วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2563) ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุมรับมอบนโยบายและเสริมสร้างความเข้าใจด้านการประชาสัมพันธ์ อว. เพื่อสื่อสารการดำเนินงาน สร้างการรับรู้และความเข้าใจด้านการประชาสัมพันธ์ อว. ให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมด้วย ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ โฆษกกระทรวง อว., นายพาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวง อว., นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ, นายสาคร ชนะไพฑูรย์ ประธานคณะอนุกรรมการสร้างความตระหนักและสื่อสารแผนงานยุวชนสร้างชาติ, คณะผู้บริหาร อว. และผู้บริหารจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ชั้น 3 อาคารอุดมศึกษา 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ถนนศรีอยุธยา) กรุงเทพฯ
ศ.ดร.ศุภชัย รองปลัด อว. กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ เป็นการทำความเข้าใจในเรื่องของโครงการที่สำคัญของกระทรวง อว. คือ โครงการยุวชนสร้างชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาลและกระทรวง ที่ผลักดันการพัฒนาด้านกำลังคน โดยเฉพาะนักศึกษา บัณฑิต คนรุ่นใหม่ ให้มีทักษะในการทำงานมากขึ้น สามารถตอบโจทย์การทำงานร่วมกับชุมชน ท้องถิ่น และสังคมได้ จึงเกิดเป็นโครงการดังกล่าวขึ้น
โครงการยุวชนสร้างชาติ ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1.โครงการยุวชนอาสา : สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 - 4 กลุ่มละ 8 - 10 คน แบบคละศาสตร์ (วิทย์ - สังคม) โดยทำงานร่วมกับชุมชนเป็นเวลา 1 ภาคเรียน (4 - 5 เดือน) ซึ่งเป็นการทำงานจริง ได้รับประสบการณ์จริงและได้รับหน่วยกิตเทียบเท่าการเรียนในชั้นเรียนทั้งภาคเรียน 2.โครงการบัณฑิตอาสา : สำหรับบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี กลุ่มละ 8 - 10 คนแบบคละศาสตร์ (วิทย์ - สังคม) ทำโครงการในชุมชนเป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นการทำงานในพื้นที่ชุมชนของตนเอง และ 3.โครงการกองทุนยุวสตาร์ทอัพ : สำหรับนักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่ที่มีความสนใจเป็นผู้ประกอบการ และต้องการรวมกลุ่มกันจัดตั้ง Start up
ด้าน นายพาสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้าน วท. กล่าวว่า ยุวชนถือเป็นคนกําหนดอนาคตของประเทศ "Youth as a Future Changer" สำหรับโครงการยุวชนอาสา เป็นโครงการที่นำนิสิต/นักศึกษาระดับปริญญาตรีจํานวน 8,000 ถึง 10,000 คน ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษา วิเคราะห์และประมวลผลปัญหาของชุมชน ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมาย 800 - 1,000 ตําบล ที่มีปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาคุณภาพชีวิตในมิติต่าง ๆ โดยการสร้าง หรือนําองค์ความรู้ นวัตกรรมในสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภายในกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มาบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา หรือมีแนวทางในการแก้ไขที่ชัดเจนขึ้น
นางสาวนิสากร อธิบดีกรมวิทย์ฯ เผยว่า โครงการบัณฑิตอาสา เป็นการพัฒนาบัณฑิตที่จบใหม่ไม่เกิน 5 ปี จำนวนปีละ 50,000 คน มีภูมิลำเนาในพื้นที่ที่ดำเนินการ หรือพื้นที่ใกล้เคียง กรณี กรุงเทพฯ ต้องลงปฏิบัติงานในพื้นที่อื่น จุดมุ่งหวังของโครงการ คือ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีการพัฒนาทักษะทั้ง Re-Skill, Up-skill และ Soft skills สำหรับศตวรรษที่ 21 โดยเรียนรู้สภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน จัดทำโครงงานร่วมกับประชาชนพื้นที่ แสวงหาเครื่องมือ/ แนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนเรื้อรัง และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชน จำนวนปีละ 5,000 ชุมชน รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษามีการขยายเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาชุมชน จำนวน 5,000 ชุมชน
ด้าน นายสาคร ประธานคณะอนุกรรมการสร้างความตระหนักฯ กล่าวว่า โครงการกองทุนยุวสตาร์ทอัพ เป็นความต้องการที่จะให้ยุวชนสร้างสตาร์ทอัพของตนเองขึ้นมา โดยกระทรวงมีกองทุนเพื่อสนับสนุนและมีการบ่มเพาะให้ ซึ่งในฐานะของการทำหน้าที่ประธานคณะอนุกรรมการสร้างความตระหนักฯ สิ่งที่คาดหวังจากการประชุมในวันนี้ คือ 1.การเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการทั้งนักศึกษา อาจารย์ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ 2.การเผยแพร่รายละเอียดข้อมูล กิจกรรมของโครงการต่อสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ 3. การประสานงานความร่วมมือในด้านต่าง ๆ
สำหรับแนวทางการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์โดยรวมของกระทรวง อว. นั้น ดร.อภิชัย โฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า เป้าหมาย คือ 1.สร้างความร่วมมือในการรวบรวมข้อมูล สถานการณ์ เหตุการณ์เร่งด่วนต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทบาท ภารกิจ ผลงานของกระทรวง อว. และหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล 2.กำหนดช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกระทรวง อว. และหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล เพื่อการประชาสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาสามารถให้ความร่วมมือได้โดยการเป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์กับกลุ่มประชาชนในพื้นที่ การมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล รวมถึงการให้นักวิจัยหรือผู้เชียวชาญเฉพาะด้านช่วยตอบประเด็นคำถาม และให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.