“TCAS พลิกโฉมการคัดสรรผู้เข้ามหาวิทยาลัยในช่วงโควิด-19”
ในช่วงวิกฤติการณ์โควิด-19 การสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษากลายเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอย่างที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ผู้ดูแลระบบ TCAS ก็มีหน้าที่ในการดำเนินการให้ลุล่วง ที่ถึงแม้ว่าจะเจอกับอุปสรรคมากมาย แต่สุดท้ายนักเรียนมัธยมศึกษาก็สามารถก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ แม้จะต้องดำเนินการสอบคัดเลือกในช่วงวิกฤติโรคระบาดก็ตาม
“การสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในช่วงโควิด-19 นับเป็นครั้งแรกที่ดำเนินการโดย ทปอ. (ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) ซึ่งก็มีประเด็นว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะสามารถมาเข้าสอบได้หรือไม่ โดยในช่วงแรก ต้องยอมรับว่าไม่สามารถจัดการสอบให้กับผู้ที่ติดเชื้อพร้อมกันได้ แต่หลังจากได้ความร่วมมือจากทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวง อว. จึงสามารถจัดสนามสอบพิเศษสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ขึ้นมาได้”
“เรื่องการจัดสอบเป็นเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในช่วงโควิด-19 ซึ่งปีนี้เราใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยเยอะมาก ทำให้สามารถจัดสนามสอบและเปลี่ยนแปลงสนามสอบได้อย่างรวดเร็ว โดยคนที่เพิ่งรู้ว่าตัวเองติดเชื้อก่อนสอบ 10 วัน สามารถเปลี่ยนแปลงสนามสอบเป็นสนามพิเศษสำหรับผู้ป่วยได้ด้วยตัวเองผ่านทางออนไลน์ ในส่วนนี้เองที่ทำให้สุดท้ายเราสามารถอำนวยความสะดวกนักเรียน ม.ปลาย ให้เข้าสอบได้สำเร็จ”
ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์
ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
(Thai University Central Admission System: TCAS)
—————————
“UniNet กับโครงข่ายการศึกษาในช่วงวิกฤติ”
สำนักงานบริหารเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) เป็นหน่วยงานที่มีโครงข่ายไฟเบอร์เพื่อการศึกษากว่า 67,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ขึ้น ทำให้ UniNet เข้ามามีบทบาทในการแลกเปลี่ยนและส่งต่อความรู้เชิงวิชาการ การเรียนการสอน และการจัดประชุม ซึ่งการเชื่อมต่อผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ที่มีเสถียรภาพของ UniNet ทำให้การดำเนินการต่าง ๆ ในห้วงวิกฤติเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว
“เรามีงานบริการหลายอย่างอยู่แล้ว อย่างห้องสมุดออนไลน์ หรือระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ให้นักศึกษาเข้ามาสืบค้นทำงานวิจัยต่าง ๆ ดังนั้นในช่วงโควิด-19 จึงมีคนเข้ามาใช้บริการ UniNet มากขึ้นตามไปด้วย โจทย์ของเราจึงเป็นการดูแลระบบให้มีประสิทธิภาพและเสถียรที่สุดตลอด 24 ชั่วโมง ยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก เราจึงต้องพัฒนาสิ่งที่ดี ง่าย และ User-Friendly เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้ามาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ประหยัด และเรียนรู้ได้มากที่สุด ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนและใช้งานในเวลาใดก็ตาม”
“ส่วนความประทับใจของเรา คือการได้เห็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของครู-อาจารย์ที่เกิดขึ้นจริงในทุกวันนี้ ซึ่งหมายความว่า ต่อให้มีวิกฤติขึ้นอีก เราก็จะไม่ต้องมาตั้งรับอะไรมากมายแบบนี้อีกแล้ว”
ผศ.ดร.ประมา ศาสตระรุจิ
ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet)
—————————
“Thai MOOC ปลูกรากฐานการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (Thailand Cyber University: TCU) ได้เริ่มวางรากฐานให้กับ ‘ระบบเปิดเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต’ หรือ Thailand Massive Open Online Course (Thai MOOC) ระบบการศึกษาที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ มาเป็นข้อจำกัด นับเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้ทุกคนได้เรียนรู้ตามความสนใจ ซึ่งได้กลายมาเป็นระบบการเรียนรู้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงโควิด-19 หลังจากที่คนจำนวนมากต้องกักตัวอยู่กับบ้าน
“มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ซึ่งทำแพลตฟอร์มกลางเพื่อการเรียนออนไลน์ โดยเรามีวิชาออนไลน์ประมาณ 500 วิชาจากมหาวิทยาลัยเครือข่าย 9 แห่งทั่วประเทศอยู่ก่อนแล้ว พอเข้าสู่ช่วงโควิด-19 จึงได้เพิ่มวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพเข้าไปซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะผู้ที่สนใจสามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง”
“ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีคนเข้ามาเรียนออนไลน์กับเรามากขึ้น ประกอบกับเราจัดรายการ Thai MOOC Talk เพื่อสื่อสารกับอาจารย์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเรียนการสอนออนไลน์ ทำให้มีคอร์สเรียนเพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยวิชา ซึ่งส่งผลให้มียอดผู้เข้ามาใช้งานในแพลตฟอร์มของเรามากกว่า 2 ล้านคน เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้เราเองรู้ด้วยว่า ในช่วงล็อกดาวน์ คนไทยไม่ได้อยู่บ้านเฉย ๆ เพราะหลายคนก็พยายามพัฒนาตัวเองอยู่เสมอเหมือนกัน”
ผศ.ฐาปนีย์ ธรรมเมธา
ผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (TCU)
—————————
“เรียนรู้ตลอดชีวิตกับ CHULA MOOC”
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลายคนมีโอกาสหาความรู้กันเพิ่มเติมจากโลกออนไลน์ โดยหนึ่งในทางเลือกที่มีคนพูดถึงกันมากก็คือ คอร์สเรียนออนไลน์ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต่างจัดทำขึ้นผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่นเดียวกับ CHULA MOOC ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ทุกอย่างต้องสร้างสรรค์ขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เดินหน้าพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสให้กับทุกคน
“CHULA MOOC ช่วยเพิ่มโอกาสให้คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านในช่วงล็อกดาวน์ได้เข้ามาหาความรู้เพิ่มเติม เพราะพวกเขาน่าจะมีเวลามากขึ้นในการพัฒนาตัวเอง แม้ในช่วงแรกคนจะยังไม่ค่อยรู้จักและไม่ค่อยเข้าใจว่าคืออะไร หรือใช้งานยังไง แต่หลังจากประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคนนอกมหาวิทยาลัยซึ่งปรากฏว่ามีจำนวนมากกว่านิสิตจุฬาฯ เข้ามาใช้งาน แม้แต่น้อง ๆ ระดับประถมฯ มัธยมฯ ก็มี ทำให้เป็นจุดตั้งต้นที่ดี และเราเองก็มีแรงทำงานต่อ”
“วิธีการเรียนการสอนในอนาคตจะเป็นแบบ Blended Learning คือต้องมีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เราจึงเริ่มทำ CHULA MOOC มาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แต่บังเอิญสถานการณ์บังคับ เพราะมันมาเร็วกว่าที่คิด ยิ่งพอเราเห็นเทรนด์ของคนเรียนว่าต้องการเรียนอะไรก็ยิ่งตอบโจทย์ถูก และจัดการหัวข้อหรือเนื้อหาตามที่ผู้เรียนอยากเรียนได้ง่ายขึ้น ยิ่งกระทรวง อว. มีนโยบายเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ชัดเจนอยู่แล้วซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี แต่เราต้องทำให้ชัดเจน เป็นพันธกิจของทุกมหาวิทยาลัย และทำให้เข้าถึงง่ายแล้วการเรียนรู้ของสังคมจะเปลี่ยนไปได้ไม่ยาก”
ดร.ภัทรชาติ โกมลกิติ
ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
—————————
“PSU MOOC ส่งเสริมพัฒนาตนเอง”
อีกหนึ่งหน่วยงานที่สามารถนำเครื่องมือการเรียนการสอนออนไลน์มาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คงต้องยกให้กับสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นเสาหลักของภาคใต้อย่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ มอ. ที่นำเอาระบบ PSU MOOC มาทำหน้าที่ติดอาวุธทางการศึกษาให้กับประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19
“เนื้อหาบนระบบ PSU MOOC แบ่งเป็น 2 ประเภท คือเนื้อหาสำหรับนักเรียน ม.ปลาย ซึ่งแบ่งเป็น 7 รายวิชา กับอีกประเภทคือเนื้อหารายวิชาทั่วไป ประเภท New Skill และ Up Skill อาทิ วิชาภาษาต่างประเทศต่าง ๆ โดยในรายวิชาภาษาเกาหลีของเราติด Top 3 ของ THAI MOOC ที่มีคนเข้ามาเรียนมากที่สุดในช่วงโควิด-19 นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมเนื้อหาเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา อย่างการดูแลผู้ป่วย การพยาบาลเบื้องต้น หรือการดูแลตัวเองในช่วงสถานการณ์โรคระบาด เป็นต้น”
“ผลตอบรับของ PSU MOOC ถือว่าดีมาก ๆ โดยก่อนหน้านี้เรามีผู้ใช้งานอยู่ราว 60,000 คน แต่พอเข้าช่วงโควิด-19 เรามียอดผู้ใช้งานทะลุแสนคน ที่สำคัญคือผลสัมฤทธิ์ของการเรียนในระบบของเราก็ดีด้วย เพราะมีเกือบ 50% ที่เข้ามาใช้งานแล้วเรียนวิชาที่เขาเลือกจนจบคอร์สและได้ประกาศนียบัตร นั่นหมายความว่ามีคนสนใจที่จะพัฒนาตัวเองอยู่มากทีเดียว แต่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่ได้มีเวลามากพอก็เท่านั้น”
ดร.โอภาส เกาไศยาภรณ์
ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรการเรียนรู้
สำนักงานการศึกษาและนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU MOOC)
—————————
“CMU MOOC การศึกษาที่เข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา”
ศูนย์นวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Teaching and Learning Innovation Center: TLIC) นับเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญของภาคเหนือที่มีบทบาทต่อการเรียนรู้ในช่วงโควิด-19 โดยเป็นหน่วยงานสำคัญที่ผลักดันอาจารย์ให้ใช้ประโยชน์จากจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในระบบเปิดสำหรับมหาชนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ CMU MOOC ที่มีคอร์สเรียนให้เลือกหลากหลาย โดยทาง มช. มุ่งหวังให้อาจารย์ใช้คอร์สเหล่านี้ทดแทนการสอนบรรยายแบบดั้งเดิม และเปลี่ยนบรรยากาศในห้องเรียนที่เน้นสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนแบบ Active Learning
“เราทำ CMU MOOC กันมาก่อนที่จะมีโควิด-19 เพราะมองว่าเป็นทิศทางของการศึกษาที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้ โดยหวังให้การศึกษาสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา และมองว่าอาจารย์ทุกคนควรนำเนื้อหาส่วนวิชาการที่เดิมสอนแบบบรรยายหน้าชั้นเรียนไปสร้างในรูปแบบของ MOOC ซึ่งน่าจะตอบโจทย์การเรียนการสอนในยุคที่ผู้เรียนเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างง่ายดายมากกว่าแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”
“MOOC เป็นเวทีที่ค่อนข้างเหมาะ เพราะนอกจากนักศึกษาแล้ว คนภายนอกยังสามารถเข้าถึงได้ด้วย เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราก็เลยผลักดันให้อาจารย์ใช้ MOOC กันมากขึ้น เพราะนอกจากจะใช้เวลาในชั้นเรียนน้อยลงซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงในการมาเจอกันในช่วงโควิด-19 แล้ว องค์ความรู้เหล่านี้ยังสามารถส่งไปถึงคนจำนวนมากกว่าแค่นักศึกษาในห้องเรียน ซึ่งสุดท้ายแล้วจะช่วยประหยัดเวลาให้กับผู้สอนและยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ผ่านช่องทางนี้ ให้เขาสามารถต่อยอดการเรียนรู้ของตัวเองไปได้ตลอดชีวิตอีกด้วย”
ดร.อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ
ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (TLIC)
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.