“จากใจชาว อว.”
ภารกิจที่ 7 งานวิจัย เร่งด่วน ตรงเป้า รวมพลคนวิจัยสู้วิกฤติโควิด-19
การทำงานวิจัยทั้งเชิงนโยบาย การเรียนรู้ลักษณะและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรม อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ นับว่ามีผลอย่างมากต่อการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยงานวิจัยส่วนมากเป็นผลผลิตจากกระทรวงแห่งองค์ความรู้ อย่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ศึกษาค้นคว้าและผลิตผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือประชาชนคนไทยให้รับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นและช่วยบรรเทาสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้อย่างชัดเจน
ผลงานวิจัยทั้งหมดสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันจำกัด จากความพยายามและความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเรื่องราวการทำงานในช่วงเวลาวิกฤติที่ผ่านมา กำลังจะได้รับการบอกเล่าผ่าน 8 ตัวแทน จาก 8 หน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ที่มีบทบาทสำคัญด้านงานวิจัย ซึ่งจะกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ใช้รับมือกับวิกฤติการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
“วช. ปรับตัวรวดเร็วภายใต้สถานการณ์โควิด-19”
ตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ต้องปรับแผนงานอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้น ซึ่งด้วยสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ วช. ต้องปรับแผนงบประมาณการวิจัยเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้โดยเฉพาะ และจากการปรับตัวอย่างรวดเร็วนี้เองที่ทำให้มีผลงานวิจัยหลายชิ้นที่สามารถใช้รับมือกับสถานการณ์วิกฤติได้อย่างทันท่วงที
“เรื่องที่สำคัญที่สุดของการรับมือโควิด-19 คือความเข้าใจ เพราะโรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ ความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่จึงถือว่าน้อยมาก ดังนั้นงานวิจัยที่เราจำเป็นต้องทำออกมาอย่างเร่งด่วนคือ การวิจัยด้านระบาดวิทยา เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องการระบาดและการป้องกันการระบาด ผลวิจัยตรงนี้นี่เองที่เป็นหัวใจทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในเวลาต่อมา”
“ในส่วนต่อมาที่เราต้องรีบวิจัยคือ เครื่องมือป้องกัน อย่างหน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ซึ่งต้องคิดอย่างรวดเร็วว่าอุปกรณ์ใดมีความจำเป็น เพราะมีผลอย่างยิ่งต่อการบรรเทาและควบคุมสถานการณ์ โดยในตอนนั้น เรารีบตัดสินใจโยกงบจากงานวิจัยหลายชิ้นมาลงที่เรื่องโควิด-19 เพราะมองแล้วว่าจำเป็นต่อการควบคุมสถานการณ์ และผลที่ออกมาแสดงให้เห็นแล้วว่า การตัดสินใจที่รวดเร็วส่งผลในแง่บวกได้อย่างมหาศาล”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง
ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
—————————
“สวทช. เมื่อเวลามีค่ามากในยามวิกฤติ”
งานวิจัยนับเป็นหน้าที่หลักของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ในการช่วยเหลือสังคมไทยในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อลดผลกระทบต่าง ๆ จากสถานการณ์โรคระบาด ที่ถึงแม้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะปัจจุบันทันด่วนสักแค่ไหน แต่ สวทช. ก็สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงทีและมีผลลัพธ์ที่งดงามตามมา
“สวทช. ใช้ความเชี่ยวชาญของนักวิจัยในแต่ละสาขา เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 อาทิ ระบบบริการทางการแพทย์ทางไกล (A-MED Telehealth) เปลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย (PETE) หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวีซี (Girm Zaber) หมวกแรงดันบวก-ลบ (nSPHERE) หน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพสูง (Safie Plus) หน้ากากอนามัย n-Breeze ฯลฯ รวมถึงสนับสนุนการใช้บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้พิการ โดย สวทช. ได้แสดงศักยภาพในการสร้าง ‘นวัตกรรม’ อย่างเร่งด่วนและส่งมอบให้เกิดการใช้งาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมให้มีความปลอดภัยในช่วงเวลาที่ยากลำบาก”
“ในช่วงโควิด-19 โครงการอะไรที่ตอบโจทย์การช่วยเหลือสังคม เราได้รับอนุมัติจากผู้ใหญ่ให้เดินหน้าอย่างเต็มที่ ความยากของเรื่องนี้มีแค่การทำงานแข่งกับเวลา อย่างงานวิจัยหลายชิ้นที่ต้องใช้เวลาช่วงกลางคืนสรุปงาน ต้องทุ่มเทเพื่อผลลัพธ์ของงาน เพราะในห้วงภาวะวิกฤติตอนนั้น ไม่มีใครรู้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน ดังนั้นเวลาจึงมีค่าอย่างมาก ยิ่งงานของเราเสร็จเร็วแค่ไหนก็จะช่วยเหลือสังคมได้เร็วเท่านั้น”
คุณกุลประภา นาวานุเคราะห์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
—————————
“สกสว. ปรับแผนรับมือวิกฤติ”
หน้าที่หลักของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คือการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และกรอบงบประมาณ เพื่อจัดสรรทุนวิจัยต่าง ๆ ซึ่งในช่วงวิกฤติโรคระบาดที่ผ่านมา สกสว. ได้ปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณตามนโยบายของคณะกรรมการฯ พร้อมกับจัดตั้งโปรแกรมใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมต่อการรับมือและจัดการกับภาวะวิกฤติได้ดียิ่งขึ้น
“พอเกิดวิกฤติการณ์โควิด-19 เรามีการปรับการใช้งบประมาณ ให้มีงบราว 10% ไปใช้แก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยงบส่วนนี้ถูกนำไปใช้สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมสำหรับแก้ไขปัญหาโควิด-19 อาทิ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ รวมถึงการศึกษาเพื่อจัดทำมาตรการการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ขณะเดียวกัน ทุกหน่วยงานที่ทำงานร่วมกันกับเราก็ต้องปรับทิศทางการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 โดยการเอางานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการผลิต ใช้งานได้จริง และเป็นประโยชน์ต่อสังคม”
“สกสว. ยังมีการเพิ่มโปรแกรมที่ 17 การแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ (National Crisis Management) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีเป้าประสงค์ในการใช้ความรู้ การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อคาดการณ์ปัญหาและจัดการกับภาวะวิกฤติของประเทศไทยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเสียหายในระยะสั้น และทำให้สามารถบริหารจัดการประเทศและสังคมหลังภาวะวิกฤติได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว”
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล
ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
—————————
“วว. ช่วยสร้างความมั่นใจในการต่อสู้กับโควิด-19”
ความไม่เพียงพอของเครื่องมือทางการแพทย์ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนในช่วงแรกเริ่มของวิกฤติโควิด-19 ซึ่งช่องโหว่ตรงนี้เอง เป็นสิ่งที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. เล็งเห็นและจัดการอุดช่องโหว่ดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที อันส่งผลให้การจัดการกับปัญหาผู้ป่วยล้นที่ตามมาในระยะหลังมีความเสียหายน้อยลง ทั้งยังส่งผลกระทบในแง่บวกต่อการจัดการปัญหาโควิด-19 ในระยะยาวอีกด้วย
“ตอนที่โควิด-19 เข้ามาแรก ๆ หลายโรงพยาบาลมีห้องแรงดันลบใช้งานไม่เพียงพอ แต่ด้วยความที่ วว. มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยี การตรวจวัดและวิเคราะห์ ทั้งเรื่องแรงดัน การไหลตัวของอากาศ และการตรวจเชื้อโรคในบรรยากาศ ทางเราจึงเข้าไปช่วยปรับปรุงห้องแรงดันบวกเป็นห้องแรงดันลบ ตรวจสอบการรั่วไหลของอากาศ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อออกไปสู่บริเวณอื่น ๆ ในสถานพยาบาล ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้หลาย ๆ องค์กร รวมถึงโรงพยาบาลศิริราช และช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีความมั่นใจในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น”
“นอกจากนี้ ทาง วว. ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องเจลแอลกอฮอล์กับหน้ากากอนามัยขาดแคลน โดยใช้องค์ความรู้ที่มีในการผลิตเจลแอลกอฮอล์และน้ำยาอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) เพื่อฆ่าเชื้อโรค มาผลิตเจลแอลกอฮอล์เพื่อไปแจกจ่ายยังสนามบินและให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจให้กับทั้งคนทำงานในพื้นที่และประชาชนทั่วไป ทั้งยังเป็นการช่วยให้คนในประเทศสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้นในช่วงเวลาวิกฤติอีกด้วย”
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต
ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
—————————
“สอวช. นโยบายที่ดีทำให้ทำงานง่ายขึ้น”
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สอวช. เป็นสำนักงานที่มีหน้าที่นำเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ รวมถึงแผนด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้กับคณะรัฐมนตรี ซึ่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 ทาง สอวช. ได้มีบทบาทสำคัญในการทำงานเชิงนโยบายเพื่อกำหนดทิศทางรับมือกับโควิด-19 ในภาวะที่ทุกฝ่ายต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบาก
“ในช่วงการระบาดของโควิด-19 เราทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการกำหนดนโยบายเชิงบริหารไปถึงการอุดมศึกษา และหน่วยงาน SME ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังได้ทำถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือภาคประชาชน ดูแลนิสิตนักศึกษา รวมถึงคนที่ทำงานในโรงงาน โดยหวังจะช่วยเหลือให้ทุกภาคส่วนสามารถดำเนินชีวิตได้ง่ายขึ้นในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้”
“เรามีความเป็นห่วงทุกภาคส่วน โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาที่ยังเรียนกันอยู่ จึงประสานงานให้มีการสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและกำหนดนโยบายให้มีการสนับสนุนพวกเขา ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหวังให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้ เพราะหน้าที่หลักของเราคือ การกำหนดนโยบาย ซึ่งอาจไม่ได้ลงมือทำงานวิจัยเหมือนหน่วยงานอื่น ๆ แต่นโยบายที่ดีก็มีส่วนทำให้ทุกฝ่ายทำงานได้ง่ายขึ้นในช่วงเวลาวิกฤติ ตอนนั้น สอวช. จึงพยายามอย่างเต็มที่ในการพูดคุยและกำหนดทิศทาง เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยดี”
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์
ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
—————————
“TDRI วิจัยเชิงปฏิบัติการรับมือวิกฤติ”
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ตัดสินใจเดินหน้าทำ ‘วิจัยเชิงปฏิบัติการ’ (Action Research) แทนการวิจัยทั่วไป เพื่อตอบสนองต่อปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ได้ข้อสรุปที่ทันต่อสถานการณ์ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยงานวิจัยของ TDRI หลายชิ้นมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดทิศทางทางสังคม
“ต้องเข้าใจก่อนว่า สถานการณ์โควิด-19 ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นเราไม่มีบทเรียนในการรับมือจึงไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะรับมืออย่างไร ซึ่งทำให้ไม่สามารถทำงานวิจัยแบบเดิมได้ เราจึงใช้วิธีหากรณีเทียบเคียง โดยการใช้ข้อมูลจากต่างประเทศและลงพื้นที่ศึกษา เพื่อให้ท้ายที่สุดได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องและเป็นกลาง ที่สำคัญคือต้องรวดเร็วเพียงพอ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงไปในทุกวัน”
“ผลงานเด่น ๆ ของ TDRI คือเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม เพราะเราเป็นสถาบันวิจัยในด้านนี้ ดังนั้นเราจะไม่ได้แตะด้านสุขภาพมากนัก ส่วนแรกที่เราสะท้อนให้เห็นจากงานวิจัยคือ เรื่องของงบประมาณ โดยเราออกมากระตุ้นเตือนภาครัฐให้เน้นไปที่การจัดหาวัคซีน อีกส่วนคือ เรายังติดตามไปในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่า โครงการของรัฐทำงานได้ดีแค่ไหน ที่ถึงแม้ว่าภาครัฐอาจจะไม่ได้นำข้อเสนอของเราไปใช้ทั้งหมด แต่เมื่อเสียงของเราส่งไปถึงและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย สิ่งเหล่านั้นก็สามารถสะท้อนกลับมาช่วยเหลือประชาชนที่กำลังยากลำบากได้เหมือนกัน”
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร
นักวิชาการอาวุโส
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
—————————
“SICRES ศึกษา วิจัย เพื่อความมั่นใจในการฉีดวัคซีน”
โควิด-19 เป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วประเทศ การมีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดมาทำงานวิจัยศึกษาและให้คำแนะนำ จึงเป็นการช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับวิกฤติครั้งนี้ได้ดียิ่งขึ้น ดังที่ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก หรือ SICRES ได้ชี้นำสังคมไทยด้วยความรู้ทางวิชาการและงานวิจัย โดยอาจารย์ยืนยันมาตั้งแต่แรกเริ่มว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นเครื่องมือสำคัญของการต่อสู้กับโรคระบาดครั้งนี้
“ที่ผ่านมา เราเจอกับโรคระบาดใหญ่ ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งวัคซีนคือ ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ในฐานะคนทำงานด้านวัคซีน ทำให้รู้ชัดว่า วัคซีน คือคำตอบสุดท้ายของการจัดการโรคโควิด-19 โดยในระยะแรกมีวัคซีนเพียงซิโนแวคกับแอสตราเซเนกา ต่อมาจึงมีวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ เราจึงได้เห็นข้อมูลเปรียบเทียบเชิงลึกระหว่างวัคซีนแต่ละชนิด ซึ่งการอาศัยความชำนาญพิเศษของอาชีพแพทย์สาขาโรคติดเชื้อเด็ก ร่วมกับทีมแพทย์และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอื่น ๆ ทำให้เราสามารถศึกษาวัคซีนเหล่านี้ และผลการศึกษาก็ถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อการตัดสินใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อไป”
“มีหลายคนที่มาขอบคุณ ทั้งส่วนตัวและขอบคุณผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะเราได้ให้ข้อมูลวัคซีนที่เป็นประโยชน์สู่สาธารณะ จนเกิดความกระจ่าง ทำให้เขาตัดสินใจไปรับวัคซีนและปลอดภัยจากโรค ตรงนี้เป็นสิ่งที่ดีใจที่ได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อีกเรื่องที่ดีใจมากคือ การเห็นยอดผู้เสียชีวิตลดลงโดยตลอด ตรงนี้ต้องบอกเลยว่า เป็นเพราะคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน แม้วัคซีนจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง ไม่เจ็บป่วยหนัก หรือถึงขั้นเสียชีวิต”
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (SICRES)
—————————
“ChulaCov19 กับการพัฒนาวัคซีนสัญชาติไทย”
จุฬาคอฟไนน์ทีน (ChulaCov19) เป็นเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) วัคซีนสัญชาติไทย สำหรับป้องกันโรคโควิด-19 เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากทางรัฐบาลอย่างเต็มที่ ข่าวดีคือ ขณะนี้สามารถผลิตในประเทศไทยได้แล้ว และกำลังทดสอบในอาสาสมัคร โดยหวังว่า จะสามารถขึ้นทะเบียนวัคซีนรุ่นที่ 2 และนำมาใช้ได้ภายในปีหน้า
“เป้าหมายตอนแรกคือ ทดสอบในอาสาสมัครให้เรียบร้อยและขึ้นทะเบียน ChulaCov19 รุ่นแรก ภายในปี 2565 แต่เกิดความล่าช้ากว่าแผนมาก เนื่องจากระบบขั้นตอนการพิจารณาในประเทศยังไม่คล่องตัว จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นการพัฒนาและผลิตเพื่อทดสอบวัคซีนรุ่นที่ 2 สำหรับเชื้อสายพันธุ์ใหม่แทน โดยคาดว่า จะสามารถขึ้นทะเบียนและนำมาใช้ได้ภายในปลายปี 2566”
“ความยากของเรื่องนี้อาจเป็นความยากเชิงระบบ แต่การที่เราคิดค้น พัฒนา และหาเอกชนไทยมาผลิตวัคซีนด้วยตัวเองได้ จะทำให้เรามีโครงสร้างการผลิตวัคซีนด้วยตัวเองอย่างครบถ้วน เพราะธรรมชาติแล้วโรคระบาดมักจะมาทุก ๆ 7 ปี การที่เราสามารถผลิตวัคซีนด้วยตัวเองได้อย่างครบวงจร จะทำให้ในอนาคต ถ้ามีโรคระบาดมาอีก เราจะสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาหรือรอความช่วยเหลือจากต่างประเทศอีกต่อไป”
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม
ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19
ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.