“ถอดบทเรียนการต่อสู้กับโควิด-19”
ภารกิจที่ 10 อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ นวัตกรรมพร้อมใช้วิจัยและพัฒนานวัตกรรมสู่ความมั่นคงของประเทศ
ถ้าจะพูดถึงภารกิจต่อสู้กับโควิด-19 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) มองว่า วิกฤติครั้งนี้ทำให้ ‘อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์’ (Life Sciences Industry) ที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมยา เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอางและอาหารเสริม และบริการสุขภาพของประเทศไทยเติบโตขึ้นมากและมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ขณะเดียวกัน ยังสร้างโอกาสให้ประเทศไทยมองเห็นถึงความสำคัญของ ‘ความมั่นคงทางการแพทย์’ ไปพร้อม ๆ กับการต่อยอดให้อุปกรณ์และนวัตกรรมต่าง ๆ เหล่านี้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
“เป้าหมายสำคัญของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) คือการผลักดันอุตสาหกรรมทางชีววิทยาศาสตร์ให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสูงสุดของประเทศ ภายในปี 2570 และยังคงต้องพัฒนาต่อไป โดยหวังว่าความพยายามนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งในยุคหลังโควิด-19”
ส่วนอีกหนึ่งจุดแข็งของประเทศไทยที่ ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ อยากให้เราคนไทยเก็บรักษาเอาไว้คือ ‘ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน’ ในทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรมีควบคู่กับการผลักดันขีดความสามารถทั้งทางด้านการวิจัยและอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
“ปัจจุบัน TCELS มีโครงการถอดบทเรียนจากโควิด-19 เพื่อทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งมากขึ้น รองรับการระบาดระลอกใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ซึ่งเราพยายามที่จะเรียนรู้และสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวง อว. ให้มีความพร้อมมากกว่าที่เคยเป็น”
ถ้าถามว่าโควิด-19 ให้บทเรียนอะไรบ้าง? รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดเผยว่า “เราต้องรู้เท่าทันและคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องเตรียมคือ คน สถานที่ และองค์ความรู้ เพราะไม่ว่าจะเกิดโรคระบาดแบบไหน เราต้องพร้อมรับมือและประยุกต์ทรัพยากรทั้งหมดที่มีมาสู้ ที่สำคัญคือ ต้องมีความยืดหยุ่นและไม่ประมาท ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือ การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ เพราะเมื่อประสบกับความยากลำบาก เราจำเป็นต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ วันนี้กระทรวง อว. ได้ทำผลงานไว้มากมาย เพราะเป็นแหล่งรวมนักวิจัยทั่วประเทศ เป็นคลังสมองที่สามารถนำองค์ความรู้เข้าไปประยุกต์ช่วยเหลือสังคมได้ในทุก ๆ ภารกิจ”
บทเรียนที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การเตรียมความพร้อมรับมือต่อทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่โควิด-19 ยังกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘แนวทางการทำงาน’ ที่เปลี่ยนแปลงไปฉับพลัน “ตอนนี้เราหันมาทำงานที่มองภาพของการบูรณาการมากยิ่งขึ้น” ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าว “แต่เดิมเรามักเรียนรู้เฉพาะองค์ความรู้ที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งทำให้เห็นปัญหาชัดเจน อย่างตอนที่เกิดวิกฤติขาดแคลนหน้ากากอนามัย N95 ประเทศไทยไม่สามารถผลิตตัวกรองในหน้ากากใช้เองได้ ต้องพึ่งพาการนำเข้าเท่านั้น ทำให้เราจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้นเอง เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ทุกคนต่างมีความต้องการเหมือนกันหมด เราจึงรู้เลยว่าการวิจัยพัฒนานั้นสำคัญแค่ไหน เพื่อให้ประเทศไทยนั้นพึ่งพาตัวเองให้ได้”
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นเองจะไม่ใช่เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลก แต่ในมุมมองของ ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต มองว่า ในเมื่อคนไทยสามารถผลิตเทคโนโลยีหนึ่งขึ้นมาได้แล้ว การพัฒนาต่อยอดเพื่อเทคโนโลยีที่ดีขึ้นย่อมไม่ใช่เรื่องยาก หากมีการใช้งานจริงและพัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยมี ‘Open Innovation’ เป็นหนึ่งแนวคิดที่เกิดขึ้น เพื่อให้แต่ละหน่วยงานด้านการวิจัยได้แบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างกันจนสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ “ประเทศไทยโชคดีที่เป็นประเทศเกษตรกรรม เพราะอย่างน้อยที่สุด เราก็ไม่อดตาย แต่ในเรื่องเทคโนโลยี เรายังจำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการเรียนรู้ที่ผ่านมานั้น แม้จะยาก แต่เราก็ผ่านมาได้ หากทุก ๆ หน่วยงานหันหน้าคุยกัน ระดมความคิดกันก็จะทำให้แวดวงการสร้างงานวิจัยของเราเดินหน้าต่อไปได้”
เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า งานนวัตกรรมของไทยในยุค New Normal ต่างมุ่งเน้นไปที่การร่วมกันพัฒนาสร้างงานที่ใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อให้เกิดความมั่นคงของอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ และนวัตกรรม เพื่อรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มองว่า ภารกิจในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา นอกจากจะได้เห็นภาพของหน่วยงานต่าง ๆ จับมือร่วมกันฝ่าวิกฤติแล้ว ยังได้เห็นนักวิจัยไทยสร้างอะไรหลายต่อหลายอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน
“โควิด-19 ทำให้ประเทศไทยได้รู้ว่าเรายังขาดอะไร และเทคโนโลยีอะไรที่ต้องมีในประเทศ เราพบว่าห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานเพื่อการรับรองคุณภาพเทคโนโลยีของคนไทยเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก การทำงานร่วมกันก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างกระทรวง หรือระหว่างภาครัฐกับเอกชน ถ้าเราสามารถทำงานแบบนี้ในสถานการณ์ปกติ ไม่ใช่แค่ช่วงวิกฤติ ประเทศไทยจะพัฒนาไปได้อย่างก้าวกระโดด”
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.