“อว. ทำอะไรเพื่อคนไทยบ้าง”
ภารกิจที่ 9 ข้อมูลวิชาการถูกต้อง รวดเร็ว ฉับไว
เดือนธันวาคม 2562 ไวรัส SARS-Cov2 ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ลุกลามไปทั่วโลกภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยนอกจากเชื้อไวรัสแล้ว สิ่งที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วไม่แพ้กันคือ ‘ข้อมูลข่าวสาร’ เพื่อการเฝ้าระวังการลุกลามที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก
แน่นอนว่าโรคระบาดที่คร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมาก ซ้ำร้ายกว่านั้นยังติดต่อกันอย่างง่ายดาย ย่อมเป็นที่จับตามองจากกลุ่มแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ขณะที่ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มีความรู้ลึกซึ้งทางด้านการแพทย์ การได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง แม่นยำ และเข้าใจง่าย จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการเฝ้าระวังตนเองและคนรอบตัวให้มีชีวิตที่ปลอดภัย
นับตั้งแต่มีข่าวคราวการระบาดของโรคเกี่ยวกับปอดและทางเดินหายใจจากประเทศจีนตั้งแต่ปลายปี 2562 ‘สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)’ ถือเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ที่เดินหน้าทำงานด้านข้อมูลข่าวสารมาตั้งแต่ต้น โดยทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อในต่างประเทศ ควบคู่ไปกับข้อมูลทางวิชาการ นำเสนอต่อสาธารณชนผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และช่องทางหลักของ ‘ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)’ เพื่อให้คนไทยเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวต่อการมาถึงของโรคระบาดได้อย่างทันท่วงที
ขณะเดียวกัน วช. ยังมีหน้าที่สนับสนุน ‘ทุนวิจัยและนวัตกรรม’ เพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีผลงานวิจัยของ ‘ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ’ หรือ ‘หมอยง’ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง โดยเฉพาะผลงานวิจัย ‘การฉีดวัคซีนสูตรต่าง ๆ’ ที่ท้ายที่สุดแล้วกลายเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศไทยได้นำไปใช้งานจริงในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน นอกจากนั้น หมอยงยังใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก คอยให้ความรู้ทางการแพทย์กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับ ‘ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา’ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เลือกใช้โลกออนไลน์สื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดกับประชาชน ควบคู่ไปกับการเขียนคอลัมน์ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์
อีกมุมหนึ่ง ‘ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์’ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รวมถึง ‘ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา’ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเน้นไปที่การใช้ตัวกรองเพื่อสื่อสารข้อมูลทางการแพทย์อันซับซ้อนและตอบคำถามคลายความกังวลของสังคม ซึ่งตัวกรองที่ว่านี้คือ ‘สื่อมวลชน’ อย่างรายการข่าวทางโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมสูง เช่น รายการโหนกระแส ทางช่อง 3 แล้วเปิดกว้างให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจและตัดสินใจด้วยตนเอง
สำหรับการจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ หนึ่งในหน่วยงานที่มีความโดดเด่นอย่างมากในช่วงวิกฤติโควิด-19 ต้องยกให้กับ ‘คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ โดย ‘ศ.เกียรติคุณ ดร.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์’ และทีมงาน ที่ร่วมกันจัดทำ ‘Chiang Mai COVID-19 Hospital Information System (CMC-19)’ เพื่อบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในทุกด้าน ทั้งจำนวนการตรวจหาโรค จำนวนผู้ติดเชื้อ และจำนวนผู้ฉีดวัคซีนในจังหวัดเชียงใหม่อย่างเป็นระบบ จนกลายเป็นการเคลื่อนไหวระดับชาติกับการนำชุดข้อมูลเหล่านี้ไปประเมินสถานการณ์และนำไปสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในท้ายที่สุด
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.