“ศุภมาส” เปิดประชุม Global Sustainable Development Congress 2024 ชวนผู้นำ 90 ประเทศผลักดันอุดมศึกษาทั่วโลกขับเคลื่อนงานวิจัย นวัตกรรม การเข้าถึงข้อมูล สร้างพื้นที่การสนทนาและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนของสหประชาชาติและสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรม
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้แทน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานประชุม Global Sustainable Development Congress 2024 จัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวง อว. และ สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก Times Higher Education (THE) ระหว่างวันที่ 10-13 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)” โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย ผู้นำในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคม กว่า 3,000 คนจาก 90 ประเทศทั่วโลก
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ประเทศไทยและรัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายภายในต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยการศึกษาจะมีส่วนสำคัญในการเปิดโอกาสให้มนุษย์ทุกคนได้รับความ ทักษะ ทัศนคติและค่านิยมที่จำเป็นต่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนในประเทศพึงได้รับ อันจะนำไปสู่การเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี และเกิดการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม ปฏิญญาได้เสนอให้มีการส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อ “การลงทุนสำหรับอนาคต” ซึ่งเชื่อมโยงการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไว้ด้วยกัน และยังหมายรวมถึง “การรวมประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สำคัญไว้ในการเรียน การสอน การเสริมสร้างพลังประชาชนในทุกช่วงอายุ เพื่อให้มีความรับผิดชอบต่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ได้มีการนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายของประเทศ คือ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักการสำคัญในความพยายามเพื่อการพัฒนาความยั่งยืนของประเทศไทย พร้อมให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สามารถกำหนดอนาคตของประเทศ ผ่านการมีส่วนร่วมของประชากรไทย และองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเข้าใจและความมุ่งมั่นร่วมกัน
รมว.กระทรวง อว.กล่าวต่อว่า ตนหวังว่าผู้นำระดับโลกทางวิชาการ รัฐบาล ธุรกิจ และสังคมพลเมือง หัวหน้าส่วนราชการไทย อธิการบดี และผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาของไทย กว่า 3,000 คนจาก 90 ประเทศทั่วโลก จะช่วยกันส่งเสริมและผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาจากทั่วโลกช่วยกันขับเคลื่อนโครงการด้านการศึกษา การวิจัย นวัตกรรม และการเข้าถึงข้อมูล เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยการผนึกกำลังกับภาคธุรกิจ รัฐบาล และองค์กรการกุศลเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หลัก คือ การรวมการศึกษาระดับอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและสังคมเข้าด้วยกัน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนโดยการรวมตัวกันเพื่อสร้างพื้นที่สำหรับการสนทนาและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อมอบโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรม
สำหรับการประชุม Global Sustainable Development Congress 2024 ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการจุดประกายความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลง โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญ นักคิด และนักนวัตกรรมระดับโลก เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขเร่งด่วนด้านการพัฒนาความยั่งยืนของภาคอุดมศึกษา รัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ รวมถึงเป็นการส่งเสริมและผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาจากทั่วโลกช่วยกันขับเคลื่อนโครงการด้านการศึกษาการวิจัย นวัตกรรม และการเข้าถึงข้อมูล เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นใน 6 ประเด็นสำคัญ คือ 1. การศึกษา เพศสภาพและความเหลื่อมล้ำ 2. สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และประชากร 3. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน 4.ระบบอาหาร ที่ดิน น้ำ และมหาสมุทรที่ยั่งยืน 5. เมืองและชุมชนยั่งยืน และ 6. การปฏิวัติเชิงดิจิทัลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นายกรภัทร์ จิตต์จำนงค์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.