“ถอดบทเรียนการต่อสู้กับโควิด-19”
ภารกิจที่ 8 หน่วยสนับสนุน อว. (อว.พารอด) สร้างความมั่นคงสู่ความพร้อมทุกสถานการณ์
หลังต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดมานานหลายปี โควิด-19 ได้มอบประสบการณ์และบทเรียนให้กับประเทศไทยหลากหลายอย่าง ภาพของบรรดาจิตอาสาและสิ่งของบริจาคจำนวนมากจากทั่วสารทิศ นำมาสู่การตั้งคำถามถึงเรื่องความมั่นคงของประเทศต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ความขาดแคลนในวันก่อนจะกลายเป็นบทเรียนไปสู่ความมั่นคงในวันข้างหน้า?
“เราได้รู้แล้วว่าทั้งบุคลากรและเทคโนโลยีของกระทรวง อว. เก่งไม่แพ้ใคร นอกเหนือจากการพัฒนาตัวเองภายในองค์กรแล้ว เรายังนำศักยภาพเหล่านี้ไปพัฒนาสิ่งอื่น ๆ ในภาพใหญ่ระดับประเทศได้ด้วย หรือจะเป็นประเทศอื่นก็ได้” รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนภารกิจหน่วยสนับสนุน อว. (อว. พารอด) คนสำคัญ ได้เปิดเผยถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา ที่ถึงแม้จะเกิดในห้วงวิกฤติ แต่ภาพที่มองต่อไปในอนาคตคือ ภาพรวมของประเทศที่จะเดินหน้าต่ออย่างมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ และสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติได้ด้วย
ด้าน ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้บอกเล่าถึงภารกิจต่อสู้กับโควิด-19 ว่าในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวง อว. ทำให้ทุกหน่วยงานจำเป็นต้องค้นหาศักยภาพของตนเองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจให้ได้ “กรมวิทยาศาสตร์บริการจะไม่ใช้วิธีแจกของอย่างเดียว เพราะแจกเท่าไรก็ไม่มีทางพอ เราจึงมุ่งเน้นไปที่แนวคิดว่า ทำอย่างไรให้คนอื่น ไม่ว่าจะหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน หรือภาคประชาชน สามารถนำองค์ความรู้ของเราไปพัฒนาต่อได้ นี่จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมที่ตอบโจทย์ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมของภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม”
จากความยากลำบากที่ผ่านมา ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำภารกิจช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางมาตั้งแต่การระบาดระลอกแรกก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ประเทศไทยต้องมีการเตรียมความพร้อมและความมั่นคงทางด้านอุปกรณ์เวชภัณฑ์ให้มากกว่าที่เคยเป็น เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ เพราะเมื่อถึงจุดวิกฤติ ทุกประเทศต่างล้วนมีความต้องการและต้องแย่งชิงกันเพื่อให้ได้มาครอบครอง
“เราเจออุปสรรคมาเยอะมาก โดยเฉพาะช่วงต้นของการระบาด ที่เราขาดทั้งชุด PPE ทั้งหน้ากาก N95 เมื่อเราพาทีมงานออกไปตรวจเชิงรุกตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีการระบาด เราต้องเปิดรับบริจาคหรือแม้แต่วิ่งหาซื้ออุปกรณ์กันเอง ดึกดื่นแค่ไหนก็ต้องไป เพื่อให้ทีมงานมีอุปกรณ์ป้องกันตัวที่ดีที่สุดในทุกครั้งก่อนเริ่มงาน จากแต่เดิมที่ประเทศไทยไม่มีกระบวนการวิจัย พัฒนา รวมถึงผลิตอุปกรณ์เหล่านี้มากนัก พอเผชิญหน้ากับวิกฤติอย่างฉับพลัน ทุกอย่างจึงขาดแคลน”
“เมื่อถอดบทเรียนการรับมือวิกฤติ ผมจึงมองว่าการใช้นโยบายรวมศูนย์เพื่อการจัดการเชิงระบบเป็นสิ่งที่ประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดีในการบริหารจัดการโควิดที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตต้องไม่มองข้ามการบูรณาการและส่งเสริมการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน ถ้ามีครบ 4 ปัจจัยนี้ เราจะสามารถตัดตอนและรวบรัดการบริหารสถานการณ์ได้ดีขึ้นมาก”
“ในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรเพื่อรองรับโรคอุบัติใหม่ ทั้งเครื่องมือแพทย์ น้ำยาทำความสะอาด หรือแม้แต่วัคซีนที่จะทำให้เรามั่นคง พึ่งพาตนเองได้ เพราะผมเชื่อว่าจะต้องมีโรคอุบัติใหม่ขึ้นมาอีก การซักซ้อมและฝึกปฏิบัติการทำงานร่วมกันผ่านสถานการณ์จำลอง จะทำให้คนทำงานทุกส่วน ตั้งแต่ผู้ทำงานด่านหน้าไปจนถึงฝ่ายจัดสรรทรัพยากร มีบทบาทการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังขาดการบริหารข้อมูลอย่างมีเอกภาพ ทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการสื่อสารสาธารณะยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร หากเราสามารถเตรียมความพร้อมทั้งหมดนี้ได้ก็น่าจะสามารถรับมือกับวิกฤติได้ดีมากทีเดียว”
นอกเหนือจากการวางแผนและเตรียมความพร้อมของระบบการทำงานแล้ว อีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยให้การรับมือกับวิกฤติในอนาคตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นคือ ทรัพยากรบุคคล เหมือนกับที่ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เห็นถึงการร่วมแรงร่วมใจของคนทำงานและจิตอาสา “ถึงแม้อุปกรณ์ไม่พร้อม แต่หากคนทำงานมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือ เราก็สามารถก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปได้เช่นกัน”
ไม่ว่าวันข้างหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าหากคนพร้อม ระบบการทำงานพร้อม การบริหารจัดการพร้อม อุปกรณ์พร้อม การสื่อสารสาธารณะพร้อม ประสบการณ์ที่ได้รับมาอย่างล้นหลามจากการต่อสู้กับโควิด-19 จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้ประเทศไทยไม่หวั่นไหว…ต่อให้ต้องเผชิญกับวิกฤติที่รุนแรงอีกกี่ระลอกก็ตาม
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.