“ถอดบทเรียนการต่อสู้กับโควิด-19”
ภารกิจที่ 9 ข้อมูลวิชาการถูกต้อง รวดเร็ว ฉับไว เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อตั้งการ์ดให้สังคม
ในยุคสมัยนี้ คงไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางใดที่จะสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงคนจำนวนมากได้เท่ากับสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่ง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นหนึ่งในนักวิจัยไทยที่ใช้ช่องทางการสื่อสารนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ที่ผ่านมาจะพบว่า คนไทยจำนวนมากรับข้อมูลข่าวสารที่ผิดพลาดหรือที่เรียกว่า ข่าวปลอม (Fake News) จากทางโซเชียลมีเดียก็ตาม ฉะนั้น ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ จึงใช้วิธี ‘หนามยอกเอาหนามบ่ง’ ตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทยเสียอีก
“ปัจจุบันนี้คนไทยเชื่อข้อมูลในโซเชียลมีเดียมากเกินไปแล้วทำให้เกิดความเครียด ความกังวล เมื่อปัญหาเกิดจากสื่อสังคมออนไลน์ เราจึงหันมาให้ความรู้บนโลกออนไลน์ด้วยเสียเลย อย่างทันทีที่พบว่ามีการให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่ผิด เราก็ทำให้มันถูก ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่นั้นก็เป็นวิจารณญาณส่วนบุคคล เมื่อทำมาเรื่อย ๆ ทำให้เรารู้ว่าสื่อช่องทางนี้มีอิทธิพลอย่างมากและส่งผลกระทบค่อนข้างสูง แล้วเราก็ต้องการสังคมที่อุดมปัญญามากกว่าสังคมที่เชื่อกันง่าย ๆ ต้องการสังคมที่พูดคุยกันด้วยเหตุผลอยู่แล้ว เมื่อมาถึงช่วงเริ่มต้นการระบาดของโควิด-19 เราจึงนำข้อมูลทางการแพทย์อย่างรหัสพันธุกรรมที่นำเข้าจากต่างประเทศมาพัฒนาถอดรหัสพันธุกรรมต่อทันที เพราะฉะนั้น ความรู้ต่าง ๆ ที่นำมาบอกเล่าสู่กันฟังจึงมาจากงานวิจัยและการสร้างองค์ความรู้ด้วยฝีมือคนไทยล้วน ๆ ไม่ใช่การนำข้อมูลจากแหล่งข่าวหรือผลงานการวิจัยของคนอื่นมาเล่าต่อ”
จากความสามารถของนักวิจัยไทยได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การพัฒนาการตรวจโรค หรือการหาที่มาของโรค ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนเกินความสามารถ ในทางกลับกันก็มีจุดอ่อนปรากฏให้เห็นชัดเจนว่า ผลงานนักวิจัยไทยไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ เพราะไม่มีคนกลางนำผลงานเหล่านั้นออกไปสู่ภาคอุตสาหกรรม อีกเหตุผลหนึ่งที่ชัดเจนคือ คนไทยมีค่านิยมที่เชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศมากกว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ จึงมองว่าด้วยสองสาเหตุนี้เองที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียเงินจำนวนมากให้กับต่างประเทศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
“ทุกครั้งที่ได้ข้อมูลใหม่จากงานวิจัย เราจะเปิดเผยให้สังคมได้รับทราบ และการเผยแพร่่ที่ดีที่สุดในมุมมองของผม แน่นอนว่าเป็นสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีการโพสต์เฉลี่ยวันละครั้ง ซึ่งผลตอบรับนั้นย่อมมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ ผมมองว่าดีกว่าออกไปพูดทางโทรทัศน์หรือวิทยุเสียอีก เพราะท้ายที่สุดแล้วสื่อต่าง ๆ ก็จะนำข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ของเราไปเผยแพร่ต่ออยู่ดี เมื่อองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เราสร้างขึ้น ได้รับการถ่ายทอดต่อก็นำไปสู่ประโยชน์อันมหาศาลต่อสังคม”
เมื่อว่าด้วยเรื่องของการถอดรหัสพันธุกรรมแล้ว หนึ่งในหน่วยงานที่แม้แรกเริ่มเดิมทีจะไม่ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับโรคระบาดโดยตรง แต่ด้วยอุปกรณ์ถอดรหัสพันธุกรรมที่พรั่งพร้อมและเริ่มทำงานได้รวดเร็วตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาด หน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมาตกอยู่ในมือของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยเช่นกัน โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ได้เล่าถึงความสำคัญของข้อมูลวิจัยเหล่านี้ว่า ความสำคัญไม่ใช่แค่การสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อมูลสำคัญของแวดวงวิทยาศาสตร์และสาธารณสุขทั่วโลกอีกด้วย
“ในอนาคต เราจะเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโรคทั่วไป โรคระบาด หรือพัฒนาไปสู่เรื่อง Wellness หรือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ผมมองว่าประเทศไทยต้องมีหน่วยงานแบบนี้อีกหลาย ๆ แห่ง เพราะข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการทำงานถอดรหัสพันธุกรรม เมื่อส่งไปยังฐานข้อมูลกลางของโลกแล้ว นักวิทยาศาสตร์จากทั่วทุกมุมโลกก็จะได้ข้อมูลการควบคุมโรค การป้องกัน การตรวจหาโรค และการรักษา ทำให้เราสามารถคาดการณ์ถึงอนาคตได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นและจะเตรียมพร้อมกับการป้องกันโรคต่าง ๆ ทั้งในประเทศของเราเองและในต่างประเทศได้อย่างไร”
นอกเหนือจากมุมมองของผู้สร้างข้อมูลด้านการวิจัยแล้ว ศ.เกียรติคุณ ดร.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้นำการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคภายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า Big Data
“บทบาทของเราคือ การจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการใช้ Big Data ให้เกิดประโยชน์ นำเอาการวิเคราะห์มาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น การฉีดวัคซีน ที่ผลการวิเคราะห์จากข้อมูลทั้งจังหวัดเชียงใหม่ แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในการลดความรุนแรงของโรค ไปจนถึงข้อมูลที่ว่าต้องฉีดวัคซีนกี่เข็ม ถึงจะป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ได้”
นี่คือประโยชน์ของการใช้แพลตฟอร์มข้อมูลเดียวทั้งจังหวัด แต่หากนำระบบเดียวกันนี้ไปใช้ในระดับประเทศก็อาจจะยากขึ้นไปอีกระดับด้วยข้อมูลที่มาจากหลายช่องทาง โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ มองว่า ควรจะต้องมีการถอดบทเรียนว่าในวิกฤติครั้งนี้ ประเทศไทยสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศรับมือกับโรคระบาดได้เต็มประสิทธิภาพแล้วหรือยัง?
“บทเรียนนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญมากต่ออนาคต เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถทำงานได้อย่างดีในระดับจังหวัด ซึ่งหากทุกจังหวัดใช้วิธีเดียวกันก็สามารถนำข้อมูลของทุกจังหวัดมาเชื่อมต่อกันได้ ส่วนตัวมองว่าดีกว่าการใช้แพลตฟอร์มข้อมูลจากส่วนกลางที่เปิดใช้งานทั่วประเทศเสียอีก เพราะเราไม่มีทางทราบว่าข้อมูลทั้งหมดเก็บไว้ที่ไหน จะนำไปใช้ต่ออย่างไร และไม่อาจรู้ได้ว่าประชาชนทุกคนใช้งานจริงหรือเปล่า”
ประเทศไทยอาจต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาดในระดับเดียวกันนี้อีกครั้งในอนาคต ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง แม่นยำ การเลือกใช้สื่อในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและเข้าถึงคนได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยเก็บข้อมูลเพื่อนำไปสู่การสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การวิเคราะห์ข้อมูล และการกำหนดนโยบาย จะมีส่วนอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเตรียมความพร้อมและรับมือกับสถานการณ์วิกฤติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.