“ถอดบทเรียนการต่อสู้กับโควิด-19”
ภารกิจที่ 7 งานวิจัย เร่งด่วน ตรงเป้า เรียนรู้จากวิกฤติสู่อนาคตอันสดใส
‘ภารกิจงานวิจัย เร่งด่วน ตรงเป้า’ ที่เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวง อว. ส่งผลให้การรับมือกับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม ซึ่งการถอดบทเรียนจากการทำงานครั้งนี้นับเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับวิกฤติครั้งต่อ ๆ ไปให้ดียิ่งขึ้น
“วิกฤติครั้งนี้ทำให้รู้ว่า การจะรับมือภาวะวิกฤติ เราต้องมีสมรรถนะมากพอ เร็วพอ เสถียรพอ ซึ่งเราต้องเรียนรู้ทุกอย่างอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ระบบการทำงานยังต้องตอบสนองอย่างรวดเร็ว ซึ่งการทำงานออนไลน์ตอบโจทย์อย่างมากในช่วงโควิด การปรับใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ดีให้เราผ่านวิกฤติไปได้”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หนึ่งในเสาหลักผู้เดินหน้าโครงการวิจัยต่าง ๆ ให้กับกระทรวง อว. อย่างต่อเนื่อง กล่าวถึงสิ่งสำคัญในการทำงานช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำว่า นอกจากศักยภาพของคนทำงานแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ การพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีของคนทำงาน เพราะหากสามารถปรับตัวใช้เทคโนโลยีได้อย่างชำนาญก็จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ทุกฝ่ายทำงานได้ง่ายขึ้นและช่วยประหยัดเวลาในการทำงานวิจัยต่าง ๆ ได้อย่างมากเลยทีเดียว
.
ด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจเช่นกันว่า “ประเทศไทยมีฐานความรู้ด้านงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงนักวิจัยที่มีศักยภาพอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งการมีกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่สามารถกำกับทิศทางการทำงานวิจัยให้ตอบสนองกับสถานการณ์ต่าง ๆ จะช่วยทำให้เราสามารถปรับตัวและรับมือกับแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที”
“อีกเรื่องที่สำคัญคือ การสื่อสารและทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ‘งานวิจัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว’ เพราะข้อมูลต่าง ๆ จากงานวิจัยและงานนวัตกรรมเพื่อป้องกันเชื้อไวรัส อย่างหน้ากากอนามัย หรือห้องความดันลบ ข้อมูลเชิงสถิติที่ใช้สำหรับการคาดการณ์การแพร่ระบาดที่นำไปสู่การออกมาตรการควบคุมโรค หรือแม้แต่ประสิทธิผลของวัคซีนชนิดต่าง ๆ ก็ล้วนมาจากงานวิจัยทั้งสิ้น ดังนั้นการสื่อสารกับประชาชนจึงจะทำให้ทุกคนได้ทราบว่า เงินภาษีที่ถูกนำมาใช้ในกองทุนเป็นสิ่งที่นำมาต่อยอด พัฒนานวัตกรรม และให้ความช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์วิกฤติ”
.
“นอกจากนี้ กระทรวง อว. ควรนำความรู้และนวัตกรรมที่มีไปขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติ รวมถึงเตรียมความพร้อมสู่อนาคต เพราะนอกจากองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่กว้างและลึกของชาว อว. จะใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาแล้ว ยังสามารถช่วยกำหนดทิศทางการเดินหน้าของประเทศไทยได้อีกด้วย”
ขณะที่ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองวิกฤติโควิด-19 ในอีกมุม โดยเชื่อว่า วิกฤติครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะปลูกฝังให้ประชาชนได้เรียนรู้ถึงการรับมือกับวิกฤติการณ์ในเบื้องต้น เพราะโลกใบนี้ยังมีความไม่แน่นอนอีกมากและปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ก็มีมากกว่าแค่โรคระบาด ดังนั้นการให้ประชาชนเรียนรู้ที่จะรับมือกับวิกฤติด้วยตนเอง จึงเป็นวิธีที่มีศักยภาพมาก ทั้งต่อการช่วยเหลือประชาชนและการบริหารจัดการสถานการณ์ของฝ่ายบริหาร
“หนึ่งในบทเรียนที่เรามองเห็นคือ ยิ่งรัฐบาลมีหนี้เยอะ การกู้มาเพื่อแก้ไขวิกฤติในอนาคตยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นด้วย ดังนั้นนอกจากคนทำงานแบบพวกเราแล้ว เราต้องเตรียมประชาชนให้พร้อมรับมือกับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้”
“แน่นอนว่าในภาครัฐเอง เราต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขวิกฤติและช่วยเหลือประชาชน การเตรียมประชาชนให้พร้อมรับมือกับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นอีกเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราจำเป็นต้องปลูกฝังเรื่องนี้ให้กับสังคมด้วย เพราะในระยะยาวแล้ว ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น มีมากกว่าแค่เรื่องโรคระบาด อาทิ สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรืออาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างเฉียบพลัน การปลูกฝังให้ประชาชนรู้จักการรับมือกับวิกฤติเบื้องต้น นอกจากจะทำให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ยังมีส่วนช่วยให้ภาครัฐรับมือกับปัญหาที่เบาลงกว่าที่ควรจะเป็นด้วย และนี่ยังเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามมาตลอด ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นในประเทศก็ตาม”
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.