Carbon Atlas : นวัตกรรมระบบติดตาม ตรวจสอบ และรายงานคาร์บอน ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
?️ ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ที่เกิดจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ จนเกิดภาวะโลกร้อน สภาพภูมิอากาศเกิดความแปรปรวน และเกิดภัยพิบัติที่มีรุนแรงมากขึ้นทุกที
ปัญหาเหล่านี้ กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกภาคส่วนต่างให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ไขปัญหา เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างเช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ไฟป่า หมอกควัน รวมถึงติดตามการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พื้นที่ป่าไม้ ป่าชายเลน หรือในพื้นที่การเกษตร และต่อยอดบูรณาการข้อมูล จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาเป็น “ระบบติดตามการปลดปล่อยและดูดกลับของก๊าซเรือนกระจก” ในภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือที่เรียกว่า แพลตฟอร์ม “Carbon Atlas”
โดยแพลตฟอร์ม “Carbon Atlas” เป็นนวัตกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และรายงานการเปลี่ยนแปลงปริมาณคาร์บอน ที่มีการผสมผสานกันของการใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายทางดาวเทียมและระบบภูมิสารสนเทศ รวมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว ตรวจสอบได้ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2568
ดร.ศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล รองผู้อำนวยการ GISTDA เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา GISTDA ได้มีการดำเนินโครงการการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต ติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สีเขียว และพัฒนาฐานข้อมูลการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม Carbon Atlas เพื่อเป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลการกักเก็บคาร์บอนของประเทศไทย และนำไปสู่การจัดทำรายงานแห่งชาติ (National Communication : NC) และรายงานความก้าวหน้ารายสองปี (Biennial Update Report : BUR) สำหรับการดำเนินงานด้านการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ข้อมูลและระบบที่เกิดจากโครงการดังกล่าว นอกจากจะใช้ประโยชน์ในเรื่องของการบริหารจัดการคาร์บอน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังสนับสนุนการบริหารจัดการป่าไม้ ไฟป่า และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาชีวมวลในพื้นที่ป่าไม้และเกษตรกรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทของประเทศ
นอกจากนี้ GISTDA ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ซึ่งได้ประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกป่า ป้องกันไฟป่า และเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน รวมถึงมีความร่วมมือในการพัฒนาแบบจำลองการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ร่วมกันในอนาคต ให้มีความถูกต้อง แม่นยำ และครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการใช้เป็นแนวทางและวิธีการที่เหมาะสมสำหรับป่าชุมชนเพื่อสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิตตาม Standard T-VER และ Premium T-VER
อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความซับซ้อน ดังนั้นการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ อุปกรณ์เครื่องมือที่ล้ำสมัยในการจัดเก็บข้อมูลภาคสนาม เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
และเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความท้าทายต่าง ๆ รวมถึงนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานในทุกภาคส่วน ในการพัฒนานวัตกรรมติดตาม ตรวจสอบ และรายงานการเปลี่ยนแปลงปริมาณคาร์บอน ที่แม่นยำ ครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล GISTDA และหน่วยงานพันธมิตร ได้จัดงานสัมมนา “Carbon Atlas 2024” ขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด “Satellite - Powered Carbon MRV for Climate Action” นวัตกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และรายงาน (Monitoring, Reporting, Verification : MRV) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศจาก GISTDA กล่าวว่า ปัจจุบัน GISTDA กำลังปรับเปลี่ยนรูปแบบการสำรวจคาร์บอนเครดิตในรูปแบบของการวัดและสำรวจคาร์บอนโดยการใช้คน หรือ MRV ไปสู่การสำรวจในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า DMRV (Digital Monitoring, Reporting, Verification) ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยในการเก็บข้อมูลภาคสนาม เช่น เครื่อง 3D Scanner, LiBackpack และโดรน LiDAR ทำให้สามารถตรวจสอบ ติดตามปริมาณคาร์บอนในภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้อย่างรวดเร็วและเป็นมาตรฐานสากล
“โครงการที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นโครงการสําคัญ หรือ Flagship Projects ของ GISTDA ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ที่มีฐานข้อมูลและแผนที่คาร์บอนของประเทศไทย ที่ช่วยสนับสนุนภาครัฐให้สามารถนำไปใช้แสดงถึงการดำเนินการตามเจตนารมย์ที่ประเทศไทยประกาศไว้ในเรื่องของความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ขณะที่ภาคเอกชนสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการขับเคลื่อนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต ส่วนภาคประชาชนสามารถสร้างรายได้จากการเข้าร่วมโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และภาคการศึกษาสามารถนำข้อมูลและโมเดลต่าง ๆ ไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดความแม่นยำมากขึ้นได้” จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่มีส่วนร่วมในการสร้าง “Carbon Atlas” นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้อย่างยั่งยืน
ที่มา : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.)
https://www.facebook.com/gistda
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.