“โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab)” โดยการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ได้สนับสนุนโรงเรียนและวิทยาลัยเทคนิครวม 150 แห่งทั่วประเทศ เพื่อมุ่งเสริมและพัฒนานวัตกร ด้วยการสนับสนุนเครื่องมือทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ และเครื่องตัดเลเซอร์ แก่สถานศึกษาต่าง ๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาทักษะทางด้านวิศวกรรม เกิดแนวคิดในการออกแบบ คิดค้น สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม จนเกิดเป็นชิ้นงานที่สามารถตอบโจทย์แก้ไขปัญหาหรือช่วยเหลือสังคมในชุมชนของตนเองได้ และล่าสุดกลุ่มนวัตกรเครือข่าย FabLab ที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคต่าง ๆ ได้นำองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นและเครื่องมือทางวิศวกรรมในห้องปฏิบัติการ FabLab ร่วมใจกันพัฒนาโล่หน้ากากป้องกันเชื้อ (Face Shield) และกล่องป้องกันเชื้อกระจาย (Aerosol Box) มอบแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ในการป้องกันและลดความเสี่ยงในขณะปฏิบัติงาน มุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้กำลังใจและเสริมความมั่นใจให้บุคลากรการแพทย์ไทยกับบทบาทนักรบแนวหน้าในวิกฤตโรคระบาด COVID-19
ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย หรือ ‘FabLab’ เป็นโครงการภายใต้ Big Rock ที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีความพร้อมในการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยได้สนับสนุนเครื่องมือทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ให้แก่สถานศึกษาจำนวน 100 โรงเรียน และ 50 วิทยาลัยเทคนิค เช่น 3D Printer (เครื่องพิมพ์ 3 มิติ), Laser Cutter (เครื่องตัดเลเซอร์) ภายใต้การควบคุมดูแลของอาจารย์พี่เลี้ยงจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ 10 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยได้พัฒนาทักษะด้านวิศวกรรม ส่งเสริมความเป็นนวัตกร เกิดแนวคิดในการออกแบบ คิดค้น สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม จนเกิดเป็นชิ้นงานที่สามารถตอบโจทย์แก้ไขปัญหาหรือช่วยเหลือสังคมในชุมชนของตนเองได้ และล่าสุดกลุ่มนวัตกรเครือข่าย FabLab ที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคต่าง ๆ ได้นำองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นและเครื่องมือทางวิศวกรรมในห้องปฏิบัติการ FabLab มาพัฒนาเป็นอุปกรณ์โล่หน้ากากป้องกันเชื้อ COVID-19 (Face Shield) และกล่องป้องกันเชื้อกระจาย (Aerosol Box) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงของบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขจากการติดเชื้อจากผู้ป่วย ป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อจากผู้ป่วยสู่บุคลากรการแพทย์ โดยได้ส่งมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์แล้วหลายพื้นที่ และกำลังประดิษฐ์เพื่อนำไปมอบให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ต่อไป
โดยโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้ทำการพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์การแพทย์ พร้อมมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์แล้วด้วยกันหลายแห่ง และจนถึงปัจจุบันยังมีการผลิตนวัตกรรมชิ้นงานที่ถูกพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง จากต้นแบบปรับปรุงที่ทีมแพทย์ได้พิจารณาแล้วว่าสามารถใช้ป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ เพื่อส่งเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาลในการป้องกันและลดความเสี่ยงในขณะปฏิบัติงาน เช่น ที่โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (FabLab) บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. ได้ทำการทดลองพิมพ์ชิ้นงาน Face Shield ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ จากต้นแบบที่ได้รับการสนับสนุนมาจากกลุ่ม Makers สู่การปรับแบบให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น ซึ่งอุปกรณ์หลักประกอบด้วยแผ่นใสและยางยืด โดยได้เตรียมส่งมอบให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติและคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลปทุมธานี โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลสามโคก และแผนกแพทย์กองบริการ หน่วยบัญชาการทหารอากาศโยธิน เป็นต้น
ที่ จ.ลำพูน โรงเรียนประจำจังหวัด 2 แห่ง ได้ผนึกกำลังโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรมและสะเต็มศึกษา (Fabrication Lab CKK & STEM Education) คือ โรงเรียนจักรคำคณาทร จ.ลำพูน และโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ ลำพูน ภายใต้การกำกับของมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สวทช.ภาคเหนือ ร่วมกันสร้างอุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยง (Aerosol box) เพื่อคัดกรองผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งจะส่งมอบให้ห้องฉุกเฉิน (ER) โรงพยาบาลลำพูน ตามรายนามสถานพยาบาลที่แสดงความจำนงขอรับการสนับสนุน
ที่โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (FabLab Satit CMU) ภายใต้โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาสาสมัครร่วมระดมทุนนับแสนบาท ดำเนินการผลิต Aerosol box เพื่อเป็นอุปกรณ์เสริมและป้องกัน ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในการต่อสู้กับ COVID-19 โดยจะส่งมอบให้กับโรงพยาบาลในเขตภาคเหนือ ตามความต้องการของทีมแพทย์ที่แจ้งความจำนง
ที่วิทยาลัยเทคนิคลำปาง ผู้บริหารและคณะครูแผนกเมคคาทรอนิกส์ ส่งมอบอุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยง Aerosol box เพื่อคัดกรองผู้ป่วย COVID-19 และใช้ป้องกันเชื้อของเจ้าหน้าที่มอบให้กับโรงพยาบาล จ.ลำปาง ด้วยการสร้างอุปกรณ์โดยโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (FabLab) วิทยาลัยเทคนิคลำปาง ผ่านการประสานงานจากมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สวทช.ภาคเหนือ
ที่โครงการ FabLab โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ภายใต้โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการผลิต Face Shield แบบโครงพลาสติก โดยปริ้นท์จาก 3D printer ของ FabLab เพื่อนำไปบริจาคให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลน
ที่มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมมือกับ สวทช.ภาคเหนือ และ FabLab-CMU มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการผลิตกล่องป้องกันเชื้อกระจายแบบสอดท่อ (Aerosol Box) โดยใช้อุปกรณ์และเครื่องมือห้องปฏิบัติการ FabLab ของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา ในการสร้าง เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลพะเยา และโรงพยาบาลเชียงคำ
ในส่วนภาคกลาง ที่โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 จ.ฉะเชิงเทรา ทางผู้บริหารและคณะครูห้องปฏิบัติการ FabLab ได้ส่งมอบกล่อง Aerosol box จำนวน 2 ใบ และ Face Shield จำนวน 30 ชิ้น ให้แก่แพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลพุทธโสธร เพื่อใช้ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยผลงานทั้ง 2 ชิ้นนี้ได้ประดิษฐ์จากเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ FabLab และหลังจากนี้ยังจะคงเดินหน้าประดิษฐ์ต่อไป เพื่อนำไปมอบให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ
รวมถึงที่เขตภาคใต้ อย่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ผสานพลังรวมกับ FabLab ในความดูแล ดำเนินการผลิตและจัดทำอุปกรณ์สนับสนุนต่างๆ อาทิ FabLab วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี ผลิตและจัดทำกล่อง Aerosol box จำนวน 70 กล่อง และ Face shield จำนวน 200 ชิ้น ส่งมอบให้โรงพยาบาลในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และมอบให้หน่วยกู้ชีพกู้ภัยในพื้นที่ จ.ปัตตานี รวมถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปัตตานี เพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจ พร้อมจัดทำต้นแบบเครื่องกดเจลล้างมืออัตโนมัติ ส่งมอบให้ที่ปรึกษา รมช.ศธ. จำนวน 5 เครื่อง เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่ จ.สงขลา ต่อไป
“ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่กลุ่มนวัตกรเครือข่าย FabLab สวทช. ทั่วประเทศ ได้นำองค์ความรู้และเครื่องมือห้องปฏิบัติการ FabLab มาใช้เพื่อพัฒนาและประดิษฐ์นวัตกรรมอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อร่วมด้วยช่วยกัน ฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้ ปัจจุบันยังมีชิ้นงานที่กำลังจัดพิมพ์และผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องชิ้นแล้วชิ้นเล่า เพื่อส่งเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาล นอกจากนี้ นับเป็นข่าวดีเพราะบริษัท XYZprinting Thailand ได้ให้การสนับสนุนโครงการ FabLab สำหรับภารกิจครั้งนี้ ด้วยการมอบเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพิ่มเติมให้กับบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรจำนวน 5 เครื่อง และมอบให้กับโรงเรียน วิทยาลัยเทคนิค และมหาวิทยาลัยในเครือข่ายอีก 15 เครื่อง เพื่อดำเนินภารกิจทำอุปกรณ์เพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อไวรัส COVID-19 อีกด้วย” ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ Face Shield เป็นโล่หน้ากากที่สวมไว้เพื่อป้องกันฝอยละอองเชื้อ COVID-19 แพร่กระจายโดนใบหน้า ขณะที่ Aerosol Box เป็นกล่องป้องกันเชื้อกระจายแบบสอดท่อ ในรูปแบบกล่องอะคริลิกใส ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ทำการเจาะช่องให้สอดมือเข้าไปได้ โดยวิธีใช้จะใช้ครอบบริเวณศีรษะของผู้ป่วย ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์สามารถสอดมือเข้าไปในช่องเพื่อทำการรักษาหรือใส่ท่อช่วยหายใจให้กับผู้ป่วย ซึ่งอุปกรณ์ทั้ง 2 ชนิดที่ทางสถานศึกษาในโครงการ FabLab ได้พัฒนาขึ้นจากองค์ความรู้และเครื่องไม้เครื่องมือทางวิศวกรรมที่มีอยู่ในห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังที่จะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันบุคลากรการแพทย์ในการรับเชื้อ COVID-19 ที่กระจายมาจากผู้ป่วยได้ เพิ่มความมั่นใจขณะปฏิบัติงานของบุคลากรการแพทย์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.