับเซนติเมตร มาเปรียบเทียบสถานการณ์ก่อนและหลังการเกิดภัยพิบัติ เพื่อเป็นข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based data) ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ประกอบการวางแผนบริหารจัดการเชิงพื้นที่
เรื่องของ “ไฟป่า” ที่หลายคนโดยเฉพาะคนเมืองเคยมองว่าไกลตัว วันนี้..ไม่ได้สร้างความเสียหายเฉพาะในพื้นที่ประสบภัย แต่ยังก่อมลพิษข้ามแดนส่งผลกระทบไปทั่ว ภัยพิบัตินี้แม้จะมาเป็นฤดูกาล แต่ก็เกิดต่อเนื่องสร้างความเสียหายทุกปี และที่สำคัญส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ทุกภาคส่วนจึงต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันป้องกัน แก้ไข และสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน
ผู้สนใจ..สามารถเข้าไปดูข้อมูลและติดตามสถานการณ์ไฟป่ารวมถึงภัยพิบัติอื่นๆ
ได้ฟรีที่ https://disaster.gistda.or.th
ที่มา : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.)
https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=8366&lang=TH
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.