ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2557 หนึ่งในเทคโนโลยีที่น่าจับตามองคือ “ชีววิทยาสังเคราะห์” ศาสตร์ใหม่ที่เป็นการผสานวิทยาศาสตร์เข้ากับวิศวกรรมศาสตร์ โดยเน้นที่ไปการใช้ความรู้สร้างจุลินทรีย์ที่สามารถผลิตสารสำคัญซึ่งมีมูลค่าสูง คุ้มค่าแก่การลงทุน นำไปใช้ในกระบวนการผลิตระดับอุตสาหกรรม ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และยังถือทรัพย์สินทางปัญญาที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกในอนาคต
นับจากวันนั้น ความก้าวหน้าในงานวิจัยด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ลองจินตนาการว่า อีก 5 ปี มีผลิตภัณฑ์อย่างวัวหรือเนื้อปลาแซลมอนที่ “เพาะขึ้น” ในแล็บ โปรตีนจากไข่ที่สร้างขึ้นมาโดยไม่ต้องมีแม่ไก่ น้ำนมที่ได้มาจากกระบวนการชีววิศวกรรมในห้องปฏิบัติการ ไม่ต้องง้อแม่วัวนม น้ำผึ้งที่ได้มาโดยไม่ต้องเลี้ยงผึ้ง ถึงตอนนั้น วีแกนก็จะมีเนื้อ นม ไข่ กินได้ โดยไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์ตัวใดเลย
ส่วนอีก 10 ปี เราอาจจะมีเสื้อผ้าที่มีเซนเซอร์ตรวจวัดสารต่าง ๆ ได้ โดยไม่ต้องใช้เข็มดูดเลือดออกไปตรวจให้เจ็บตัวอีกต่อไป หรืออาจมีอวัยวะสังเคราะห์ที่สร้างจากเซลล์ของคนไข้เอง หรือวิธีรักษาอวัยวะภายนอกและภายในแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่ใช้เซลล์และโมเลกุลต่าง ๆ ความรู้ขั้นสูงที่เพิ่มมากขึ้นช่วยให้เราเข้าไปแก้ไขโมเลกุลพื้นฐานและกลไกด้านเมตาโบลิซึม ตลอดไปจนถึงระบบควบคุมพันธุกรรมต่าง ๆ ได้ดีขึ้นอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน เทคโนโลยีนี้ทำให้ได้สารมูลค่าสูง หรือแม้แต่สารที่ไม่พบตามธรรมชาติออกมา ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ พลังงาน อาหาร ยา และเกษตร อาจช่วยแก้ปัญหาใหญ่ที่โลกเผชิญอยู่ได้ เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ รวมไปถึงการผลิตอาหารทดแทนวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม
ตัววอย่างผลิตภัณฑ์ทางการค้าที่มาจากความรู้ด้านนี้ที่วางขายแล้ว เช่น เบอร์เกอร์ที่ใช้เนื้อวัวที่มาจากการเพาะเลี้ยงในห้องแล็บ สารต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดบี-เซลล์ ยี่ห้อ คิมไรอาห์ (Kymriah) ของบริษัท Novartis
ในขณะที่ประเทศไทยก็มีศักยภาพในการทำวิจัยด้านนี้เช่นกัน ตอนนี้ ไบโอเทค สวทช. มีคลังทรัพยากรชีวภาพที่มีจุลินทรีย์มากเป็นลำดับต้นของโลก มีเทคโนโลยีที่พร้อมทำวิจัยต่อยอดด้าน SynBio และยังได้จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อต่อยอดการผลิตปริมาณมากในโรงงานต้นแบบที่ EECi
ที่มา : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
https://www.nstda.or.th/home/news_post/10-technologies-to-watch-synthetic-biology/
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.