“การต่อยอดจากวิกฤติโควิด-19”
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้ประกาศตัวขอเป็นกองหนุนให้กับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการอาสามาทำหน้าที่ดูแลและควบคุมสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทย เริ่มต้นด้วยฝั่งอุดมศึกษาที่รวบรวมทรัพยากรเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและศูนย์ฉีดวัคซีน ก่อนขยับขยายไปสู่โครงการ ‘อว.พารอด’ เพื่อส่งกำลังใจให้กับผู้ป่วยที่รักษาตนเองผ่านกระบวนการ Home Isolation
“โครงการ อว.พารอด เริ่มตั้งแต่การให้กำลังใจผู้ป่วยจากทั้งผู้มีความรู้และประสบการณ์ อินฟลูเอนเซอร์ภายในกระทรวงฯ นักกีฬาทีมชาติ ดารานักแสดงที่โทรไปให้กำลังใจและแนะนำวิธีการดูแลตัวเองที่บ้าน พร้อมกันนี้ เรายังส่งของใช้จำเป็นต่าง ๆ ไปให้กับผู้ป่วยถึงที่บ้าน ในระหว่างนั้น ฝั่งวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมก็ร่วมด้วยช่วยกันคิด เพื่อแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์โควิด-19 เช่น ศูนย์ข้อมูลที่จัดส่งข้อมูลให้กับทางรัฐบาล การสร้างห้องความดันลบให้โรงพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกมากมาย”
“เราระดมทั้งมันสมอง กำลัง และเทคโนโลยีมาช่วยกัน อุปสรรคเดียวของเราคือความไม่รู้ เพราะโควิด-19 คือสิ่งใหม่และเป็นสิ่งไม่คาดฝัน จึงต้องทำงานด้วยข้อมูลเท่าที่มี ซึ่งกลายเป็นความประทับใจที่ทุกคนมอบความช่วยเหลือเข้ามาทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของความรู้ เทคโนโลยี และทุนทรัพย์ ที่สำคัญยังแสดงให้เห็นว่าบุคลากรของเรามีความสามารถและเก่งไม่แพ้ใคร ผมเชื่อว่าถ้าเราสนับสนุนและพัฒนาทั้งคนและเทคโนโลยีไปพร้อม ๆ กัน จะเป็นการต่อยอดที่คุ้มค่าอย่างมาก”
รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง
อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
—————————
“วิทยาศาสตร์บริการประชาชน”
ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้รู้จักกับโรคโควิด-19 ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ขณะดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งมีบทบาทในการสู้ภัยโควิด-19 มาตั้งแต่ต้น จวบจนเข้าสู่ภาวะคับขันเมื่อบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันโรค กรมวิทยาศาสตร์บริการจึงจับมือกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนนับสิบแห่งเพื่อพัฒนาชุด ‘PPE ซักได้’ ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก
“เราพัฒนาสูตรเจลแอลกอฮอล์ที่เป็นสูตรเฉพาะของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ถ่ายทอดต่อไปยังหน่วยงาน รวมถึงประชาชนที่อยากทำวิสาหกิจเล็ก ๆ นอกจากนี้ กรมยังสร้าง ‘หุ่นยนต์ปิ่นโต’ ช่วยส่งอาหารและยาให้กับคนไข้ และเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย กรมเป็นหน่วยงานหลักของ อว. Clear and Clean ในการทำลายเชื้อโควิดที่ศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม ศูนย์ฉีดวัคซีน และโรงเรียน เพื่อคืนพื้นที่ปลอดภัยให้กับประชาชน”
“ในขณะที่ยังต้องรับผิดชอบงานหลักไปด้วย เราประทับใจความไม่เกี่ยงงานของบุคลากรจิตอาสา ไม่ว่าจะเสี่ยงแค่ไหน พวกเขาพร้อมเสียสละลงพื้นที่ ถึงแม้ว่าเราจะมีความกลัวในใจไม่ต่างกัน และนับเป็นเรื่องน่าเศร้าที่มีเจ้าหน้าที่ของเราหนึ่งคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 แต่ก็กลับกลายเป็นแรงใจสำคัญในการรวมพลังเพื่อกำจัดโรคโควิด-19 ไปให้ได้ และเราก็เชื่อว่าเมื่อเกิดวิกฤติขึ้นอีกครั้งในอนาคต หากเรานำความรู้มาแชร์ มาร่วมกันแก้ไข วิกฤติก็จะกลายเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้มาทำคุณงามความดีร่วมกัน”
ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์
ผู้ตรวจราชการ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)
—————————
“พิพิธภัณฑ์เพื่อความรู้ เพื่อชุมชน”
จากภารกิจหลักของ อพวช. ในการสร้างแรงบันดาลใจทางวิทยาศาสตร์ให้กับประชาชน เมื่อต้องเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 จึงไม่สามารถเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ได้ เมื่อเด็กไม่ได้ไปโรงเรียนและไม่ได้มาพิพิธภัณฑ์ ทาง อพวช. จึงเป็นหน่วยงานแรก ๆ ที่ทำรายการออนไลน์ชื่อ ‘Science Delivery’ และต่อยอดด้วยการส่งอุปกรณ์สิ่งของไปถึงบ้านและโรงเรียนเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ทดลองไปพร้อม ๆ กับการไลฟ์บนช่องทางออนไลน์จนเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ของการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในอนาคต
“เมื่อกระทรวง อว. มีโครงการ อว.พารอด ทาง อพวช.จึงขอเป็นกองหนุน โดยเมื่อมีการร้องขอจากชุมชนโดยรอบพิพิธภัณฑ์เข้ามา คนของเราก็ยินดีทำให้ทั้งหมดเท่าที่จะทำได้และสามารถจัดตั้ง ‘ศูนย์บริการโควิดชุมชน’ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งความใกล้ชิดกับชุมชนทำให้เราได้มีโอกาสรับรางวัลพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนและสังคม (Museum for Community Award) จากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ”
“การที่เราได้ทำงานกับหลายภาคส่วนที่ล้วนมีความตั้งใจเดียวกัน ถือเป็นอีกประสบการณ์อันอบอุ่น โดยเราสามารถเป็นได้ทั้งแหล่งความรู้ทางวิชาการและแหล่งความช่วยเหลือให้กับประชาชนในยามวิกฤติ ซึ่งหลังจากศูนย์บริการโควิดชุมชนของเราปิดลง ความต้องการที่ตามมาคือ ‘ศูนย์ฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก’ เนื่องจาก อพวช.มีสถานที่ขนาดใหญ่ เราจึงมีบทบาทในการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนภายในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีขึ้นพร้อมกับทีมงานจิตอาสาของ อพวช. และได้ให้บริการกับเด็ก ๆ ไปเป็นจำนวนนับหมื่นคน”
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์
ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
—————————
“นักวิจัย (ก็) พารอดได้”
เพื่อสนับสนุนการการต่อสู้โควิด-19 ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเต็มความสามารถ กรมวิทยาศาสตร์บริการซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการและห้องวิจัยกลางของประเทศ มีความรู้ทางด้านวัสดุศาสตร์ เคมี และชีวภาพอย่างพรั่งพร้อม จึงได้นำความเชี่ยวชาญและทรัพยากรทั้งหมดที่มีมาสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งการผลิตนวัตกรรมชุดป้องกันเชื้อโควิด-19 หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ ไปจนถึงหุ่นยนต์ รวมถึงการทำภารกิจบริการภาคประชาสังคมด้วย
“อว. พารอด เป็นโครงการใหญ่ที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และอุปกรณ์ยังชีพแก่ผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งมีหลายอย่างที่เราเป็นคนสนับสนุนและยังอำนวยความสะดวกโดยมอบสถานที่เป็นห้องเก็บของเพื่อควบคุมคุณภาพ มีการจัดการสต็อกตามความเหมาะสม รวมทั้งเข้าช่วยเหลือชุมชนโดยรอบด้วยการมอบอุปกรณ์ยังชีพและประสานให้ผู้ป่วยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล อาจจะมองว่าคล้าย CSR เรากลับไม่คิดเช่นนั้น แต่มองว่าเป็นภารกิจที่เราต้องทำในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน”
“แม้ในตอนแรกเราจะมองว่าสถานการณ์นี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เสียมากกว่า แต่จริง ๆ แล้วกรมวิทยาศาสตร์บริการก็สามารถช่วยเหลือและฝ่าฟันอุปสรรคนี้ไปพร้อม ๆ กันได้ ด้วยทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่เรามี ที่สำคัญคือ ภารกิจหลักของ อว. คือ การบริการ การสร้างคน สร้างความรู้ แน่นอนว่าในอนาคตจะมีโรคระบาดใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีก เมื่อเรานำคนที่มีความรู้มาสร้างนวัตกรรม ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของแต่ละภาคส่วนสามารถรวมพลังกันช่วยเหลือสังคมได้”
ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)
—————————
“วิกฤติที่ช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่”
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติรูปแบบใหม่สำหรับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยนอกเหนือจากหน้าที่หลักในการส่งมอบความรู้ผ่านการเรียนการสอนและการทำงานผ่านระบบออนไลน์แล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทายังมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือสังคม กับการเปิดพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมกับทำหน้าที่สนับสนุนบุคลากรทางแพทย์ในการให้บริการวัคซีนและดูแลผู้ป่วย ตลอดจนการผลิตอาหาร ขนม และน้ำดื่ม เพื่อมอบให้กับประชาชนตามแหล่งชุมชนโดยรอบ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร วิทยาเขตนครปฐม และศูนย์การศึกษาต่างจังหวัดของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
“ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เกิดคลัสเตอร์ผู้ป่วยซึ่งเป็นกลุ่มบุคลากรที่พักอาศัยในบ้านพักของมหาวิทยาลัย เราจึงนำมาตรการ Bubble and Seal มาใช้ เพื่อบริหารจัดการป้องกันและควบคุมโรค ทำให้เห็นถึงความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือภายในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ เรายังได้ขอความอนุเคราะห์รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน เพื่อมาให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับนักเรียน นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชนใกล้เคียงด้วย”
“การทำงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้เห็นถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพยายามฝ่าฟันวิกฤติในครั้งนี้ไปด้วยกัน ทั้งยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้น โดยสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเกิดนวัตกรรมการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาขอขอบคุณกระทรวง อว. ที่ให้โอกาสและเชื่อมั่นในศักยภาพของมหาวิทยาลัย ทั้งด้านบุคลากรและสถานที่ ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับประสบการณ์รูปแบบใหม่และมีโอกาสได้ช่วยเหลือภาคประชาชนและตอบแทนประเทศชาติ”
รศ.ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
—————————
“ภารกิจเชิงรุกเพื่อผู้เปราะบาง”
ถ้าพูดถึงบทบาทของการเป็นหน่วยสนับสนุนการบริหารจัดการสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล คงต้องแบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ หน้าที่วินิจฉัยยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน ในฐานะห้องปฏิบัติการอันดับต้น ๆ ที่ได้รับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่วนบทบาทที่สองนั้น มุ่งเน้นไปที่ปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อป้องกันการระบาดในชุมชนและพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ
“หน่วยปฏิบัติการเชิงรุกของเราต่างจากหน่วยอื่น ๆ เพราะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังในทัณฑสถาน กลุ่มคนไร้บ้าน หรือกลุ่มคนพิการ ซึ่งเดิมทีเป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้มากนักและมีโอกาสกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ได้ง่าย นึกภาพว่าในเรือนจำที่มีผู้ต้องขังกว่า 8,000 คน หากเราควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์อย่างแน่นอน หรือในช่วงระบาดระลอก 2 เราก็มีบทบาทมาก ๆ กับการควบคุมการระบาดของกลุ่มแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร”
“อุปสรรคสำคัญคือความไม่มั่นคงในระบบสาธารณสุขของบ้านเรา โดยเฉพาะความพร้อมในวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สวนทางกับปฏิบัติการเชิงรุกของเรา หากถอดบทเรียนแล้วมองการรับมือในอนาคต ผมมองว่าต้องมีการรวมศูนย์เพื่อบริหารสถานการณ์ บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน เตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรเพื่อเตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต มีการซักซ้อมผ่านสถานการณ์จำลอง สร้างบทบาทที่ชัดเจน และเชื่อมโยงข้อมูลอย่างมีเอกภาพ สื่อสารสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เราก็น่าจะรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น”
ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา
คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
—————————
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.