รู้จักเอลนีโญ...ให้มากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีอวกาศ
ก่อนที่จะไปรู้จักกับเอลนีโญ เรามาทำความเข้าใจเรื่องพลังงานของโลกกันก่อน ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าโลกของเราหมุนรอบตัวเองและโลกก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วย โดยจะโคจรไปในทิศทางเดียวกันกับการหมุนรอบตัวเอง ซึ่งในรอบ 11 ปีจะไม่เท่ากัน พลังงานที่จะได้รับก็จะไม่เท่ากันด้วย การถ่ายเทพลังงานจึงไม่เท่ากันทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร เมื่อได้รับพลังงานมากก็จะทำให้ร้อนมาก อย่างไรก็ตาม ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายเทพลังงาน การหมุนเวียนของอากาศ การหมุนเวียนของกระแสน้ำ หรือ ภาวะโลกร้อน เป็นต้น
ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” มีลักษณะการเกิดที่เด่นชัด 3 ประเภทด้วยกัน
? เอลนีโญแปซิฟิกตะวันออก (Eastern Pacific El Niño) ส่งผลให้เกิดผลกระทบด้านสภาพอากาศที่รุนแรงที่สุดในแอนตาร์กติกา รวมถึงความผิดปกติของอุณหภูมิติดลบบนคาบสมุทรแอนตาร์กติกและความผิดปกติของอุณหภูมิในเชิงบวกทั่วแอนตาร์กติกาตะวันตก รูปแบบนี้มักจะเกิดขึ้นบ่อยที่สุดและส่งผลให้อุณภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติ
? เอลนีโญเบซิ่นไวด์วอร์ม (Basin Wide Warm El Nino) เกิดอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกสูงขึ้นผิดปกติไปจนถึงตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ผ่านมาปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดมาแล้วเมื่อปี พ.ศ.2552 และ พ.ศ.2557 ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ โดยรอบเกิดภาวะภัยแล้งค่อนข้างรุนแรงกว่าปกติ ในขณะที่ฝั่งอเมริกาก็เกิดพายุและฝนตกมากกว่าปกติ
? เอลนีโญโมโดกิ (Modoki El Niño) หรือ เอลนีโญแปซิฟิกตอนกลาง จะเกิดอุณหภูมิสูงผิดปกติในบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งโอกาสเกิดน้อยมาก หากเกิดเป็นปรากฏการณ์นี้จะเป็นผลดีต่อประเทศไทยคือจะมีปริมาณฝนตกมากขึ้น
สิ่งที่ทำให้เราร้อนและรู้สึกแห้งแล้งคือ อุณหภูมิผิวน้ำทะเล เมื่อความชื้นน้อย เวลาเรารับรังสีแสงอาทิตย์ตรงๆ อุณหภูมิจะสูงขึ้นก็จะร้อนมาก และเนื่องจากแต่ละปีในช่วงเวลานี้เราจะได้รับพลังงานเต็มๆ ช่วงที่ถ่ายเทพลังงานในโซนของประเทศไทยยังไงก็จะร้อนขึ้นทุกปี แต่ก็ไม่ได้ร้อนขึ้นแบบมากจนเกินไป เพราะว่าจะมีปัจจัยความชื้นเข้ามาช่วยบรรเทาเรื่องอุณหภูมินั่นเอง พื้นที่ไหนใกล้ทะเลก็จะไม่ร้อนมาก ไม่หนาวมาก เช่น ถ้าไปอเมริกาแถวทะเลทราย อากาศจะแห้งจะทำให้เรารู้สึกร้อนมาก โดยปกติแล้วเอลนีโญ ลานีญา จะเกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจริงๆแล้วจะต้องมีการสะสมพลังงานอยู่สักพักทำให้เกิดการปรับตัวไม่ทัน เช่น เมื่อปีที่แล้วฝนตกมากทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ พอมาปีนี้ก็แล้งเลย เป็นต้น
การที่โลกร้อนจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความรุนรุนแรง จากที่อุณหภูมิสูงขึ้นเพียงแค่ระดับนึง แต่เมื่อเกิดภาวะโลกร้อนก็จะสูงขึ้นมากไปอีก ซึ่งปัจจุบันดาวเทียมสามารถวัดอุณหภูมิผิวน้ำทะเลได้ทั่วทั้งโลก ต่างจากสมัยก่อนที่ใช้ทุ่นในทะเลในการวัดซึ่งวัดได้เฉพาะบริเวณจุดที่มีทุ่นเท่านั้น แต่ดาวเทียมสามารถเห็นพฤติกรรมของปรากฏการณ์นี้และเห็นผลกระทบของในแต่ละพื้นที่ พอยิ่งศึกษาเข้าไปลึกมากขึ้นทำให้ทราบถึงอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นในฝั่งอเมริกาที่สามารถแบ่งเป็นโซน สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์แบบไหน พื้นที่ใดจะได้รับผลกระทบบ้าง นอกจากนี้ดาวเทียมก็ยังสามารถติดตามสถานการณ์ในประเทศได้อีกหลายอย่าง ทั้งภัยพิบัติต่างๆ ภัยแล้ง ไฟป่า น้ำท่วม หรือ ด้านการเกษตร เช่น การติดตามปริมาณผลผลิต ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจเกิดขึ้นในครั้งนี้ ซึ่งถ้าหากปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แต่ ณ เวลานี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นประเภทไหนเพราะเพิ่งเริ่มต้น ต้องใช้ระยะเวลาจึงจะรู้ประเภทของเอลนีโญ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ได้ โดยพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือพื้นที่ที่มีความห่างไกลจากทะเล และคาดว่าครั้งนี้จะมีผล 60 เปอร์เซ็นต่อประเทศไทย นั่นหมายความว่าประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากเอลนีโญอย่างแน่นอน ส่วนอีก 40 เปอร์เซ็นต์ จะมาจากอิทธิพลของทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย ที่จะมาเป็นแรงเสริมให้แล้งมากขึ้นหรือแล้งน้อยลง การคาดการณ์หรือพยากรณ์ในประเทศไทยยังค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยเรื่องลม ฟ้า อากาศ จากรอบๆพื้นที่ประเทศที่มีอิทธิพลประกอบร่วมด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ
เรียบเรียง : ฝ่ายสร้างเสริมภาพลักษณ์
สามารถอ่านบทความอื่นๆ ของ สทอภ. ได้ที่ มองโลกเรา
ที่มา : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.