GISTDA พัฒนาแอปพลิเคชัน “ไฟป่า” เพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมเดินหน้าติดตามสถานการณ์แบบวันต่อวัน
ช่วงปลายปีถึงต้นปีของทุกปี เป็นช่วงที่น่าจับตากับสถานการณ์ไฟป่าในบ้านเราและจากประเทศเพื่อนบ้าน เรามาดูกันหน่อยว่าเมื่อปี 2566 จุดความร้อนสะสมใน 17 จังหวัดภาคเหนือจากดาวเทียมระบบ VIIRS พบว่า ระหว่างเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 มีจุดความร้อนทั้งสิ้น 109,035 จุด สามารถจัดอันดับจากมากไปน้อยได้ ดังนี้ เชียงใหม่ 13,094 จุด น่าน 11,632 จุด แม่ฮ่องสอน 11,522 จุด ตาก 10,337 จุด เชียงราย 10,129 จุด ลำปาง 7,898 จุด เพชรบูรณ์ 6,205 จุด อุตรดิตถ์ 5,720 จุด แพร่ 5,646 จุด พะเยา 4,893 จุด กำแพงเพชร 4,447 จุด พิษณุโลก 4,351 จุด นครสวรรค์ 3,511 จุด อุทัยธานี 3,238 จุด ลำพูน 2,699 จุด สุโขทัย 2,317 จุด และพิจิตร 1,396 จุด
สำหรับปี 2567 ข้อมูลจากดาวเทียมระบบ VIIR ตรวจพบจุดความร้อนที่เกิดขึ้นใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 1 - 10 มกราคม 2567 รวมทั้งสิ้น 647 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 29.13 เมื่อเทียบกับปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกันคือ 1 - 10 มกราคม 2566 ซึ่งเกิดจุดความร้อน 913 จุด
GISTDA ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS ของ NASA ในการติดตามจุดความร้อนในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมระบบภูมิสารสนเทศเพื่อสร้างแบบจำลอง ซึ่งประกอบด้วย จุดความร้อนสะสมรายวันย้อนหลัง 10 ปี, พื้นที่เผาไหม้ย้อนหลัง 10 ปี, ดัชนีความแตกต่างของความชื้นรายสัปดาห์ในปีปัจจุบัน, ปริมาณเชื้อเพลิงจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น ป่าผลัดใบ ป่าไม่ผลัดใบ พื้นที่เกษตรกรรม แหล่งน้ำ ฯลฯ, ข้อมูลสภาพอากาศ ได้แก่ อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และความชื้นสัมพัทธ์ รวมถึงจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้สัปดาห์ล่าสุด ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้น คาดการณ์ว่าสถานการณ์ปีนี้น่าจะไม่ต่างจากปีที่แล้ว และที่สำคัญคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลุ่มอาสาสมัครต่างๆ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันและดูแลพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้
ปัจจุบัน GISTDA พัฒนาแอปพลิเคชัน ที่ชื่อว่า FAIPA หรือ ไฟป่า เพื่อใช้แจ้งเตือนจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมที่จะแสดงผลแบบ Near Real-Time ให้กับกลุ่มผู้ใช้งานหลักได้แก่ หน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น ทั้งนี้ แอปพลิเคชันตัวนี้สามารถดูข้อมูลจุดความร้อนได้ทั่วประเทศ รวมถึงประเทศในอาเซียน และสามารถดูย้อนหลังได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย
อ่านบทความอื่นๆ มองโลกมองเรา ของสทอภ. เพิ่มเติมได้ที่นี่
ที่มา : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.