“จากใจชาว อว.”
ภารกิจที่ 9 ข้อมูลวิชาการถูกต้อง รวดเร็ว ฉับไว ชาว อว. ส่งต่อข้อมูลวิชาการเพื่อประชาชน
นอกจากบทบาทหน้าที่ของการเป็นนักวิจัย นวัตกร นักวิทยาศาสตร์ อาจารย์มหาวิทยาลัย และบุคลากรทางการแพทย์แล้ว อีกหนึ่งภารกิจที่ชาว อว. ทำควบคู่กันมาโดยตลอดก็คือ ‘การให้ข้อมูลข่าวสาร’ เกี่ยวกับโควิด-19 ที่ถูกต้องและเป็นไปตามหลักวิชาการ
ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์จากนานาชาติ หรือผลงานวิจัยที่ออกมาจากห้องวิจัยของคนไทยเอง เมื่อมองว่าเป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับวิกฤติก็จำเป็นต้องเผยแพร่ให้ทุกคนได้รับทราบ โดยในมิติของภาครัฐนั้น ชุดข้อมูลที่มีคุณภาพมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการ ‘กำหนดนโยบาย’ หรือมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยลดผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนมิติของภาคประชาชนนั้น ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจะช่วยให้พวกเขาสามารถดูแลตนเองและคนรอบตัวให้มีสุขภาวะที่ดีและปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด
การอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสารล้นโลก มีถูกมีผิดปะปนกันไป จนบางครั้งนำไปสู่การถกเถียงกันทางความคิด แต่หน้าที่ของชาว อว. คือ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ ‘ถูกต้อง แม่นยำ’ ผ่านองค์ความรู้และความปรารถนาดีที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์สูงสุดแก่สังคม
“ลงทุนในงานวิจัยเพื่ออนาคตที่มั่นคง”
นอกเหนือจากการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 แล้ว หนึ่งในสิ่งที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มองว่าสำคัญไม่แพ้กัน คือการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ ซึ่งถือว่าหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงภาคประชาชนยังมีความเข้าใจกันน้อยมาก ยิ่งเฉพาะช่วงระยะเวลาการเริ่มต้นการระบาด บทบาทของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงเริ่มต้นทำหน้าที่นี้ตั้งแต่การรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ สถานการณ์การฉีดวัคซีน ควบคู่ไปกับการประเมินสถานการณ์ในประเทศไทยเทียบเคียงกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
“นับตั้งแต่สายพันธุ์อัลฟา เบตา เดลตา มาจนถึงโอมิครอน หนึ่งในนักวิจัยโดดเด่น ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติมอบทุนให้และมีผลงานวิจัยออกมาตลอดคือ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ทั้งติดตามการติดเชื้อ ทำความเข้าใจกับภาคประชาชนด้วยชุดข้อมูลจากการวิจัย ให้ข้อมูลการฉีดวัคซีน เช่น การฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเปราะบางที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่ม 608 การฉีดเข็มกระตุ้นที่ 3 และ 4 รวมถึงการให้ความรู้เรื่องการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ทั้งหมดนี้เกิดจากงานวิจัยที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติเข้ามามีส่วนร่วมในลักษณะของการให้ทุนวิจัยทั้งสิ้น”
“งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมระบบการทำงานสู้โควิด-19 ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้เริ่มต้นสื่อสารแบบสองทาง (Two-Way Communication) กับสังคมเพื่อนำเสียงตอบรับมาออกแบบนโยบาย ด้วยการทำโพลขนาดใหญ่ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหมด 38 แห่งทั่วประเทศจนได้ชุดข้อมูลที่มีประโยชน์และแม่นยำ ในขณะเดียวกันสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ถ้าประเทศลงทุนกับงานวิจัยและนวัตกรรมมากพอ ทุกอย่างจะกลายเป็นฐานที่มั่นคงในอนาคต”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง
ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
“บทบาทแบบ Nonstop ของคนเบื้องหลัง”
คุณคุณชนก ปรีชาสถิตย์ คือเรี่ยวแรงสำคัญจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการเผยแพร่ข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงสาธารณชนมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เวลานั้นคนทั่วโลกเพิ่งเริ่มได้ยินข่าวการระบาดในเมืองอู่อั่น ประเทศจีน ซึ่งแน่นอนว่า เราไม่เคยรู้จักคำว่า Quarantine,
Social Distancing หรือ Field Hospital มาก่อน ทีนี้จะทำอย่างไรให้รายงานทางการแพทย์ที่เข้าใจยากแถมมาจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลกกลายเป็นข้อมูลที่ไม่ว่าใครก็เข้าถึงได้
“ตั้งแต่คนในประเทศติดเชื้อรวมกันแล้วยังไม่ถึงร้อยคน เราทำกราฟคาดการณ์อนาคตการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยว่าจะเป็นไปในทิศทางใด โดยเปรียบเทียบกับจีนและอิตาลีที่มีการระบาดรุนแรง ณ เวลานั้น ทำให้ข้อมูลชิ้นดังกล่าวมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะผลจากการอธิบายภาพนั้นนำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญคือ การสั่งงดวันหยุดสงกรานต์และปิดโรงเรียนเพื่อประคองสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายลง”
“โชคดีที่่มีท่านปลัด ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้ซึ่งเป็นทั้งแพทย์และเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง เป็นหัวหน้าทีมทำงาน เพราะท่านตรวจงานเอง คิดโจทย์เอง สั่งการเอง เรียกได้ว่า ไลน์ของเรากับท่านมีแต่ข้อมูลวิชาการเต็มไปหมด”
“ความคาดหวังของเราคือ เปลี่ยนข้อมูลมหาศาลที่คนไม่คิดเข้าไปอ่านให้ออกมาเป็นอินโฟกราฟิกที่สวยงาม เข้าใจง่าย ซึ่งเริ่มจากการเปลี่ยนมุมมองของตัวเองว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อแบ่งเบาภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจจะไม่มีเวลามาบอกข้อมูลเหล่านี้ในช่วงเวลาวิกฤติ โดยเราเหมือนเป็นคนเบื้องหลังที่ทำงานและเสียสละทุกอย่าง ทั้งทำข้อมูล ประชุม ถึงเวลาวันหยุดก็ไม่เคยได้พักเลยตั้งแต่ต้นปี 2563”
คุณคุณชนก ปรีชาสถิตย์
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
—————————
“หัวใจสำคัญคือข้อมูลที่ถูกต้อง”
ในฐานะผู้ที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงวิชาการมานานกว่า 40 ปี โควิด-19 จึงไม่ใช่ครั้งแรกของภารกิจการสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ เพราะบทเรียนจากโรคซาร์ส ไข้หวัดนก และไข้หวัดใหญ่ 2009 ล้วนเป็นประสบการณ์สำคัญที่ช่วยสะสมองค์ความรู้และสร้างกระบวนการวินิจฉัยอันรวดเร็ว
ซึ่งทันทีที่มีกระแสข่าวโรคเกี่ยวกับปอดอักเสบระบาดในช่วงปลายปี 2562 ชื่อของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจถึงการรับมือกับโรคนี้มาโดยตลอด
“ผมเริ่มหันมาใช้สื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่มีหลาน ในฐานะที่เป็นหมอเด็กจึงเห็นได้ชัดเลยว่าช่องทางนี้มีอิทธิพลอย่างมากในการให้ข้อมูล และประชาชนส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็รับข้อมูลผ่านทางช่องทางนี้ เราจึงหันมาให้ความรู้ทางการแพทย์ที่ถูกต้องผ่านสื่อสังคมออนไลน์เรื่อยมา โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักวิชาการแล้วให้คนอ่านตัดสินใจเองว่าจะเชื่อหรือไม่ แม้ว่าในบางครั้งการใช้สื่อสังคมออนไลน์จะเป็นดาบสองคมที่ทำให้เกิดความเห็นที่รุนแรง แต่ท้ายที่สุด
เราต้องการให้สังคมของเราเป็นสังคมที่อุดมปัญญา”
“เราเผยแพร่ข้อมูลเฉลี่ยวันละ 1 ครั้งตลอดสองปีที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลทุกชุดได้จากองค์ความรู้ที่เป็นข้อมูลใหม่ที่ทีมงานของเราวิจัยเองและเผยแพร่ให้สังคมได้รับทราบทันที ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือ การบอกต่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างครบครัน นับตั้งแต่เรื่องโรค ความรุนแรง การตรวจวินิจฉัย การป้องกัน ไปจนถึงการฉีดวัคซีนเพื่อยุติโรค โดยให้สื่ออื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ได้นำไปเผยแพร่ต่อ”
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
—————————
“ข้อมูลครบถ้วน รอบด้าน เป็นกลาง ตามสไตล์หมอดื้อ”
สำหรับใครที่ได้อ่านบทความ ‘โควิดซ้ำซาก: บทเรียนจากศพและน้ำตา’ โดย ‘หมอดื้อ’ ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ทั้งสามตอน จะพบว่าอัดแน่นไปด้วยข้อมูลของโควิด-19 ตั้งแต่แรกระบาดลากยาวมาถึงการพัฒนาของสายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งเบื้องหลังนามปากกาหมอดื้อ คอลัมนิสต์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสุขภาพบนโลกออนไลน์ก็คือ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้ใช้ทั้งสื่อสาธารณะและแพลตฟอร์มส่วนตัวในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนความรู้จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
“สื่อออนไลน์เป็นตัวกลางที่ทำให้ประชาชนรับทราบและเข้าใจถึงสถานการณ์ได้อย่างฉับพลัน ด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน และเป็นกลาง ที่สำคัญคือ ต้องปรับให้เข้ากับข้อจำกัดและบริบทของคนไทย โดยไม่ยึดกับต่างประเทศที่มีสถานการณ์ ทรัพยากรและพฤติกรรมที่แตกต่างออกไป นอกจากนั้น เรายังช่วยขจัดการให้ข้อมูลไม่ครบหรือข้อมูลด้านเดียวทั้งที่มีหรือไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประชาชนตาสว่าง สามารถแยกแยะและวิเคราะห์ได้ โดยไม่มีการแบ่งพวก แบ่งกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์กับตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศที่มั่นคงในที่สุด”
“ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับยอดจำนวนคนอ่าน การแชร์ หรือการเป็นที่รู้จัก แต่อยู่ที่คนไทยต้องตระหนักรู้ถึงการรักษาสุขภาพ การป้องกันโรค และการดูแลตนเอง รวมทั้งชนิดและประเภทของอาหารในสภาวะต่าง ๆ ต้องช่วยกันลดมลพิษสารเคมีในอาหารและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการต่อยอดในอนาคตที่คนไทยต้องร่วมกันคือการสนับสนุนความแข็งแรงของเครือข่ายภาคประชาชนที่จะช่วยให้ระบบต่าง ๆ มีความโปร่งใส มีคุณธรรม และพึ่งตนเองได้”
.
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
—————————
“ส่งต่อข้อมูลเชิงลึก…ถึงพันธุกรรม”
จากการวิจัยเรื่องจีโนม (Genome) เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยในอนาคต หน้าที่หลักของ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ คือการถอดรหัสทางพันธุกรรมที่จะช่วยสร้างกำไรทางสังคมในหลากหลายแง่มุม แต่นอกเหนือจากนั้น หนึ่งในกำไรที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา คือการให้ข้อมูลเชิงความรู้ทางวิทยาศาสตร์สุขภาพดิจิทัล (Digital Health Literacy) เปลี่ยนความตระหนกให้เป็นความตระหนักผ่านสื่อมวลชนสู่ประชาชนคนไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“สาเหตุที่เราไม่ทำไลฟ์สดส่งตรงถึงประชาชนนั้น เพราะว่าสื่อมวลชนเป็นตัวกรองที่ดีกว่า สามารถเปลี่ยนข้อมูลที่ซับซ้อนเข้าใจยากให้เข้าใจง่ายขึ้น พวกเขามักจะมาสอบถามตามวิสัย นำความกังวลใจต่าง ๆ ของประชาชนมาถามเรา โดยจุดเปลี่ยนของศูนย์จีโนมฯ มาจากรายการโหนกระแส เมื่อเราให้สัมภาษณ์เรื่องสายพันธุ์ของโควิด-19 พอผ่านคำอธิบายของพิธีกร คุณหนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย ก็ทำให้ประชาชนหันมาสนใจกันมากขึ้น”
“ไม่ว่าโรคระบาดอะไรก็ตาม ต่างจำเป็นที่ต้องถอดรหัสพันธุกรรมให้ ‘รู้เขา รู้เรา’ เพื่อสร้างวัคซีนและการรักษา บวกกับคนไทยยุคปัจจุบันเริ่มส่งเสียงว่า ‘หนึ่งชีวิตของเรา เราขอตัดสินใจเอง’ ดังนั้นเราจึงเน้นให้ข้อมูลแล้วให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ เห็นได้ชัดเจนจากกรณีฉีดวัคซีน ซึ่งแต่ละคนต่างมีความเหมาะสมกับวัคซีนคนละแบบ เมื่อประชาชนหันมาสืบค้นข้อมูลด้วยตัวเอง เราจึงมองเห็นว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารุดหน้าอย่างมากในหมู่คนไทย”
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์
นักวิจัย โรงพยาบาลรามาธิบดี
—————————
“จาก Big Data สู่การสร้าง Policy”
จากงานวิจัย ‘การพัฒนาระบบบริการด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร’ ที่มีโจทย์ในการเชื่อมต่อการดูแลผู้ป่วยจากโรงพยาบาล บ้าน สู่ชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้อีกครั้งหรือลดการเสียชีวิตทั้งจากโรคส่วนบุคคลและภัยพิบัติ ประจวบกับช่วงเวลาดังกล่าว โควิด-19 ก็กำลังเดินทางข้ามพรมแดนมาถึงประเทศไทยและจังหวัดเชียงใหม่ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทีนี้จะทำอย่างไรที่จะติดตามนักท่องเที่ยวเหล่านั้นให้ได้ง่ายที่สุด คำตอบก็คือการจัดการด้วยฐานข้อมูล
“ทีมนักวิจัยของเราถนัดเขียนโปรแกรม จึงสร้างเว็บฯ แอปพลิเคชัน ‘เชียงใหม่ชนะ’ ระบบเฝ้าระวังอัจฉริยะสำหรับผู้เดินทางเข้าเชียงใหม่ และแพลตฟอร์มกลาง CMC-19 (CHIANGMAI COVID-19 HOSPITAL INFORMATION SYSTEM) ขึ้นมาเพื่อบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยและผลการตรวจหาเชื้อโรค ของทุกคน โดยทุกโรงพยาบาลในเชียงใหม่ ทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงศูนย์ตรวจทุกจุดจะเข้ามาบันทึกข้อมูลในระบบกลางนี้ ทำให้เรามีฐานข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับติดตามความเคลื่อนไหวภายในจังหวัดแบบรายวันและสามารถนำข้อมูลที่จัดเก็บไว้มาประมาณการประสิทธิผลของวัคซีนต่อการป้องกันการติดเชื้อ อาการรุนแรง และการเสียชีวิต”
“เราใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีให้เกิดประโยชน์ หรือที่เรียกว่า Data Utilization ประเทศไทยโดดเด่นในการเก็บข้อมูล แต่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่มาก บทเรียนที่ได้จากโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าข้อมูลที่ดีต้องเก็บแล้วนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ คุณภาพข้อมูลที่เราเก็บก็จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน และจากนั้นจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ อย่างเช่นข้อมูลบางส่วนที่เราวิเคราะห์ได้จากทั่วเชียงใหม่ซึ่งกลายเป็นมาตรการกำหนดฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4
ของประเทศไทย”
ศ.เกียรติคุณ ดร.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์
คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว.
เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่
https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.