“อว. ทำอะไรเพื่อคนไทยบ้าง”
ภารกิจที่ 11 ไอทีและเอไอเพื่อการบริหารจัดการ
วิกฤติการณ์ครั้งนี้ ทำให้เราทุกคนเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะเพิกเฉยต่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์ ดังที่เห็นได้จากผลงานของหลากหลายหน่วยงานที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าระวังและดูแล ตั้งแต่รากฐานการใช้ชีวิตของคนในสังคมไปจนถึงการสร้างระบบขนาดใหญ่เพื่อรองรับการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนทั้งประเทศ
นับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก การติดตามผู้ติดเชื้อและการตีวงล้อมผู้สัมผัสใกล้ชิดและผู้มีความเสี่ยงสูงเพื่อควบคุมการระบาดยังเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้เกิด ‘DDC-Care’ แอปพลิเคชันติดตามและประเมินผู้มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งนับเป็นครั้งแรก ๆ ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารสถานการณ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคได้ติดตามอาการของผู้มีความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด และอีกด้านหนึ่งยังช่วยให้ผู้มีความเสี่ยงสูงได้ประเมินสุขภาพของตนเองเป็นระยะ แต่เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ และสถานการณ์เปลี่ยนไป ทำให้การติดตามเป็นไปได้ยากขึ้น ภายหลังจึงมีการยกเลิกแอปฯ นี้ไปในที่สุด แต่ถึงกระนั้น DDC-Care ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่น่าจะสามารถต่อยอดไปใช้ประโยชน์ได้อีกมาก
ด้านสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเช่นกัน โดยได้มอบทุนสนับสนุน ‘ระบบวิเคราะห์และรายงานการสวมใส่หน้ากากของประชาชนแบบ Real-Time’ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนใส่หน้ากากป้องกันตนเอง ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีชื่อว่า ‘AI Mask’ ซึ่งคิดค้นโดยทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) โดยทำงานร่วมกับกล้อง CCTV ในเขตกรุงเทพมหานครที่มีผู้คนสัญจรจำนวนมาก
สำหรับภารกิจดูแลผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ได้มีการนำระบบปฏิบัติการ ‘A-MED Telehealth’ จากการพัฒนาของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เชื่อมต่อบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยเข้าไว้ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล พร้อมเชื่อมโยงระบบกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อความสะดวกสบายในการเบิกจ่าย
ด้านสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้กลายเป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนข้อมูลเชิงพื้นที่ให้กับศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก. ศบค.) ด้วยระบบบูรณาการข้อมูลในรูปแบบแผนที่และ Dashboard ที่มีชื่อว่า ‘GISTDA COVID-19 iMAP’
อีกภารกิจที่สำคัญไม่แพ้ใครในการต่อสู้กับโควิด-19 ต้องยกให้กับ ‘ระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับโซ่ความเย็นวัคซีนโควิด-19' โดยศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อีกเช่นกัน ซึ่งระบบดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการขนส่งวัคซีนต้านโควิด-19 เชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วน เพื่อกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว สามารถตรวจสอบและเรียกคืนได้หากเกิดปัญหา
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.