“จากใจชาว อว.”
ภารกิจที่ 11 ไอทีและเอไอเพื่อการบริหารจัดการผู้อยู่เบื้องหลังระบบไอทีและเอไอสู้วิกฤติโควิด-19
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนออกมาเป็นระบบอันชาญฉลาดที่ช่วยเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลและประมวลผลออกมาภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กว่าระบบต่าง ๆ จะใช้งานได้จริงบนหน้าจอสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือกว่าจะนำข้อมูลที่รวบรวมได้ไปกำหนดมาตรการหรือนโยบายได้ ต้องแลกมาด้วยความกดดันอันหนักอึ้งบนบ่าของนักวิจัยที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาอันกระชั้นชิด เพื่อให้เกิดผลกระทบหรือความสูญเสียต่อประชาชนน้อยที่สุด
หน้าถัดไปจึงเป็น 6 ความในใจจาก 6 ผู้บริหารและนักวิจัยของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ผู้มีบทบาทในการสนับสนุนและผลักดันนวัตกรรมไอทีและเอไอออกไปใช้งานในสถานการณ์จริง ซึ่งด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังมีข่าวคราวการแพร่ระบาด ทีมวิจัยได้สร้างระบบเทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นมาได้ทันต่อความต้องการอย่างน่าเหลือเชื่อ ยิ่งไปกว่านั้นคือ ความภาคภูมิใจที่ผลงานของพวกเขาได้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างมหาศาลต่อการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลในวันข้างหน้าอย่างแท้จริง
—————————
“แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดด้วยข้อมูลและการบูรณาการ”
ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศและข้อมูลเชิงพื้นที่ต่าง ๆ ภายใต้การดูแลของ GISTDA รวมถึงหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ขึ้น จึงสามารถทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงข้อมูล บูรณาการและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อใช้สนับสนุนการบริหารจัดการและประกอบการตัดสินใจในการรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 ทั้งในภาพรวมระดับประเทศและในระดับพื้นที่
“เราทำงานกับข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งในช่วงสถานการณ์โรคระบาด เราได้ประยุกต์และพัฒนาระบบที่เรียกว่า GISTDA iMap โดย i มาจากคำว่า information, innovation และ intelligence ทำการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานและกระทรวงต่าง ๆ แล้วนำมาประสาน วิเคราะห์ และแสดงผล ตั้งแต่เรื่องการแพร่ระบาดของโรค จำนวนผู้ป่วย การกระจายของหน่วยงานการแพทย์ ไปจนถึงประเด็นด้านเศรษฐกิจ เช่น การขาดแคลนสินค้าอุปโภคและบริโภค รวมถึงการสร้างข้อมูลและฐานข้อมูล เพื่อสนับสนุนมาตรการ Bubble and Seal ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย”
“GISTDA iMap เดิมเป็นระบบที่พัฒนาเพื่อใช้ในหน่วยงาน แต่ก็ปรับปรุงและขยายเพื่อให้รองรับการใช้งานระดับประเทศ เพื่อให้สามารถสนับสนุนการบริหารสถานการณ์ได้ดีขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจระหว่างหน่วยงาน มีการเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งกันและกัน รวมถึงการที่ภาครัฐหันมาใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้น ทำให้แก้ไขสถานการณ์ได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที แถมเรายังต่อยอดไปเรื่อย ๆ จนได้ข้อมูลภาพรวมของจังหวัดต่าง ๆ และเตรียมระบบให้พร้อมสำหรับการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA
—————————
“ต่อยอด AI เพื่อพัฒนาในทุกมิติ”
ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ รวมถึงประเทศไทยเองก็นำ AI มาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งหากจะย้อนไปในช่วงแรกของการระบาดที่เริ่มมีการรณรงค์ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ระบบปัญญาประดิษฐ์แรกสุดที่ได้จากงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คือ ‘AI Mask’ หรือระบบวิเคราะห์และรายงานการสวมใส่หน้ากากแบบ Real-Time ที่ติดตั้งอยู่ตามแหล่งที่มีผู้คนพลุกพล่านนั่นเอง
“การใช้ประโยชน์จาก AI Mask เริ่มเบาบางลงไปหลังโควิดระบาดมาได้กว่า 2 ปี อย่างไรก็ตาม เรายังต่อยอดนวัตกรรมนี้ได้ เพื่อดูแลสุขภาวะของประชาชนในมิติอื่น ๆ พร้อมกับการนำ AI มาพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้ในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ด้านภาคเอกชนเองก็มีการใช้ประโยชน์ AI สำหรับการเอ็กซเรย์ปอดซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถประเมินอาการจากโรคได้ นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้ข้อมูลที่ AI เก็บมาเป็นจำนวนมาก เป็นฐานข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ด้วย”
“ฐานข้อมูล AI ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และด้านสาธารณสุขมีความตื่นตัวอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมการเชิงรุกและรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนไทยเริ่มมีความชำนาญเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น โดยหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย นอกจากการใช้งาน AI เพื่อสุขภาวะและทางการแพทย์แล้ว เรายังมุ่งหน้าใช้ AI เพื่อพัฒนาในมิติเชิงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบัน เราพยายามใช้ AI เพื่อสร้าง Metaverse ตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง
ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
—————————
“AI การ์ดไม่ตก”
การนำเทคโนโลยี AI มาช่วยประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการบริหารจัดการของภาครัฐ ทั้งยังช่วยให้ประชาชนสามารถรับมือและปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งเทคโนโลยี AI เพื่อวิเคราะห์การใส่หน้ากากอนามัย หรือ AI Mask นับว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะสามารถช่วยติดตามและประเมินผลได้ว่าประชาชนในแต่ละพื้นที่สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ และสวมใส่ถูกต้องหรือไม่ อีกทั้งยังทำการประมวลผลได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็วแบบเรียลไทม์
“ประชาชนจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมความรู้เรื่องการใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งเราสามารถป้องกันไม่ให้คนติดโควิด-19 มากขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยี AI Mask ซึ่งใช้ข้อมูลจากกล้อง CCTV ตามจุดต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อวัดจำนวนคนที่ใส่หน้ากากอนามัย รวมถึงวิธีการใส่หน้ากากว่าถูกต้องหรือไม่ โดยข้อมูลสำคัญเหล่านี้สามารถนำไปประเมินความเสี่ยงของพื้นที่และประเมินภาพรวมความเข้มงวดในการป้องกันการแพร่ระบาดได้อีกด้วย”
“การต่อยอดเทคโนโลยีสามารถทำได้หลากหลายแนวทางเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต เช่น การสำรวจประเภทของหน้ากากที่ประชาชนสวมใส่ เพราะ AI สามารถระบุได้ว่าคนส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากประเภทใด เป็นจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ เช่น หน้ากากทางการแพทย์ หน้ากากผ้า หรือหน้ากาก N-95 เป็นต้น หรือการนำ AI มาประเมินการสวมใส่หน้ากากในพื้นที่เฉพาะเจาะจง เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม สถานที่จัดงานต่าง ๆ หรือสถานที่ที่ต้องการจำกัดการระบาด เพื่อนำข้อมูลมาเตือนผู้ที่มาใช้บริการให้สวมใส่หน้ากากอนามัย”
ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง
อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร (ICT)
สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
—————————
“รักษาทางไกลด้วย Virtual Hospital”
ตั้งแต่พบปัญหาว่า ประเทศไทยยังขาดแคลนระบบบันทึกการรักษาและการเบิกจ่าย เมื่อจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ จะกลายเป็นภาพความโกลาหลของการควบคุมโรค จนในที่สุดจึงเกิดระบบที่มีชื่อว่า ‘A-MED Telehealth’ เพื่อใช้ในสถานที่กักตัวของรัฐและโรงพยาบาล โดยออกแบบด้วยแนวคิด Virtual Hospital สร้างสถานพยาบาลในเวลาอันรวดเร็ว รองรับคนเข้าสู่ระบบได้จำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น โดยผู้ป่วยเข้ารับบริการทางการแพทย์ผ่านทางไกล
“เราคือนักพัฒนาที่ไม่ได้เป็นคนใช้ แต่เราเชื่อว่าระบบของเราจะเป็นประโยชน์ จากความต้องการและเงื่อนไขที่หลากหลาย ทำให้เราพัฒนาระบบนี้ไปแล้วนับร้อยเวอร์ชั่น ในช่วงแรกเราได้รับเสียงสะท้อนค่อนข้างรุนแรงจากบุคลากรทางการแพทย์ว่า ระบบนี้จะไปเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานของพวกเขา แต่เมื่อเริ่มใช้ไปจะพบว่าระบบของเราไม่ได้เป็นภาระ ในทางกลับกันยังทำงานเบ็ดเสร็จ จบในตัว เน้นให้ผู้ป่วยบริการตนเองได้ผ่านระบบที่ร่วมกับแอปพลิเคชัน LINE”
“Telehealth เป็นระบบที่มีมานาน แต่ประเทศไทยไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้ วิกฤติครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ทำให้นวัตกรรมตัวนี้เป็นที่ยอมรับ ความประทับใจในฐานะนักพัฒนาก็คือ ไม่ใช่แค่หมอในประเทศไทยเท่านั้นที่ใช้ระบบของเรา แต่ยังพบ IP ผู้ใช้จากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่ปรากฏว่าเป็นหมอคนไทยในต่างประเทศที่เข้ามาร่วมคุยกับผู้ป่วยในระบบของเรา ทำให้เห็นว่า AMED Telehealth คือ Tele จริง ๆ ที่ไม่ได้อยู่แค่ในประเทศไทยอีกต่อไป แต่คุณหมอสามารถเข้ามาให้บริการคนไข้ได้จากทั่วโลก”
คุณวัชรากร หนูทอง
นักวิจัยประจำทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ (HII)
ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
—————————
“สู้กับเวลาเพื่อกลุ่มเสี่ยง”
ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดที่ยังสามารถระบุผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงได้ ‘DDC Care’ นับเป็นแอปพลิเคชันแรก ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคโควิด-19 เพื่อตามติดกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องกักตัวตลอด 14 วันเต็มจนกว่าจะมั่นใจว่าปลอดภัยโดยเฉพาะ กระบวนการเหล่านี้จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อลดภาระของเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค DDC Care จึงเป็นงานใหญ่ที่ระดมคนกันมาพัฒนาระบบ แข่งขันกับเวลาเพียงหนึ่งเดือนให้ทันกับการระบาดในช่วงแรก
“ระบบนี้มีการพัฒนาอยู่หลายรอบตามการระบาดในระลอกต่าง ๆ นอกจากการกักตัวและการติดตามอาการกลุ่มเสี่ยงแล้ว ยังมีการเสริมระบบให้รองรับการติดตามต่อเนื่องที่ใช้กับคนขับรถบรรทุกการขนส่งสินค้าข้ามประเทศ รวมถึงบันทึกการเดินทางของพนักงานโรงงานที่กักตัวแบบ Bubble and Seal เพื่อให้ทุกอย่างยังเดินหน้าต่อได้ผ่านการรายงานบนระบบ ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่สอบสวนโรคได้อย่างทันท่วงที โดยจะเห็นได้ว่าแอปฯ นี้ ออกแบบมาให้ตอบสนองกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
“ด้วยความต้องการที่เร่งด่วนในช่วงหนึ่งเดือนแรก เราใช้ทรัพยากรและทีมงานทั้งหมดที่มีมารุมพัฒนาแอปพลิเคชัน DDC Care ขึ้นด้วยระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือน ซึ่งนับเป็นอะไรที่ยากมาก แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงการระบาดที่ทุกคนอยู่ในความเสี่ยงเท่า ๆ กัน มีการกักตัวที่บ้าน คนเริ่มฉีดวัคซีน DDC Care จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม มีคนใช้และได้รับประโยชน์จากแอปฯ DDC Care กว่า 58,127 คน ตลอดอายุการใช้งาน 1 ปี ซึ่งกลายเป็นกำลังใจให้กับผู้พัฒนาเป็นอย่างมาก”
ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
—————————
“ขนส่งความห่วงใยไปทั่วประเทศ”
บุคลากรการแพทย์นับเป็นด่านหน้าที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับโรคโควิด-19 แต่ทว่าพวกเขาเหล่านั้นกลับไม่ได้ต่อสู้อย่างเดียวดาย เพราะยังมีคนทำงานเบื้องหลังอีกจำนวนมากที่เป็นกองหนุนคอยช่วยเหลือ ทั้งในด้านสรรพกำลัง นวัตกรรม เทคโนโลยี รวมถึงองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งงานโลจิสติกส์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ในการสนับสนุนภารกิจครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วง เพราะไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เวชภัณฑ์หรือวัคซีน ต่างจำเป็นที่จะต้องพึ่งการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
“เรามีโครงการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อยู่ 2 โครงการ โดยเริ่มจากช่วงที่เวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่าง ๆ ขาดแคลนและมีราคาสูง ทั้งชุด PPE หน้ากากอนามัย และถุงมือยาง เราจึงวิเคราะห์ปัญหาจนได้เป็นไอเดียจัดตั้งศูนย์กลางในการเก็บเวชภัณฑ์ขึ้นมาแล้วค่อยแจกจ่ายออกไปให้เท่ากับตามความต้องการของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งทำให้แต่ละโรงพยาบาลได้รับสิ่งของที่พอดีกับความต้องการ ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป พร้อมสร้างระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ทั้งหมดและบริหารจัดการขนส่งไปยังโรงพยาบาลด้วย เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ”
“เมื่อมีการนำเข้าวัคซีนเข้ามาจึงเป็นครั้งแรกที่เราได้บูรณาการองค์ความรู้เกี่ยวกับการขนส่งแบบลูกโซ่ความเย็น (Cold Chain) ที่ต้องรักษาอุณหภูมิตลอดการขนส่ง ไปพร้อม ๆ กับการตรวจสอบแบบย้อนกลับ (Traceability) ผ่านการบันทึกข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเชื่อมโยงกับแอปฯ หมอพร้อม ซึ่งนับตั้งแต่ภารกิจแรก เรามองว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก เพราะเมื่อเราสามารถจับคู่ความต้องการใช้กับปริมาณของต่าง ๆ ที่มีได้โดยไม่มีของเหลือทิ้งก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย”
รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย
หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.