“ถอดบทเรียนการต่อสู้กับโควิด-19”
ภารกิจที่ 6 เยียวยานิสิต นักศึกษา ผู้ประกอบการ
Hybrid, Project-Based & Lifelong Learning
เดิมที ‘การเรียนออนไลน์’ เป็นภารกิจที่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งวางแผนดำเนินการในอนาคตช่วง 3-5 ปีข้างหน้า แต่วิกฤติโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเร็วขึ้น
ดร.พรชัย มงคลวนิช นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) มองว่า การเรียนออนไลน์ถือเป็นโอกาสของ ‘การเรียนรู้ได้ในทุกที่และทุกเวลา’ ขยายกรอบของการเรียนให้กว้างขึ้น เอื้อทั้งการเรียนการสอนในช่วงวิกฤติที่ลดการแพร่กระจายของโรค เอื้อให้คนที่ไม่มีเวลาได้เรียนมากขึ้น รวมถึงผู้เรียนที่ต้องการเรียนรู้ในหลายศาสตร์ไปพร้อม ๆ กัน ที่สำคัญการเรียนออนไลน์ยังช่วยตอบโจทย์ ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ (Lifelong Learning) เพราะความต้องการทางการศึกษา แท้จริงแล้วไม่ได้จำกัดอยู่แค่ช่วงอายุ 18-24 ปีเท่านั้น
ไม่เพียงแค่การปรับรูปแบบการเรียนการสอน เพราะในอนาคต ประเทศไทยอาจไม่ได้เจอแค่วิกฤติของโรคระบาด แต่อาจเจอทั้งพิษเศรษฐกิจหรือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทำให้การเรียนการสอนต้องเปลี่ยนแนวคิดด้วย โดยควรถามย้ำ ๆ ว่า ‘เราเรียนไปทำไม?’ หรือ ‘ต้องมีหลักสูตรแบบใดถึงจะป้องกันผลกระทบจากวิกฤติได้มากที่สุด?’ ดังนั้นการเรียนการสอนจะเน้นท่องจำทฤษฎีไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องเป็นการเรียนรู้แบบ Project-Based Learning ผ่านการลงมือทำและแก้ปัญหาด้วยตนเอง อย่างโควิด-19 ที่ไม่ได้มีทฤษฎีใดมาบอกว่า ต้องทำแบบนั้น แบบนี้ แต่ทุกคนต้องเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นและแก้ปัญหาให้ได้ ขณะที่หลักสูตรที่ไม่จำเป็นหรือล้าสมัยก็ควรต้องปิดตัวลง”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเรียนออนไลน์ที่ผ่านมา เกิดปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาไม่พร้อมเรียน การเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต หรือคณาจารย์ที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์การสอน ซึ่ง ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มองว่า ปัญหาที่เกิดในช่วงวิกฤติ ทำให้เห็นถึงโอกาสและข้อบกพร่องที่จะนำไปสู่การมองหาทางออก ทำให้สามารถเดินหน้าพัฒนาการเรียนออนไลน์และระบบไอทีต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นได้ โดยใช้หลักการ ‘ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว’ และยึดถือนิสิตนักศึกษาเป็นที่ตั้ง
“ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถเปลี่ยนโลกได้จริง ดังนั้นการมีองค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ จะช่วยให้เราผ่านวิกฤติไปได้ ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะต่อยอดพัฒนางานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ประเทศ และมองว่า ประเทศไทยต้องเน้นงานวิจัยและนวัตกรรมด้านไบโอเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์สุขภาพที่จะมีความสำคัญอย่างมากในอนาคต รวมถึงด้านการสื่อสาร เพราะการสื่อสารที่ชัดเจนและมีองค์ความรู้ที่ดีจะช่วยให้แก้ปัญหาได้อย่างราบรื่น”
ส่วนการแก้ปัญหานักศึกษาที่เกิดภาวะเครียดหรือขาดการเข้าสังคม เพราะไม่ได้เจอเพื่อนหรือไม่ได้เดินทางมาใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยนั้น ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า จะต้องปรับการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่นขึ้น ไม่ยึดกฎระเบียบที่เคร่งครัด หรือไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันจนเกินไป โดยอาจต้องปรับมาเป็นระบบไฮบริด หรือเรียนทั้งในรูปแบบออนไลน์ที่เป็นการจำลองเสมือนจริง (Module Virtual) และออนไซต์ เพื่อคืนคุณภาพชีวิตในมหาวิทยาลัยให้กับนิสิตนักศึกษา เน้นเสริมทักษะที่จำเป็นจากการฝึกปฏิบัติ ใช้เวลาในห้องเรียนให้สั้นลง หรือเสริมกิจกรรมนอกหลักสูตร เพื่อสอนทักษะชีวิต เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักศึกษาใช้ชีวิตอยู่กับแค่หน้าจอคอมพิวเตอร์
“ขณะที่ในระยะยาว นักศึกษาอาจสนใจเรื่องปริญญาที่จบแค่สาขาใดสาขาหนึ่งน้อยลง เพราะหลายคนสนใจอยากเรียนหลายด้าน ส่วนนี้จะมีการพิจารณาขยายหลักสูตรเรียนข้ามสายกันได้ หรือเรียนผ่านคอร์สระยะสั้นหลาย ๆ คอร์ส ทำให้ผู้เรียนได้ประโยชน์และได้เครื่องมือใหม่ ๆ ในการเลือกประกอบอาชีพอย่างหลากหลายในอนาคต”
.
ส่วนการช่วยเหลือเยียวยานิสิตนักศึกษาและผู้ประกอบการในสถานศึกษา นอกจากการช่วยเหลือเฉพาะกิจที่เป็นการนำเงินงบประมาณของแต่ละมหาวิทยาลัยมาช่วยเรื่องค่าเทอมให้กับนิสิตนักศึกษาและค่าเช่าพื้นที่ของผู้ประกอบการร้านค้าในช่วงการแพร่ระบาดรุนแรงแล้ว มหาวิทยาลัยบางแห่งยังมีการให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาที่ไม่มีกำลังทรัพย์ต่อเนื่อง รวมถึง ‘เพิ่มจำนวนนักจิตวิทยา’ ในมหาวิทยาลัยเพื่อให้คำปรึกษากับนิสิตนักศึกษา อาจารย์ และผู้ประกอบการ หลังตระหนักถึงปัญหาความเครียดและซึมเศร้าที่ทุกคนเผชิญในช่วงวิกฤติโรคระบาดที่ผ่านมา
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.