“จากใจชาว อว.”
ภารกิจที่ 10 อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ นวัตกรรมพร้อมใช้นวัตกรรม โดยคนไทย เพื่อคนไทย
การทุ่มเททำงานหนักของ 10 หน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. กับภารกิจสร้างอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ นวัตกรรมพร้อมใช้ เพื่อรองรับวิกฤติขาดแคลนอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ในห้วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้กลายเป็นการพลิกโฉมหน้าของการสร้างนวัตกรรมในโลกวิจัยที่นำไปสู่การใช้งานในโลกแห่งความจริง
ท่ามกลางความโกลาหลของวิกฤติโรคระบาด การนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาต่อยอดและปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมถือเป็นการเคลื่อนทัพครั้งใหญ่ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชาว อว. ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนสถานภาพของประเทศไทย จากประเทศที่ต้องรอคอยการนำเข้าอุปกรณ์และเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ แต่ในวันนี้และวันข้างหน้า เราจะยืนหยัดได้ด้วยนวัตกรรมฝีมือนักวิจัยไทย
จากแนวคิด ขั้นตอนการทำงาน ผ่านรอยยิ้มและคราบน้ำตาจนนำมาสู่ความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสู้ภัยโควิด-19 กำลังจะได้รับการบอกเล่าผ่าน 10 ผู้บริหารและนักวิจัยจาก 10 หน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมรับใช้สังคม พร้อมกับเรื่องราวการเตรียมพร้อมรับมือกับทุก ๆ วิกฤติการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต
—————————
“งานวิจัยไทย สร้างเองได้ ใช้เองด้วย”
‘ความไม่พร้อมและไม่เพียงพอ’ คือแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. พยายามนำเอาองค์ความรู้และงานวิจัย ‘ด้านการป้องกันเชื้อโรค’ มาต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 โดยหนึ่งในผลงานโดดเด่นต้องยกให้กับ ‘การตรวจประเมินห้องความดันลบ’ ที่มาช่วยป้องกันการกระจายเชื้อไวรัสในพื้นที่โรงพยาบาล แต่ที่มากไปกว่าการตรวจ งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นตัวแทนของ วว. ในการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์
“สิ่งที่ไม่เพียงพอต่อมาคือ เจลแอลกอฮอล์ ซึ่งเราได้ถอยไปหยิบเทคโนโลยีของปี 2554 ที่มีอยู่แล้วมาผลิตทันทีโดยไม่ต้องนำเข้าและนำไปแจกตามจุดต่าง ๆ เช่น สนามบินและหน่วยงานต่าง ๆ หน้ากากอนามัยเองก็มีราคาสูงมากในขณะนั้น แต่เราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ใช้กันทุกวันได้มาตรฐานหรือไม่ จนเกิดงานทดสอบร่วมกับหลายหน่วยงาน เพื่อให้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยสามารถป้องกันเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังเสริมการพึ่งพานวัตกรรมภายในประเทศอีกด้วย”
“การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการทำงานในรูปแบบใหม่ที่กลายเป็นโอกาสที่เราจะได้สร้างความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น โดยเราต้องวิจัย พัฒนา นำมาใช้จริง และทำเทคโนโลยีให้เราพึ่งพาตนเองได้ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ Open Innovation ที่แต่ละองค์กรต่างมองหาองค์ความรู้จากแหล่งอื่นมาแชร์กัน ใช้ด้วยกัน และสร้างสิ่งใหม่ด้วยกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเดินหน้าต่อไปได้”
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต
ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
—————————
“หน่วยงานน้องใหม่ผู้ริเริ่มสิ่งใหม่”
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นหน่วยงานน้องใหม่สังกัดกระทรวง อว. ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อพฤศจิกายน 2562 ระยะเวลาเพียงเดือนเดียวหลังจากนั้น ข่าวคราวการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มหนาหูขึ้น และอีกไม่นานจะมาถึงประเทศไทยอย่างแน่นอน ช่วงเวลาที่กระชั้นชิดเช่นนี้จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของ บพข. ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายที่ภายหลังกลับกลายเป็นความภาคภูมิใจและสร้างประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยอย่างมากมาย
“ความภาคภูมิใจของเราคือ การริเริ่ม ‘ครั้งแรก’ ในหลาย ๆ ด้าน และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทยจากการผลิตงานวิจัยและสินค้าที่มีคุณภาพ ก่อนนั้นชุดตรวจโควิด-19 ราคาชุดละ 4,000 บาท คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ เราจึงสนับสนุนทุนวิจัยในการผลิตชุดตรวจ RT-PCR โดยเป็นการนำเทคโนโลยีของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และจากต่างประเทศมาผสมผสานกันใหม่ด้วยฝีมือนักวิจัย ภาครัฐและภาคเอกชนไทยจนใช้งานได้จริง มีราคาเพียงชุดละ 200-300 บาท พร้อมส่งไปจำหน่ายในประเทศใกล้เคียง”
“นอกจากนี้ยังมีชุดตรวจแบบ Lamp เปลี่ยนสี ที่ผลการตรวจถูกต้องแม่นยำใกล้เคียงกับ RT-PCR แต่ใช้ระยะเวลาการตรวจเพียง 15 นาที และไม่ต้องใช้เครื่องมือที่ซับซ้อน จึงนับเป็นก้าวแรกที่บริษัทสตาร์ตอัปไทยนำความรู้จากห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยออกสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ รวมถึงได้สนับสนุนการจัดตั้งบริษัทที่ทำหน้าที่ทดสอบทางคลินิก (CRO : Clinical Research Organization) วิจัยหาการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมซึ่งทำให้ประเทศไทยประหยัดงบประมาณด้านวัคซีนไปได้มาก”
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี
ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
—————————
“ใช้ศักยภาพต่อสู้กับปัญหา”
ในฐานะของห้องปฏิบัติการของประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์บริการมีความเชี่ยวชาญพิเศษในหลายแขนง โดยเฉพาะ ‘ด้านวัสดุศาสตร์และเคมี’ ที่ตอบโจทย์ต่ออุปสรรคหลายต่อหลายอย่างในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยหนึ่งในบทบาทที่สำคัญคือ ‘การพัฒนาชุด PPE’ ที่จำเป็นต้องใช้วัสดุคุณสมบัติพิเศษเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และชุด PAPR ที่ต่างจากชุดป้องกันทั่วไปด้วยเครื่องระบายอากาศซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้สวมใส่ที่ต้องสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยระหว่างการทำงานตลอดวัน
“ในขณะที่แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อเป็นที่ต้องการ เราใช้ความเชี่ยวชาญด้านการผลิตผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อคิดค้นสูตรสเปรย์และเจลแอลกอฮอล์ขึ้นมาโดยกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ให้ได้ตามมาตรฐาน 70 เปอร์เซ็นต์ ให้ถึงขีดความสามารถในการฆ่าเชื้อตามต้องการ ในขณะเดียวกันก็ไม่มีสารระคายเคือง รวมถึงกลิ่นไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตามหน้าที่ของเราไม่ใช่การแจกแอลกอฮอล์ เราจึงแจกจ่ายสูตรของเราออกไปให้คนผลิตได้เอง เนื่องจากผลิตได้ง่าย แต่ก็มีข้อกังวลตรงที่หากไม่รู้วิธีผลิตที่ถูกต้องจะทำให้ไม่ได้คุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น”
“เชื้อไวรัสที่อยู่นอกร่างกายมีชีวิตได้ไม่นาน ถ้ากำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้อง ด้วยสารเคมีที่ถูกต้อง ไม่เป็นพิษต่อคนก็จะทำให้เราใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างมั่นใจมากขึ้น แม้ในตอนแรก เราจะมองว่าปัญหาของโควิดเป็นเรื่องใหญ่เกินกำลัง แต่ท้ายที่สุดเราก็นำศักยภาพที่มีไปตอบโจทย์กับปัญหา พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถสนับสนุนการทำงานของบุคลากรด่านหน้าในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือแม้แต่ในโรงแรมและที่พักอาศัย”
ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)
—————————
“สร้างนวัตกรรมไทยสู่สากล”
บทบาทสำคัญของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) คือการผลักดันอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ที่ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องยา เครื่องมือแพทย์ ไปจนถึงสารสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งแน่นอนว่าตลอดระยะเวลาการระบาดของโรคโควิด-19 ทาง TCELS ได้ระดมสมองและความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากผ้านาโนที่ป้องกันได้ทั้งโควิด-19 และฝุ่นพิษ PM 2.5 ไปจนถึงเตียงอพยพผู้ป่วยและครีมฟ้าทะลายโจรเพื่อทดแทนเจลแอลกอฮอล์ที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้
“ครีมฟ้าทะลายโจรที่เราพัฒนา ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยทดสอบแล้วว่าสามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ ส่วนหน้ากากผ้าก็ได้รับการพัฒนาต่อยอดจนเป็นหน้ากาก KN95 ซึ่งทั้งหมดล้วนสร้างขึ้นด้วยฝีมือคนไทย อีกหนึ่งผลงานคือ การพัฒนายาและสารอาหารเสริมป้องกันโควิด-19 ด้วยสารสกัดจากกระชายขาว จากการร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาฯ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทดสอบในผู้ป่วยแล้วได้ผลดี”
“การทดสอบมาตรฐานเป็นหนึ่งอุปสรรคสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เราต้องเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยให้มากขึ้น เพราะเราต้องการกระตุ้นให้แวดวงชีววิทยาศาสตร์และเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยเติบโตเป็น 1 ใน 10 ของอุตสาหกรรมหลักของประเทศและมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล เราต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสเพื่อให้เกิดความมั่นคงและต่อยอดด้วยการขายอุปกรณ์และวัตถุดิบเหล่านี้ ซึ่งจะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยตั้งเป้าไว้ให้เกิดขึ้นให้ได้ภายในปี 2570”
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ
อดีตผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS)
—————————
“สร้างต้นแบบ สร้างประโยชน์”
ต้องขอบคุณการถอดบทเรียนจากการระบาดของโรคซาร์ส ปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมถึงปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาภายในโรงพยาบาลวชิรพยาบาล เพราะองค์ความรู้เหล่านี้ทำให้มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชสร้างนวัตกรรมเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที โดย ณ หอผู้ป่วยใหม่ของโรงพยาบาลวชิรพยาบาล เป็นที่ตั้งของเครื่องกรองอากาศ ขนาดความสูง 2 เมตร เพื่อใช้แก้ไขปัญหาฝุ่นบนตึกสูงอันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมมากมายที่ถือกำเนิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
“เราแก้ไขปัญหาเพื่อให้หมอและพยาบาลมั่นใจว่าจะทำงานได้โดยไม่ติดโรค จึงต่อยอดองค์ความรู้เรื่องเครื่องกรองอากาศเป็นห้องต้นแบบ สร้างกล่องหัตถการ สร้างเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบแล้วเปิดเป็นคลินิกไข้หวัด จำนวน 5 ห้องตรวจ หมอจะอยู่ในห้องแรงดันบวก ผู้ป่วยอยู่ในห้องแรงดันลบ ตรวจผ่านถุงมือ นี่คือต้นแบบที่เราสร้างเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มมีผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย”
“ในวันที่ทุกโรงพยาบาลขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เราผลิตหน้ากากซิลิโคน N99 ต่อกับชุดตรวจ และหมวกแรงดันบวก ทดสอบคุณภาพด้วยอุปกรณ์เท่าที่มี เมื่อมั่นใจว่าอุปกรณ์เหล่านี้มีความปลอดภัยเกิน 80% เราตัดสินใจเผยแพร่นวัตกรรมนี้สู่สาธารณชนทันที โดยหวังให้นักวิจัยและวิศวกรที่มีอยู่ทั่วประเทศได้ต่อยอดองค์ความรู้โดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ แล้วระดมผลิตให้โรงพยาบาลทั่วประเทศไทย เพื่อให้ต้นแบบของเราสร้างประโยชน์กับสังคมให้ได้มากที่สุด”
รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
—————————
“ดาราศาสตร์กับการต่อลมหายใจ”
เข้าสู่เดือนมีนาคม 2563 สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในทวีปยุโรป โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จำเป็นต้องพึ่งพา ‘เครื่องช่วยหายใจ’ อุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดและอยู่ในสภาวะขาดแคลน ซึ่งถึงแม้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จะเป็นหน่วยงานขนาดเล็ก แต่กลับมีองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมที่โดดเด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ต้นแบบเครื่องช่วยหายใจที่สามารถใช้ได้ในสภาวะฉุกเฉินจึงได้ถือกำเนิดขึ้น
“เราลงลึกเพื่อสร้างเครื่องช่วยหายใจที่คล้ายคลึงกับการใช้งานในห้อง ICU มากที่สุด แต่ปัญหาในขณะนั้นคือ ชิ้นส่วนมาตรฐานทางการแพทย์จากต่างประเทศนั้นหมดเกลี้ยง จนต้องเลือกใช้ชิ้นส่วนมาตรฐานอุตสาหกรรมทดแทน ซึ่งด้วยความสามารถของวิศวกรของเราที่ทำการทดลองอยู่เป็นเวลา 3 เดือน ในที่สุดก็ได้เครื่องช่วยหายใจออกมาในเวอร์ชั่นที่คล้ายคลึงกับเครื่องช่วยหายใจสำหรับห้อง ICU แต่ท้ายที่สุดแล้วถือเป็นเรื่องดี ที่ไม่มีใครได้ใช้เครื่องนี้ เพราะว่าประเทศของเรายังมีเครื่องช่วยหายใจเพียงพอ”
“หน่วยงานของเราเป็นหน่วยงานเล็ก ๆ ไม่สามารถสร้างงานในปริมาณมากได้ แต่เราใช้ความสามารถด้านวิศวกรรมขั้นสูงของเราสร้างอุปกรณ์ที่ทำงานได้เป็นอย่างดี ควบคุมด้วยระบบอัลกอริทึมจากหลักการเดียวกับการสร้างกล้องโทรทรรศน์ดาราศาสตร์ จนในที่สุดองค์ความรู้นี้ก็ได้รับความสนใจทั้งจากหน่วยงานทางการแพทย์และเอกชน วิกฤติโควิด-19 เลยกลายเป็นโอกาสที่ทำให้คนทำงานวิศวกรรมเชิงระบบสามารถหยิบเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์ไปสนับสนุนการทำงานของแพทย์ได้”
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.)
—————————
“ถ้าเราช่วยได้ เราจะทำอย่างเต็มกำลัง”
ด้วยจุดแข็งด้านวิศวกรรมศาสตร์และการช่างที่มีมากว่า 20 ปี โดยเฉพาะด้านระบบควบคุม ระบบสุญญากาศ และระบบแม่เหล็ก ทำให้เกิดผลงานนวัตกรรมช่วยบรรเทาวิกฤติโควิด-19 จากฝีมือของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) มากมาย อาทิ ตู้สำหรับตรวจและคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อแบบความดันบวก ตู้สำหรับครอบเตียงผู้ป่วยและสำหรับผู้ป่วยที่คลอดบุตรแบบความดันลบ แคปซูลสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบความดันลบ ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์โรคระบาดได้อย่างดีทีเดียว
“การจะรับมือกับวิกฤติเพียงหน่วยงานเดียวย่อมเป็นไปได้ยาก แต่หากมีเครือข่ายความร่วมมือกับพันธมิตรย่อมเกิดประโยชน์ต่อทั้งประชาชนและประเทศ โดยทางสถาบันฯ ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการผลิตห้องความดันลบ รวมถึงจัดตั้งกองทุน ส.อ.ท. ช่วยไทยสู้ภัยโควิด-19 เพื่อระดมทุนจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นมอบให้กับสถานพยาบาลในสังกัด อว. และสถานพยาบาลที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอีกด้วย”
“ดีใจและภูมิใจในทีมงานของ สซ. ทุกคน ที่คอยช่วยเหลือ เสียสละ และลงมือทำ เพราะถ้ายิ่งเราทำได้เร็ว ทำได้มากเท่าไรจะยิ่งช่วยเหลือคนได้มากเท่านั้น โดยในระหว่างดำเนินงานก็มีอุปสรรคพอสมควร เนื่องจากภารกิจหลักของหน่วยงานก็มีมาก บางครั้งบุคลากรในทีมติดโควิด งานที่เร่งก็ต้องล่าช้าออกไป หลายครั้งที่เราให้กำลังใจกันว่า “ถ้าเราช่วยได้ ทำไมเราจะไม่ช่วย” ซึ่งทีมงานทุกคนก็ทำงานกันด้วยความเต็มใจและภูมิใจ”
รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.)
—————————
“ผลักดันนวัตกรรมไทยเพื่อสังคม”
แม้ไม่ได้เป็นผู้สร้างนวัตกรรมเอง แต่หน้าที่หลักของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) คือการสนับสนุนผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ตอัป เอสเอ็มอี หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม ในการนำนวัตกรรมพร้อมใช้มาทำงานร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ ซึ่งในห้วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา NIA ถือเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการรวบรวมสรรพกำลังจากผู้ประกอบการที่มีความพร้อม มาช่วยกันออกแบบเครื่องมือและแพลตฟอร์มเพื่อแก้ไขปัญหาการรับมือกับโรคระบาดภายในระยะเวลาอันกระชั้นชิด
“เราทำหน้าที่คอยประสานกับโรงเรียนแพทย์ หน่วยงานด้านสาธารณสุข รวมถึงโรงพยาบาลให้เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการเพื่อนำอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ ไปสนับสนุนการทำงาน โดยกลุ่มผู้ประกอบการที่ NIA เลือกมาต่างมีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพอยู่แล้ว จึงไม่กังวลเรื่องมาตรฐาน อย่างในช่วงแรกที่ขาดแคลนชุด PPE เราได้นำระบบ AI มาใช้ เพื่อให้แพทย์และพยาบาลสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง นี่คือระบบการแพทย์ทางไกลชิ้นแรก ๆ โดยฝีมือคนไทยที่ผลิตขายสู่ตลาดได้จริง”
“เราให้ทุนทำนวัตกรรมเพื่อสังคมมานานและพยายามปลูกฝังคนทำงานทุกคนว่า ทุกนวัตกรรมไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อหากำไรอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาเพื่อช่วยเหลือสังคมด้วย ซึ่งทำให้เรารับมือกับการระบาดในช่วงต้นได้อย่างรวดเร็ว อีกหนึ่งสิ่งคือ เครือข่ายของเรา ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ หรือแม้แต่ NGO ที่ทำให้การเชื่อมโยงผู้ประกอบการและผู้ใช้งานจริงทำได้ง่ายขึ้น เพราะเป้าหมายของเราคือการทำนวัตกรรมที่ไม่ใช่แค่งานวิจัย แต่ทุกอย่างคือสินค้าของคนไทยในการนำไปใช้ช่วยเหลือและพัฒนาสังคมในทุก ๆ มิติ ”
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)
—————————
“ชุดตรวจโควิด-19 สัญชาติไทย”
นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ประกอบด้วยชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 (NANO COVID-19 Antigen Rapid Test) ที่รู้ผลได้อย่างรวดเร็วภายใน 15 นาที หมวกแรงดันบวก-ลบ nSPHERE ที่ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสให้กับผู้ป่วยและบุคลากรด่านหน้า รวมถึงหน้ากากอนามัยที่ป้องกันได้ทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และฝุ่น PM 2.5
“เราทำงานแข่งกับทั้งเวลา ความกดดัน และความท้าทาย โดยมีคุณหมออยู่ข้าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เราพัฒนาขึ้น ใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพ แม้จะอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถทำงานแบบปกติได้ก็ตาม แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ต้องฝ่าฟัน เพราะสิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือ การช่วยคน ช่วยสังคม และช่วยเหลือประเทศ ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยดูแลสภาพจิตใจและสภาพร่างกายของทีมงานนักวิจัยให้ดีด้วย เป้าหมายนี้จึงเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ คนเราล้มกันได้ แต่ต้องลุกให้ไว”
“มีข้อกังขามากมายต่อนวัตกรรมของเรา เพราะในประเทศไทยยังไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน แต่ในที่สุดเราก็เป็น 1 ใน 2 ทีมแรกของประเทศที่ผลิตชุดตรวจโควิด-19 ได้สำเร็จและผ่านการประเมินด้านเทคโนโลยีและได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเราผ่านทั้งอุปสรรค การแก้ปัญหา และความเหน็ดเหนื่อยมาไม่น้อย แต่ท้ายที่สุด ผลงานของเราก็เป็นที่ภาคภูมิใจ เพราะสามารถแข่งขันได้ทั้งคุณภาพและราคา โดยในช่วงสภาวะวิกฤติได้สอนให้รู้ว่า บางอย่างต่อให้มีเงินก็ซื้อไม่ได้ ดังนั้นเป้าหมายสูงสุดที่ประเทศไทยควรไปให้ถึงคือ เราต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้”
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล
ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค)
—————————
“จากวิกฤติครั้งใหญ่สู่ฐานเทคโนโลยีแห่งอนาคต”
ด้วยประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ การเกษตร อุตสาหกรรม และการแพทย์ รวมถึงการผลิตยารักษาโรคมาลาเรีย วัณโรค และไข้เลือดออก การเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่นักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ปรับตัวเพื่อเข้ามาช่วยลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 จนเกิดเป็นนวัตกรรมโดดเด่น ทั้งชุดตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี Lamp ต้นแบบวัคซีนกระตุ้นภูมิต้านทานโควิด รวมถึงพัฒนากระบวนการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์ขึ้นมาใหม่
“ปัญหาของประเทศไทยคือ ความพร้อมและการเตรียมตัวในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่อการศึกษาโรคติดต่อร้ายแรง รวมถึงขาดแคลนห้องปฏิบัติการที่เหมาะสมซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เราลงทุนสร้างทันที แต่กระบวนการสร้างและการรับรองคุณภาพและมาตรฐานนั้น ใช้เวลามาก ทำให้เราเริ่มต้นได้ช้ากว่าที่ควร แต่พอมาถึงวันนี้ เราพร้อมแล้ว ซึ่งหากอนาคตเกิดโรคระบาดกลายพันธุ์ มีโรคอุบัติใหม่ หรือขาดแคลนยา เราก็สามารถพัฒนาและผลิตนวัตกรรมรองรับได้ทันที”
“วิกฤติใหญ่ครั้งนี้ ทำให้นักวิจัยของเราได้รับประสบการณ์มากมาย พวกเขาตื่นตัวมากขึ้นและพร้อมปรับตัวเพื่อทำงานให้ตอบโจทย์กับความต้องการของประเทศอย่างรวดเร็วซึ่งต่างไปจากรูปแบบการทำงานแบบเดิม ทั้งยังกลายเป็นการสร้างความพร้อมให้กับเราในการศึกษาเกี่ยวกับโรคที่มีการติดเชื้อรุนแรงด้วย ในขณะเดียวกัน ยังทำให้เรามองเห็นวิธีการผลักดันงานวิจัยต่าง ๆ รวมถึงงานวิจัยทางการแพทย์ให้เกิดการใช้งานจริง และท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่เราสร้างขึ้นก็จะกลายเป็นฐานเทคโนโลยีของประเทศไทยในอนาคต”
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน
ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.