เป็นที่ทราบกันดีว่า ถ้าผู้สูงอายุติดเชื้อ COVID-19 แล้วมีโอกาสจะได้รับผลรุนแรงกว่าคนวัยทำงาน ด้วยปัจจัยความแข็งแรงของร่างกายที่ลดลงสวนทางกับอายุที่เพิ่มขึ้น การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุจึงต้องทำด้วยความระมัดระวังและเข้าใจร่ายกายและจิตใจของผู้สูงอายุควบคู่กันไปด้วย
ศูนย์การแพทย์ Johns Hopkins ได้ให้คำแนะนำในการดูแลผู้สูงอายุในช่วงวิกฤติ COVID-19 ไว้ดังนี้
- ดูแลความสะอาดของร่ายกายตามมาตรฐานเช่นเดียวกับวัยแรงงาน คือ ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงกิจกรรมและพื้นที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เวลาไอและจามให้ปิดปาก ไม่เอามือไปแตะต้องบริเวณใบหน้า ทำความสะอาดพื้นผิวของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในบ้านและของใช้ส่วนตัว เช่น ไม้เท้า Walker ช่วยเดิน เป็นต้น
- แก้เหงาด้วยการเปลี่ยนวิธีการติดต่อญาติมิตร ต้องเข้าใจว่าผู้สูงอายุมีกิจกรรมในชีวิตน้อยลงกว่าวัยทำงานมาก ทำให้เกิดความเหงาและว้าเหว่ได้ง่าย ยิ่งช่วงระบาดของ COVID-19 ทำให้คนเราต้องลดการเจอหน้ากัน ยิ่งทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาทางจิตใจมากขึ้น และอาจมีผลต่อสุขภาพกายตามมาด้วย ดังนั้น จึงควรหาวิธีที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถติดต่อญาติมิตรได้โดยไม่ต้องเจอหน้ากัน ไม่วาจะเป็นการโทรศัพท์ Video Chat ผ่าน application ต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย
- นอกการสนทนากันโดยไม่ต้องเจอหน้าแล้ว การได้สนทนาแบบเจอหน้าในระยะห่างที่เหมาะสมตามหลักการ Social Distancing (1-2 เมตร) จะช่วยให้สุขภาพจิตของผู้สูงอายุดีขึ้น ลองพูดคุยกับคนที่ผ่านไปมา เช่น ถ้ามีคนมาส่งของก็ทักทายเขาจากระยะไกลบ้าง คุยกับเพื่อนบ้านในระยะห่างกัน ก็จะช่วยเสริมความแข็งแรงของจิตใจให้ผู้สูงอายุได้ดี
- หากิจกรรมในครอบครัวหรือในกลุ่มญาติมิตรให้ผู้สูงอายุทำ เช่น การเล่าเรื่องหรือเขียนบันทึกเรื่องเก่า ๆ ที่เคยผ่านมา จัดรูปเก่า ๆ ของครอบครัว ทำอาหาร ร้องเพลง ดูทีวีด้วยกันจะลดความเหงาและน่าเบื่อเมื่อออกไปไหนไม่ได้
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ไม่จำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยปกติผู้สูงอายุมักจะมีนัดหมายกับแพทย์เพื่อเช็กร่างกายอยู่เป็นประจำ จึงควรปรึกษากับแพทย์ว่านัดหมายเหล่านั้นยังมีความจำเป็นต้องไปเจอกันในสถานการณ์แบบนี้ไหม ถ้าไม่จำเป็นก็ควรเลื่อนหรือยกเลิกไปก่อน ให้ไปเฉพาะตามนัดหมายที่มีความจำเป็นจริง ๆ และต้องมีการป้องกันอย่างเหมาะสมทั้งก่อนและหลังพบแพทย์ด้วย
- เตรียมแผนรับมือในกรณีที่ผู้สูงอายุหรือผู้ดูแลเจ็บป่วย เช่น การเตรียมผู้ดูแลสำรองเอาไว้บ้าง เตรียมสิ่งของจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุเอาไว้อย่างเพียงพอ (ของอุปโภคบริโภคมีสำรองไม่น้อยกว่า 2 อาทิตย์ ส่วนยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพจำเป็นควรสำรองไว้ประมาณ 1-3 เดือน)
ด้วยแนวทางที่กล่าวไว้ข้างบน ทั้งผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัวจะสามารถ "รู้สู้ COVID-19" ไปด้วยกันอย่างปลอดภัย
.
ที่มาจาก www.hopkinsmedicine.org
บทความโดย รู้สู้ COVID-19
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.