“Bottom-Up Approach”
วิกฤติโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อนิสิตนักศึกษากว่า ล้านคนทั่วประเทศ ‘การเรียนออนไลน์’ ถือเป็นวิชาภาคบังคับที่ต้องเจอ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีความพร้อม ทางที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จึงต้องบรรเทาความทุกข์ยากของนิสิตนักศึกษาให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยเริ่มจากการหารือกับรัฐบาล กระทรวง อว. รวมถึงมหาวิทยาลัยในสังกัดถึงมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งท้ายที่สุด สามารถช่วยเหลือนักศึกษาได้มากกว่า 1 ล้านคน
“เคล็ดลับความสำเร็จคือ สปิริตของทุกคนที่ร่วมกันทำงานอย่างรวดเร็ว รับฟังปัญหา และความคิดเห็นที่สะท้อนมาจากระดับปฏิบัติงานสู่ผู้บริหาร (Bottom-Up Approach) ให้สามารถตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที มองเหตุการณ์ไปข้างหน้า อย่างเรื่องการเรียนออนไลน์ แต่ละมหาวิทยาลัยมีการเตรียมพร้อมไว้ในระดับหนึ่ง พอวิกฤติมาถึงจึงเป็นโอกาสในการกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยกระตือรือร้นมากขึ้น บางแห่งใช้เวลาเพียงสัปดาห์เดียวก็พร้อมสอนออนไลน์ ขณะที่บางแห่งอาจมีความพร้อมไม่มากนัก แต่ด้วยใจที่จะช่วยเหลือนักศึกษาและเอาความเดือดร้อนของผู้เรียนเป็นที่ตั้ง มาตรการต่าง ๆ จึงสำเร็จได้ด้วยดี”
“เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกได้จริง ๆ เราต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมด้านการสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ทั้งทางด้านไบโอเทคโนโลยีและด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งกระทรวง อว. นับเป็นองค์กรที่มีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาคนและนวัตกรรมเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน ขณะที่ภาคประชาสังคมก็ต้องมีการเตรียมความพร้อม โดยคำนึงถึงหลัก ‘จำเป็นต้องทำ’ (Need to do) ก่อน ‘ทำก็ดี’ (Nice to do) เพื่อประเมินสิ่งที่เราต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับวิกฤติให้ดีที่สุด”
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์
ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)
—————————
“ราชภัฏเพื่อชุมชนท้องถิ่น”
มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งมีปณิธานในการทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้ดีขึ้น ยิ่งในวิกฤติโควิด-19 ที่ทุกคนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า มหาวิทยาลัยที่ถือเป็นแหล่งรวมใจของนักศึกษา บุคลากร และคนท้องถิ่น จึงต้องเร่งช่วยเหลือทุกคนอย่างเต็มกำลังผ่านการระดมผู้เชี่ยวชาญที่มีความโดดเด่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่งมารวมตัวกันและแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน ทั้งมาตรการการเรียนออนไลน์ การเยียวยานักศึกษา ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ บุคลากร และชุมชน ให้ทุกคนรอดพ้นจากวิกฤติไปด้วยกัน
“จุดแข็งของมหาวิทยาลัยราชภัฏคือ การมีเครือข่ายที่เข้มแข็งและการทำงานใกล้ชิดกับชุมชน เมื่อเกิดปัญหาจึงทำให้ประสานงานกันได้ง่าย ปัญหาต่าง ๆ ได้รับแก้ไขอย่างราบรื่นและรวดเร็ว ประกอบกับความทุ่มเทของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนกันทุกวันโดยไม่กลัวโควิด-19 โรคภัยไข้เจ็บจึงไม่สามารถเป็นกำแพงที่จะมาสกัดกั้นการทำงานของพวกเราได้ เพราะทุกคนพร้อมที่จะปรับตัวตามสถานการณ์ แม้ช่วงแรกจะมีความกังวลอยู่บ้าง เเต่เมื่อสื่อสารทำความเข้าใจกันแล้ว ทุกคนก็ยินดีทำงานให้ลุล่วง”
“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิกฤติครั้งนี้คือ ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สถานศึกษาจึงไม่สามารถหยุดนิ่งหรือทำอะไรอย่างเชื่องช้าได้ ต้องออกจากพื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) และมองออกไปข้างนอกให้กว้างขึ้น เพื่อวางแผนให้ไกลขึ้น อะไรที่ล้าสมัย ใช้การไม่ได้แล้ว อย่าไปนึกถึงหรือเสียดาย อย่างบางหลักสูตรที่มีมายาวนาน แต่ไม่ได้ปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับปัจจุบันก็ถึงเวลาที่ต้องปิดตัวลง และหันมาสนับสนุนหลักสูตรด้านเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตต่อไป”
ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา
ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.)
—————————
“วิกฤติสอนวิชาคุณค่าแห่งการทำเพื่อส่วนรวม”
บทบาทของสถานศึกษา นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพและมีความสุขแล้ว ยังจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วและไม่หวั่นไหวต่อภาวะวิกฤติด้วย ซึ่งด้วยการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเทคโนโลยี ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลจึงได้ออกแบบระบบที่มีความมั่นคงรอบด้าน เพื่อให้นักศึกษาผู้เป็นหัวใจสำคัญของสถานศึกษาสามารถเดินหน้าศึกษาต่อไปได้อย่างเป็นปกติ ซึ่งโชคดีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง มีการปูพื้นฐานเรื่องเหล่านี้ไว้บ้างแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19
“เราเตรียมความพร้อมเรื่องทุนการศึกษาเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาไว้อยู่แล้ว เมื่อเกิดการเเพร่ระบาดในแต่ละระลอก ครอบครัวนักศึกษาจำนวนมากได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทันที ไม่มีรายได้หมุนเวียนในครอบครัว มหาวิทยาลัยจึงจัดสรรทุนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัว ขนานไปกับการทำโครงการ Part-Time Job เพื่อช่วยให้นักศึกษามีรายได้ระหว่างเรียน ขณะที่ประสิทธิภาพของการเรียนออนไลน์ เราได้จัดทำระบบไอที DLearn เพื่อรองรับการเรียนการสอนและฐานข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งช่วยให้นักศึกษาไม่มีอุปสรรคในการเรียนรู้ แม้จะอยู่ในช่วงภาวะวิกฤติก็ตาม”
“งานทุกอย่างสำเร็จได้ เพราะทุกคนพร้อมรับผิดชอบและทำงานกันอย่างเต็มกำลัง มองว่าสิ่งนี้คือ การสอนที่ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง จะทำให้ลูกศิษย์ของเราได้เรียนรู้ถึงความทุ่มเท ความมีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการเสียสละเพื่อสังคม ที่วันหนึ่ง หากพวกเขามีโอกาสที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคม จะได้ทำทันที และเห็นถึงคุณค่าของการทำเพื่อส่วนรวมซึ่งสอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจจะผลิตบัณฑิตออกไปเพื่อพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ไม่ว่าเจอวิกฤติที่รุนแรงแค่ไหนก็ตาม”
รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด
ประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.)
—————————
“การศึกษาที่มองทิศทางโลก”
สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด ควบคู่ไปกับการดูแลนักศึกษากว่า 200,000 ชีวิต ในสถาบันการศึกษากว่า 70 แห่งทั่วประเทศ โดยวิกฤติโควิด-19 นับเป็นอีกหนึ่งห้วงเวลาที่ยืนยันการทำงานเพื่อส่วนรวมของ สสอท. กับการระดมความช่วยเหลือนักศึกษาและสังคมด้วยความตั้งใจเต็มที่ ชวนกันคิดชวนกันทำ จนผลงานออกมาสำเร็จราบรื่น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ทราบว่า ไม่ว่าอนาคตจะยากสักแค่ไหน หากร่วมใจกันก็สามารถผ่านพ้นทุกวิกฤติไปได้อย่างสวยงาม
“ในอนาคต เราอาจเจอวิกฤติอื่น ๆ อีกมากมาย การทำงานในมิติของอุดมศึกษาจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด การเรียนการสอนต้องพัฒนาควบคู่ไปกับทิศทางของโลก ต้องตอบให้ได้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร เรียนแล้วตอบโจทย์โลกอย่างไร ช่วยลดผลกระทบเชิงลบได้มากน้อยแค่ไหน หรือนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือไม่ แต่ละสถานศึกษาควรมีการเรียนรู้เชิงโปรเจกต์ให้มากขึ้น ให้นิสิตนักศึกษาได้ทดลองปฏิบัติและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง สิ่งนี้จะฝึกให้พวกเขามีพื้นฐานรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแน่นอน”
“กระทรวง อว. ถือว่ามีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนทิศทางประเทศ เพราะมีสถานศึกษา โรงเรียนแพทย์ และหน่วยงานวิจัยครอบคลุมเกือบทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สิ่งที่อยากเสนอแนะเพิ่มเติมหลังจากได้เรียนรู้จากวิกฤติโควิด-19 คือ ควรให้แต่ละมหาวิทยาลัยที่เดิมทีมีการประชุมเครือข่ายย่อย ๆ อยู่แล้ว 4-5 เครือข่าย ทำงานร่วมกับหน่วยงานของ อว. อย่างใกล้ชิดมากขึ้น ผ่านการสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อการทำงานที่กระชับ ฉับไว และมีประสิทธิภาพ”
ดร.พรชัย มงคลวนิช
นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.)
—————————
“สื่อสารข้อมูลฉับไว เพื่อความปลอดภัยของทุกคน”
โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มีข้อมูลมารองรับ แต่ในฐานะของอธิการบดีมหาวิทยาลัยนั้น ไม่สามารถรอเวลาให้ทุกอย่างพร้อมก่อนถึงจะเริ่มงานได้ ดังนั้นจึงต้องค้นคว้าและประสานข้อมูลกับทุกมหาวิทยาลัยอย่างรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยของนักศึกษาและบุคลากร โดยสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ การสื่อสารในภาวะวิกฤติที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกคนได้รับทราบข้อเท็จจริง สร้างความเข้าใจ และเปลี่ยน ‘ความตระหนกเป็นตระหนัก’ เมื่อทุกคนเห็นปัญหาตรงกันก็เริ่มงานได้ทันที แม้ว่าสถานการณ์จะทำให้ต้องห่างกันแค่ไหนก็ตาม
“เราประชุมติดตามแผนบริหารงานอย่างต่อเนื่องระหว่างบุคลากรและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย โดยศึกษาเคสที่ประสบความสำเร็จมาใช้ทำงานต่อ ปรับการทำงานและการเรียนการสอนเป็นระบบดิจิทัลทั้งหมดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ขนานไปกับการจัด Town Hall Meeting เพื่อสื่อสารกับนักศึกษาและผู้ปกครองเป็นระยะ ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถจัดการเรียนการสอนและดูแลพวกเขาได้อย่างครบถ้วน ซึ่งการพูดคุยติดตาม ทำให้รู้ว่านักศึกษาหรือผู้ประกอบการในมหาวิทยาลัยมีปัญหาอย่างไร จะได้วางแผนช่วยเหลือทุกเรื่องได้อย่างทันท่วงที”
“เหตุการณ์ที่ประทับใจและลืมไม่ลงตลอดช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือความพร้อมเพรียงในการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัย ทุกคณะต่างส่งความปรารถนาดีถึงกัน ร่วมใจกันทำงาน ทั้งคิดค้นนวัตกรรมใหม่ พัฒนาวัคซีน หรือให้การดูแลรักษาที่ครอบคลุมไปถึงชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งได้เรียนรู้ว่า เมื่อเราผ่านโจทย์ยาก ๆ มาแล้ว ยิ่งจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเพื่ออุดช่องโหว่ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสาร รวมถึงการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว”
ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
—————————
“นวัตกรรมแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”
หน้าที่ของอุทยานวิทยาศาสตร์ส่วนภูมิภาคคือการสนับสนุนผู้ประกอบการในการทำวิจัยหรือนวัตกรรมเพื่อธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานผ่านการส่งเสริมงบประมาณ ห้องแล็บ และโรงงานผลิตสินค้าตัวอย่าง โดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) จะทำงานร่วมกับ 44 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถใกล้ชิดกับผู้ประกอบการในแต่ละภูมิภาคให้ได้มากที่สุด ซึ่งในช่วงโควิด-19 มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ สป.อว. จึงมีมาตรการยกเว้นค่าบริการ ช่วยหาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้า ตลอดจนช่วยทำการตลาดออนไลน์ให้ด้วย
“ผู้ประกอบการที่เราสนับสนุนอยู่ หลายรายทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่สามารถทำให้สถานการณ์โควิดดีขึ้นได้ อาทิ ผู้ผลิตเครื่อง UVC ฆ่าเชื้อโควิดแบบสั่งการทางไกลที่ช่วยลดการสัมผัสก็ผลิตเครื่อง UVC ส่งต่อให้กับทางโรงพยาบาล โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือแม้แต่ธุรกิจเดลิเวอรีของผู้ประกอบการ ที่เราเข้าไปช่วยเหลือเรื่องการขนส่งยาและอาหารให้ผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้านหรือผู้ที่ต้องกักตัว โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เหล่านี้คือ ตัวอย่างความประทับใจจากการช่วยเหลือสังคมร่วมกับผู้ประกอบการ สะท้อนให้เห็นว่าในยามวิกฤติพวกเขาก็กลับมาช่วยเหลือกัน ไม่ทอดทิ้งไปไหน”
“เจ้าหน้าที่ทุกคนพร้อมปรับตัวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ จากที่ก่อนมีโควิด-19 จะช่วยผู้ประกอบการพัฒนานวัตกรรมควบคู่กับความรู้ด้านธุรกิจ แต่ช่วงโควิดได้หันมาเน้นด้านการตลาดเป็นหลัก เพื่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการ แม้เป็นความยืดหยุ่นที่เราพร้อมงัดศักยภาพออกมาใช้อย่างเต็มที่ แต่จะดีกว่ามาก ถ้ามีเวลาเตรียมพร้อมมากกว่านี้ วิกฤตินี้จึงสอนว่า การทำงานอย่างเป็นระบบและมีเครือข่ายที่ดี จะช่วยสานพลังให้เกิดประโยชน์อย่างทวีคูณ นอกจากนั้น วิกฤติยังทำให้เราเห็นภาพที่กว้างขึ้น อะไรที่สามารถต่อยอดไอเดียให้เป็นโอกาสในอนาคตได้ก็ควรเริ่มวางเเผนและเตรียมพร้อมกันตั้งแต่วันนี้”
คุณทิพวัลย์ เวชชการัณย์
ผู้อำนวยการกลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์
กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.