กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับสมาคมเพื่อนชุมชน และคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามในบันทึกความร่วมมือภายใต้ โครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากต้นแบบ ในเขตพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ตามแนวทางธรรมศาสตร์โมเดล ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) จังหวัดระยอง ส่งเสริมแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลโดยผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างรายได้ พัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน
สำหรับการลงนามเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. นายวริทธิ์ นามวงษ์ นายกสมาคมเพื่อนชุมชน และ นางสาวนุชนาถ จันทราวุฒิกร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการนักศึกษา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมลงนามอย่างเป็นทางการ โอกาสนี้ ว่าที่ร้อยตรีพิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารหน่วยงานเครือข่าย อาทิ ธนาคารออมสิน โรงไฟฟ้าบางปะกง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทั้งในเขตและนอกเขตพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ร่วมเป็นเกียรติในงาน ณ ห้องประชุมสร้อยทอง 3 - 4 โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ จังหวัดระยอง
การลงนามดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อร่วมกันส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้แก่สมาชิกวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ (เขตควบคุมมลพิษ) ยกระดับศักยภาพด้านการบริหารจัดการ ปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเชิงการค้า ให้เข้มแข็งและยั่งยืน อีกทั้งเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาระหว่าง วว. สมาคมเพื่อนชุมชน และธรรมศาสตร์โมเดล ในด้านการศึกษา วิจัย ฝึกงานร่วมกันระหว่างคณาจารย์และนักศึกษาจากโครงการบูรณาการปริญญาตรี - โท หลักสูตร 5 ปี ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 1 ปี
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า วว. พร้อมสนับสนุนโครงการฯ ด้วยการส่งนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ร่วมลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ ให้แก่นักศึกษาของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จำนวน 9 กลุ่ม รวมถึงนอกเขตพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์มีจำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนในอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ภายใต้การดูแลของธนาคารออมสิน และโรงไฟฟ้าบางปะกง รวม 13 กลุ่ม
“...วว. มีความพร้อมทั้งในองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิจัยของ วว. มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์/สินค้าแก่วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐบาล โดย วว. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมแกร่งวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเศรษฐกิจฐานต้นแบบ ในเขตพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ตามแนวทางธรรมศาสตร์โมเดล ร่วมสนับสนุนให้เป็นต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ของจังหวัดระยอง
การดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบาย “สานพลังประชารัฐ” ของรัฐบาล และยังสอดคล้องกับโครงการการ “ยุวชนอาสา” และ “บัณฑิตอาสา” ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นการรวมพลังทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับยุวชน ภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ให้ทุกคนได้ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดระยองให้เกิดการกระจายรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนแนวคิดของ วว. ในการพัฒนาศูนย์ต้นแบบ Shared production service หรือ ครัวชุมชนในพื้นที่ ที่มุ่งหวังให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ตั้งในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ให้มีเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนเชื่อมโยงถึงกิจกรรมกับหน่วยงานต่างๆ ในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม” ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติม
นายวริทธิ์ นามวงษ์ นายกสมาคมเพื่อนชุมชน กล่าวว่า โครงการเพื่อนชุมชน - ธรรมศาสตร์โมเดล ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 5 นับตั้งแต่ปี 2559 โดยใช้องค์ความรู้ผ่านนักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ วว. นำนักวิจัยลงพื้นที่ ให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อเกิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน
“...นักศึกษาจะต้องลงทำงานจริงร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน เพื่อเรียนรู้ปัญหาของชุมชน นำความรู้จากห้องเรียนไปช่วยแก้ปัญหา หาจุดอ่อนของชุมชน ร่วมกันหาตลาดปละปรับปรุงสินค้า วางระบบจัดการสต๊อกสินค้า และวางระบบให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ความยากอยู่ที่การทำให้ชุมชนเห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงและยินยอมที่จะทำต่อไปหลังสิ้นสุดโครงการ เพื่อจะได้ไม่กลับไปอยู่ในวงวนเก่าๆ ซึ่งเป็นปัญหาของวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ในการดำเนินงานของโครงการเพื่อนชุมชน - ธรรมศาสตร์โมเดล
นอกจากภารกิจดังกล่าวแล้ว ยังได้เชื่อมโยงไปยังผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่และภาคเครือข่ายฯ ในการร่วมกันเป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับวิสาหกิจชุมชนแต่ละกลุ่ม โดยทำงานร่วมกับนักศึกษาและ วว. ในการยกระดับศักยภาพ ทั้งด้านบริหารจัดการ การปรับปรุงคุณภาพสินค้าและการบริการ สร้างรายได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงการค้าให้กับวิสาหกิจชุมชน จังหวัดระยอง สู่มาตรฐานสากล ตลอดจนร่วมกันขับเคลื่อนต้นแบบการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ให้กับจังหวัดระยองต่อไป...” นายกสมาคมเพื่อนชุมชน กล่าว
สำหรับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะสนับสนุนนำนักศึกษาลงปฏิบัติภารกิจส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ยกระดับศักยภาพทั้งในด้านการบริหารจัดการ ปรับปรุงคุณภาพสินค้าบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงการค้าให้กับวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ เชื่อมโยงสู่การพัฒนาสินค้าและบริการให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสมาคมเพื่อนชุมชน ในการลงพื้นที่ปฏิบัติการของนักศึกษา ส่งเสริมแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลโดยผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างรายได้ พัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.