“ถอดบทเรียนการต่อสู้กับโควิด-19”
ภารกิจที่ 5 พลิกโฉมการเรียนและสอนออนไลน์ พลิกวิกฤติสู่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม
‘ภารกิจพลิกโฉมการเรียนและสอนออนไลน์’ กลายเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของการปฏิรูปวงการการศึกษาไทยในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยทั้งมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (TCU) ที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์แบบเปิดของประเทศไทย หรือ Thai MOOC รวมถึงแพลตฟอร์มพันธมิตรอย่าง CHULA MOOC ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย PSU MOOC ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ CMU MOOC ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ช่วยกันผลักดัน ‘การเรียนการสอนออนไลน์’ ให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย มากกว่าผู้เรียนกลุ่มเดิมที่จำกัดอยู่แค่นักเรียนและนิสิตนักศึกษา ขณะเดียวกันก็ยังได้มุ่งเป้าให้สังคมไทยพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย
“การเข้ามาของโควิด-19 ส่งผลต่อชีวิตของคนทุกคนไม่ต่างกัน อย่างที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราอยู่ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนสอบปลายภาค แต่เราต้องปิดมหาวิทยาลัยและหยุดการทำการเรียนการสอนทั้งหมด ทำให้โจทย์แรกที่ได้มาคือ ‘จะสอบกันยังไง?’ โดยมีการสอบถามไปยังคณาจารย์ ซึ่งทุกคนมีความกังวลในเรื่องของการทุจริต ทำให้เรามีการช่วยเหลืออาจารย์ในหลาย ๆ ด้าน อย่างการคุมสอบผ่านโปรแกรม Zoom โดยให้นักศึกษาเปิดคอมพิวเตอร์และวางมือถือไว้บนโต๊ะแล้วให้อาจารย์คุมสอบ นี่เป็นวิธีแรกที่เราคิดได้ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องระดมสมองกันในการพยายามรับมือกับสถานการณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นปัญหา ๆ ไป”
“สิ่งที่ต่อยอดมาคือ เรานำ IT เข้ามาช่วย โดยมี Exam Manager เป็นระบบที่ให้ Dashboard กับอาจารย์ ดึงรายชื่อนักศึกษาเข้ามา พอนักศึกษาเช็กอินก็จะเข้ามาอยู่ใน Zoom โดยที่สามารถตรวจสอบโลเกชันได้ พอทำข้อสอบเสร็จก็ให้เช็กเอาต์ ซึ่งตรงนี้สามารถต่อยอดไปใช้งานในอนาคตได้ ในส่วนของ CMU MOOC มองได้ 2 มุมคือ เป็นเครื่องมือการเรียนการสอนของอาจารย์ โดยอาจารย์สามารถทำ MOOC ไว้ให้นักศึกษาเข้าไปดู เพื่อที่ในห้องเรียนจะสามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ และอีกมุมคือ การทำเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับบุคคลทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับ Lifelong Learning”
“ผมคิดว่าการที่โควิด-19 เข้ามาแล้วบังคับให้อาจารย์ต้องสอนออนไลน์ เป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาให้เขาได้ลองอะไรที่เขาเคยไม่อยากลอง อย่างตอนแรกที่ผมต้องไปสอนผู้บริหารมหาวิทยาลัยใช้ Zoom ซึ่งกลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนในตอนนี้รู้อยู่แล้ว โควิด-19 ได้นำสิ่งเหล่านี้มาให้ คือการเรียนรู้ด้านดิจิทัลแบบก้าวกระโดดในระยะเวลาอันสั้น ทำให้หลายอย่างที่เราได้เรียนรู้ในตอนนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของ New Normal ในตอนนี้ ซึ่งได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการศึกษาและวิถีการเรียนรู้ของพวกเราหลายคนไปเลย”
นี่คือความคิดเห็นของ ดร.อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ยังมองด้วยว่า แม้การระบาดของโควิด-19 จะเป็นช่วงเวลาวิกฤติของคนในสังคม แต่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่มองเห็นโอกาสและสามารถใช้เวลาว่างที่มีจากสถานการณ์ครั้งนี้ นำไป ‘พัฒนาตนเอง’ จนสามารถต่อยอดชีวิตได้อีกหลายด้านด้วยเช่นกัน
ขณะที่ ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบ TCAS มีมุมมองที่น่าสนใจจากการทำงานอย่างหนักในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยมองว่า ปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ สามารถแก้ไขได้ หากมีความหวังและความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกฝ่าย
ตอนนั้นเป็นทั้งความท้าทายและความเครียดในเวลาเดียวกัน เพราะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทุกมหาวิทยาลัยในแต่ละพื้นที่ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุข เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าสอบอย่างดีที่สุด ต้องมีการประชุมกันวันต่อวัน เพราะเวลาเหลือน้อยมาก โดยในตอนแรก มีมติร่วมกันว่า จะไม่จัดสอบให้กับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 เพราะไม่สามารถจัดสอบอย่างเที่ยงธรรมและยุติธรรมให้กับทุกคนได้ ขณะเดียวกันก็ยังมองไม่เห็นหนทางที่จะดำเนินการจัดสอบให้ถูกต้องตาม พรบ.ควบคุมโรค ได้ แต่ต่อมา เมื่อมีคำสั่งจากกระทรวง อว. ให้ ทปอ. จัดสอบได้ โดยความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องประสานงานไปยังทั้งสองกระทรวงกับอีก 77 จังหวัด จนสุดท้ายก็สามารถจัดสอบได้สำเร็จ”
“ประสบการณ์ครั้งนี้ได้ช่วยให้หลาย ๆ มหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์สอบมีโอกาสได้รับมือและประสานงานกันอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นบทเรียนให้ผู้เข้าสอบได้เตรียมความพร้อมในการดูแลตัวเองให้ดีที่สุดด้วย อีกอย่างที่ได้เรียนรู้และถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากคือ การสื่อสารสาธารณะ ที่ต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนและเป็นระบบ โดยความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องมานั่งทบทวนอย่างหนักถึงข้อมูลข่าวสารแต่ละข้อความที่ทาง TCAS ต้องการจะสื่อสารออกไปในอนาคตด้วย”
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.