“ถอดบทเรียนการต่อสู้กับโควิด-19”
ภารกิจที่ 11 ไอทีและเอไอเพื่อการบริหารจัดการบริหารจัดการสถานการณ์ด้วยข้อมูลที่เชื่อมถึงกัน
‘GISTDA COVID-19 iMAP’ ที่พัฒนาขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่มาช่วยสนับสนุนข้อมูลสำหรับบริหารสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดย ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการของ GISTDA เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นในการตีกรอบพื้นที่ด้วยการใช้ข้อมูลจากแผนที่ตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่คุ้มค่าต่อการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในช่วงเริ่มต้น “เราบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจากสื่อต่าง ๆ นำมารวบรวม จัดแบ่ง และจำแนกเป็นกลุ่มตามความเหมาะสม เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงพื้นที่ในการบริหารสถานการณ์การระบาดของโควิด-19”
เมื่อพลังของคนและเทคโนโลยีมารวมกัน นี่จึงเป็นบทเรียนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยนำ ‘ข้อมูล’ มาใช้สนับสนุนการตัดสินใจบริหารสถานการณ์ ทั้งยังเกิดการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานซึ่งทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นำไปสู่การออกมาตรการต่าง ๆ “ถ้าพูดถึงการต่อยอด ณ วันนี้ เราได้ร่วมมือกับทั้งกระทรวง อว. และกระทรวงอุตสาหกรรม ในการเตรียมความพร้อมและสามารถใช้ระบบนี้ ในกรณีที่เกิดโรคอุบัติใหม่ในอนาคต เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที”
“ผมว่าประเทศไทยต้องขับเคลื่อนการบริหารสถานการณ์และลดผลกระทบอันรุนแรงด้วยข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาด อุทกภัย เหตุการณ์ระเบิด หรือเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตามที่เรียกว่าฉุกเฉิน หากเราทำงานภายใต้ข้อมูลที่มีการอัปเดตอย่างสม่ำเสมอ ทั้งข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลอื่น ๆ ที่บูรณาการระหว่างหน่วยงาน และมีการเตรียมพร้อมวิธีการรับมือไว้ล่วงหน้า มีระบบพร้อมใช้ มีการฝึกซ้อม ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตาม ภาครัฐจะบริหารสถานการณ์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน”
ถ้าจะพูดถึงระบบให้บริการทางการแพทย์ที่คาดว่าจะเป็นเทรนด์ของโลกหลังโควิด-19 คงหนีไม่พ้น ‘ระบบบริการทางการแพทย์ทางไกล’ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเอง มีการพัฒนาระบบที่มีชื่อว่า A-MED Telehealth ซึ่งคุณวัชรากร หนูทอง นักวิจัยประจำทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ (HII) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงเจตจำนงของการผลิตระบบนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองได้ผ่านระบบที่ใช้งานง่ายที่สุด
“ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ อว. ก็มีใจอยากเป็นส่วนร่วมในการฝ่าฟันวิกฤติ อยากให้นวัตกรรมของเราได้นำออกไปใช้จริงสักที เพราะจริง ๆ แล้วระบบที่เรียกกันว่า Telehealth หรือ Telemed เป็นระบบที่มีมานานแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่เคยมีโอกาสได้เอาออกมาใช้จริง วิกฤติครั้งนี้เลยสร้างโอกาสให้นวัตกรรมนี้ได้รับการยอมรับ ทั้งในมุมของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยที่รู้สึกสบายใจที่จะใช้ระบบของเรา แม้ไม่ได้พบปะกันตัวต่อตัว ซึ่งแน่นอนว่าระบบนี้ยังช่วยลดทรัพยากรที่จะสูญเสียไปกับการสร้างโรงพยาบาลใหม่ได้อีกมากมาย”
โควิด-19 กลายเป็นประสบการณ์ใหม่ของทุกคน ซึ่งมีสิ่งหนึ่งที่คุณวัชรากร หนูทอง มองเห็นได้อย่างชัดเจนจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้คือ ประเทศไทยไม่มีแผน B หรือแผน C มารองรับในกรณีที่แผน A ล้มเหลว อีกทั้งยังขาดแคลนระบบการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งกันและกัน รวมถึงระบบที่จะทำให้เกิดวอร์รูมได้อย่างทันท่วงที “ผมมองว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราจะก้าวเข้าสู่ยุคที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับชาติ หรืออย่างน้อยมีเจ้าภาพในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างปลอดภัยและไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล เพราะในอดีต เรามีความอ่อนแอในด้านนี้มาก ส่งผลกระทบให้เกิดความผิดพลาด กินระยะเวลานานในการพัฒนา กลายเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันไปหมด”
ขณะที่การเรียนรู้และการเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในโลกยุคโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปในมุมมองของ รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่การทำงานระหว่างหน่วยงานให้ประสานสอดรับกัน เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องยาก ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทยที่ยังไม่เชื่อมโยงถึงกัน หรือการปรับตัวไปสู่การทำงานในรูปแบบใหม่ที่ไม่คุ้นเคยก็เป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน เพราะฉะนั้น ในภารกิจสร้างระบบโลจิสติกส์ในห้วงวิกฤติ จึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจและการทำงานเป็นทีมสูงมาก ทั้งในมุมมองของคนทำงานในห่วงโซ่หรือในมุมมองของนักวิจัยก็ตาม
“วันนี้เราทำงานกันในรูปแบบของโซ่อุปทานแบบผลัก หรือ Push Supply Chain คือมีอุปกรณ์ เวชภัณฑ์อยู่เท่าไรก็ส่งลงไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งหมด ถ้ามีวิกฤติขึ้นอีกในอนาคต สิ่งที่เราคิดต่อตามหลักการโลจิสติกส์และเป็นสิ่งที่ใฝ่ฝันให้เกิดขึ้นจริงมาก ๆ คือ มีการใช้อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ตามความเป็นจริงเท่าไร ต้องแจ้งข้อมูลกลับมา เพื่อการวางแผนจัดซื้อให้ตรงกับความต้องการใช้งานจริงมากที่สุด แต่ท้ายที่สุดก็ยังมีอุปสรรคอยู่ซึ่งเกี่ยวข้องกับอำนาจ ผู้ที่มีอำนาจถือครองการวางแผนมักจะได้เปรียบกว่าซึ่งส่งผลให้การทำงานไม่เป็นไปตามหลักการอย่างเต็มรูปแบบ”
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.