วารสารวิทย์ปริทัศน์ จากกรุงวอชิงตัน ประจำเดือนเมษายน 2564 ฉบับที่ 4/2564
ทุกๆ ปี นอกจากการนำเสนอความเป็นไปด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้แล้วกองบรรณาธิการได้ตั้งปณิธานว่า ทุกๆ ปี วิทย์ปริทัศน์ 1 เล่ม จะมีหน้าที่พาท่านผู้อ่านไปท่องอวกาศกัน และสำหรับปีนี้ เราจึงได้เลือกฉบับเดือนเมษายน เป็นเล่มถ่ายทอดเรื่องราวแห่งวิทยาการด้านอวกาศให้แก่ท่านผู้อ่านสืบเนื่องมาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา NASA ได้ส่งหุ่นยนต์โรเวอร์นามว่า Perseverance ไปลงจอดบนดาวอังคารเป็นที่เรียบร้อย โดยใช้เวลาเดินทางจากโลกไปยังดาวอังคารถึงหกเดือนครึ่ง และจะปฏิบัติหน้าที่สำรวจเก็บตัวอย่างบนดาวอังคาร 1 ปีดาวอังคาร ซึ่งจะเท่ากับ 687 วันบนโลก ซึ่งก็คงหมายถึงว่า ถ้าในที่สุด หากมนุษย์อยากย้ายหรือมีความจำเป็นต้องย้ายจากโลกไปอยู่ดาวอังคาร เราก็คงต้องปรับปฏิทินและฤดูกาลกันใหม่ทั้งหมดว่าแล้วก็ชวนให้นึกถึงที่พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสไว้ เกี่ยวกับเวลาในภพภูมิต่างๆ จะมีความแตกต่าง และภพภูมิที่มีความทุกข์น้อยกว่า เวลาจะเดินเร็วกว่านั่นเอง
ในเล่มนี้ ยังจะนำเสนอสาระเกี่ยวกับพัฒนาโครงการอวกาศของภาพเอกชนสหรัฐฯ ที่ค่อยๆ ขยายการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ จนดูเหมือนว่า อุตสาหกรรมอวกาศและการเดินทางออกนอกชั้นบรรยากาศโลก จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป โดยเฉพาะสำหรับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่อย่าง SpaceX ของมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังมีโครงการสำคัญ คือ โครงการ Artemis ที่มีจุดเด่นที่สุด คือ มีแผนที่จะส่งสาวงามไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ยุติการส่งมนุษย์หรือผู้ชายคนสุดท้ายไปเหยียบดวงจันทร์เมื่อปี2515 หรือเมื่อ 49 ปีมาแล้ว แต่รอบนี้ การจะไปดวงจันทร์คงไม่ใช่เป็นเพียงเพื่อการส่งเสริมสิทธิสตรี แต่น่าจะเป็นการแข่งขันแสดงแสนยานุภาพด้านอวกาศรอบใหม่กับมหาอำนาจเอเชียอย่างจีน ซึ่งประสบความสำเร็จส่งดาวเทียมชุดฉางเอ๋อ ซึ่งเป็นชื่อเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ขึ้นไป ปักธงจีนได้สำเร็จ โดยอาศัยแขนกลทำให้ปัจจุบันบนดวงจันทร์ดาวบริวาร 1 เดียวของพิภพโลก มีธงชาติ ของมหาอำนาจสองประเทศปักอยู่
มาถึงตอนนี้ มหาอำนาจทั้งหลายจะแข่งขันอะไรก็แข่งกันไปเถิด แต่ขออย่างเดียว ให้ช่วยกันนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยกันแก้ปัญหาโลกรวน (climate change) ที่กำลังโดนโรครุม (Covid - 19) และขอให้พวกเราชาวโลก หมั่นรักษ์โลกอันเป็นถิ่นที่อยู่ของเราทุกเผ่าพันธุ์ให้มากๆ ยิ่งขึ้นไป เพราะเมื่อเรามีการสำรวจอวกาศมากขึ้นไปเรื่อยๆ แล้ว เราก็ยังไม่พบเลยว่า จะมีดาวเคราะห์ดวงไหนที่จะเหมาะสมกับการเป็นที่อยู่อาศัยให้กับเผ่าพันธุ์มนุษย์ออร์กานิกอย่างเราได้ดีเท่ากับโลกใบนี้
เผยแพร่ข่าว : นายธัชนนท์ บุญหล้า
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.