?️ซินโครตรอนไทยร่วมโปรเจกต์สร้างแผนที่สามมิติสมองครั้งแรกของโลก?
?ปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคทางประสาทหลายๆ โรค เช่น โรคสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ โรคออทิสติก และโรคซึมเศร้า และระบบประสาทของมนุษย์นั้นยังมีความซับซ้อน และมีเซลล์ประสาทเป็นจำนวนมาก ดังนั้น 6 ห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอนในเอเชีย-แปซิฟิก จึงรวมตัวกันภายใต้โครงการ SYNAPSE เพื่อสร้างแผนที่สามมิติเครือข่ายเซลล์ประสาทของสมองมนุษย์เป็นครั้งแรกของโลก สำหรับเป็นฐานข้อมูลและเป็นกุญแจสำคัญในการหาแนวทางรักษาโรคเหล่านี้ ซึ่งซินโครตรอนไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ล่าสุด
ภูเก็ต – สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุม “Microscopic Mapping of the Entire Human Brain - 2022 General Assembly of the SYNAPSE Asia-Pacific Enterprise”ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมเคปพันวา จังหวัดภูเก็ต เพื่อหารือความร่วมมือกันในการสร้างแผนที่สามมิติของสมองมนุษย์ รวมถึงอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดความรู้ทางด้านเทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้ทำบันทึกความเข้าใจระหว่างโครงการ SYNAPSE และสถาบันฯ ภายในการประชุมครั้งนี้
รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “โครงการ Synchrotron for Neuroscience – an Asia-Pacific Strategic Enterprise หรือ SYNAPSE มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างแผนที่เครือข่ายเซลล์ประสาทของสมองมนุษย์ โดยใช้เทคนิค Synchrotron X-ray microscopy ที่แสดงรายละเอียดของเครือข่ายเซลล์ประสาทได้ ซึ่งทำให้เข้าใจการทำงานของระบบสมองได้มากขึ้น และนำไปช่วยวินิจฉัย หรือรักษาโรคทางระบบประสาทต่างๆ ได้ในอนาคต ปัจจุบันมีสมาชิกในโครงการจาก 6 ห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอนในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ Pohang Light Source จากเกาหลีใต้, Shanghai Synchrotron Radiation Facility จากจีน, SPring-8 จากญี่ปุ่น, Singapore Synchrotron Light Source จากสิงคโปร์, Taiwan Photon Source จากไต้หวัน และ Australian Synchrotron จากออสเตรเลีย ซึ่งสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนของไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกล่าสุด”
?“เป้าหมายของโครงการ SYNAPSE คือ การจัดสร้างแผนที่โครงข่ายเซลล์สมองในรูปแบบแผนที่สามมิติภายใน 4 ปีจากสมองมนุษย์ 1 สมอง และพัฒนาระบบถ่ายภาพเอกซเรย์โทโมกราฟีสามมิติให้มีความเร็วเพิ่มขึ้นมากกว่า 1000 เท่า เพื่อจัดทำแผนที่โครงข่ายเซลล์ประสาทให้บรรลุตามเป้าหมายโครงการ ซึ่งเทคนิคเดิมนั้นต้องใช้เวลาหลายร้อยปี แต่การใช้เทคนิคซินโครตรอนจะร่นเวลาเหลือเพียง 2-3 ปี โดยจะแบ่งสมองมนุษย์ออกเป็น 7 ส่วนให้ประเทศสมาชิกนำไปถ่ายภาพเอกซเรย์โทโมกราฟีสามมิติ จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มารวมกัน ทำให้สร้างแผนที่สามมิติของสมองได้รวดเร็วขึ้น และจะเป็นครั้งแรกของโลกที่มีแผนที่สมองที่แสดงรายละเอียดการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาท นักประสาทวิทยา แพทย์ และนักวิจัย สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อไปได้” รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ กล่าว
นอกจากนี้การสร้างแผนที่โครงข่ายเซลล์สมองในรูปแบบแผนที่สามมิติยังต้องจัดเก็บข้อมูลรูปภาพเป็นจำนวนมาก กลุ่ม SYNAPSE และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีซินโครตรอนในแถบเอเชีย-แปซิฟิก จึงรวมตัวกันเพื่อจัดเก็บข้อมูลภาพถ่าย และประมวลผลข้อมูล รวมทั้งหารือร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีซินโครตรอน ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา (neurobiology) และผู้เชี่ยวชาญวิทยาการประมวลผลคอมพิวเตอร์ขั้นสูงภายในประชุมนี้
?“ภายในการประชุมจึงมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดความรู้ทางด้านเทคนิคต่างๆ ทั้งการพัฒนาอุปกรณ์ และเทคนิคในการถ่ายภาพความละเอียดสูง รวมถึงการประมวลผล การจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยของสถาบันฯ และการพัฒนาระบบลำเลียงแสงสำหรับการถ่ายภาพด้วยแสงซินโครตรอนที่มีความละเอียดสูง และสามารถนำไปต่อยอดในการถ่ายภาพสำหรับงานวิจัยทางด้านอื่นๆ ต่อไปได้ในอนาคต” รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ กล่าว
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) SLRI
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.