“สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.การอุดมศึกษาฯ แก้วิกฤติโควิด – 19 แก่คนตกงาน ผุดโครงการ “อว.สร้างงาน” จ้างงานประชาชน 1 หมื่นคน ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา อายุ สาขาวิชาที่จบ ไม่เกี่ยงประสบการณ์ ให้ค่าตอบแทนเดือนละ 9 พันบาท ระยะเวลา 5 เดือน แถมทำแล้วอยากพัฒนาทักษะไปประกอบอาชีพใหม่ เปิดโครงการการบ่มเพาะธุรกิจให้ฟรี
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) แถลง “โครงการ อว. สร้างงาน” ว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จัดทำโครงการสร้างงาน เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ว่างงาน อันเนื่องจากสถานการณ์โควิด -19 ซึ่งจะเป็นการจ้างงานประชาชน จำนวน 10,000 คน เป็นระยะเวลา 5 เดือน มีค่าตอบแทนให้เดือนละ 9,000 บาท ไม่ได้จำกัดวุฒิการศึกษา อายุ สาขาวิชาที่สำเร็จการศึกษาและประสบการณ์การทำงาน
รมว.อว.กล่าวต่อว่า โครงการสร้างงานสำหรับประชาชน จำนวน 10,000 คน จะเข้ามาทำงานภายใต้หน่วยงานของ อว. จำนวน 42 หน่วยงาน ซึ่งจะเป็นหน่วยงานจ้างงาน ที่จะจ้างงานประชาชนให้มาทำงานภายใต้ภารกิจของหน่วยงานนั้นๆ โดยผู้ได้รับการจ้างงาน นอกจากจะได้งานทำแล้วยังจะได้รับการพัฒนาทักษะทางวิชาการในด้านต่างๆ แตกต่างกันไป ทั้งนี้ หน่วยงานจ้างงานทั้ง 42 แห่งของ อว. จะทำหน้าที่รับสมัคร การมอบหมายงาน การให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ได้รับการจ้างงาน การฝึกทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน การติดตามและประเมินผล เป็นต้น ที่สำคัญ โครงการนี้ หากผู้ที่ได้รับการจ้างงานต้องการนำทักษะ ที่ได้รับการจากการทำงานไปประกอบอาชีพใหม่ สามารถเข้าร่วมโครงการการบ่มเพาะธุรกิจของหน่วยงานของ อว.ได้เลย แต่ทั้งนี้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับสิทธิ์ที่ได้รับจากมาตรการเยียวยาอื่นๆของรัฐ เพื่อเป็นการกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึงได้มากขึ้น โดยหน่วยงานจ้างงานประกอบด้วย
* สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ทั่วประเทศ 39 แห่งจะครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยงานที่ผู้ที่ได้รับการจ้าง จะไปทำงานกระจายอยู่ในท้องถิ่น หรือชุมชนต่างๆ มากกว่า 1,500 ชุมชน โดยจะทำงานเน้นหนักการพัฒนาชุมชนเมือง ชุมชนชนบท อาทิเช่น การพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อชุมชน การพัฒนาระบบ Smart Farming ในชุมชน การจัดการขยะชุมชน การส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดทำฐานข้อมูลในด้านที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการน้ำชุมชน การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เป็นต้น
* สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) จะจ้างงานในภารกิจ โครงการคืนผืนป่าให้ประชาชน ซึ่งผู้ที่ได้รับการจ้างงาน จะต้องปฏิบัติงานในการสำรวจพื้นที่ การจัดทำเขตหมู่บ้าน การจัดทำแผนจัดการทรัพยากรที่ดินป่าไม้ การสำรวจข้อมูลรายแปลง เป็นต้น ซึ่งจะครอบคลุมการทำงานในพื้นที่ 2,324,037 ไร่ 16 จังหวัด
* สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จะจ้างงานในภารกิจ โครงการช่วยเหลือการผลิตแก่ SMEs และ OTOP ในโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร ซึ่งผู้ที่ได้รับการจ้างงาน จะต้องปฏิบัติงานได้แก่ การวางแผนการผลิต การใช้เครื่องมือในการผลิต การควบคุมการผลิต การตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต
* กองทุนส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะเป็นภารกิจช่วยเหลือเกษตรกร โดยการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งผู้ที่ได้รับการจ้างงาน จะต้องปฏิบัติงานได้แก่ การช่วยในเทคโนโลยีการแปรรูปมะม่วง เทคโนโลยีการจัดเก็บและยืดอายุของผลผลิตมะม่วง การช่วยผลิตชุดปลูกผัก การช่วยแปรรูปผลไม้ในรูปผลไม้แช่แข็ง เป็นต้น
โครงการ อว.สร้างงาน แม้จะเป็นมาตรการระยะสั้นระยะเวลา 5 เดือน แต่จะเป็น 5 เดือนที่มีค่าหากผู้เข้าร่วมโครงการนำไปต่อยอดหรือนำทักษะ ที่ได้รับการจากการทำงานไปประกอบอาชีพใหม่ ซึ่ง อว.พร้อมที่จะเปิดรับให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมโครงการการบ่มเพาะธุรกิจของหน่วยงานของ อว.ได้และในระยะต่อไป อว.ก็ได้เตรียมเสนอของบประมาณในส่วนของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน เพื่อการจ้างงาน รวมถึงการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ซึ่งจะเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เกษตรกร ตลอดจนผู้ประกอบการรายย่อยได้อีกด้วยครับ
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานกิจการเลขาธิการ สป.อว. โทร 02-6105330-31
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม และหน่วยงานที่เข้าร่วม โครงการ สามารถ download ได้ที่
https://drive.google.com/open?id=1efVl2SFkbi-Q6mVENLuflAeIDywgopWu
https://drive.google.com/open?id=1AweI42xZnoxE1SUiwbDWdqNrJSkczc91
ที่มา : https://www.facebook.com/drsuvitpage/posts/1913067668999954
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.