เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.67 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวง อว. ได้นำ เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….เข้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธานการประชุม โดยมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและรับทราบตามที่กระทรวง อว.เสนอ ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของกระทรวง อว. ในการผลักดันให้เกิดการเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กร เพื่อต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรม สำหรับใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผ่านการลงทุนหรือร่วมทุนกับภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกิดโครงการลงทุนด้านนวัตกรรมแก่ประเทศได้ตามนโยบายรัฐบาล ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวต่อว่า เนื่องจาก พรบ. วว. พ.ศ.2522 มีข้อจํากัดในประเด็นวัตถุประสงค์ขององค์กร (มาตรา 6) อํานาจหน้าที่ (มาตรา 7) และแหล่งที่มาของรายได้ (มาตรา 8) ที่ วว. ไม่สามารถดําเนินงานในเชิงพาณิชย์ได้ วว. จึงไม่สามารถต่อยอดงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้เชิงพาณิชย์ผ่านการลงทุนเอง ร่วมทุนกับ หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน การแก้ พรบ. จึงสนับสนุนให้ วว. สามารถช่วยประเทศขับเคลื่อนงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เกิดการลงทุนในนวัตกรรม รวมทั้ง วว. สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยได้ดําเนินการแก้ไข ดังนี้ แก้ไขมาตรา 6 วัตถุประสงค์องค์กร โดยขยายภารกิจองค์กรให์สามารถดําเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลงานวิจัยและนวัตกรรม แก้ไขมาตรา 7 อํานาจหน้าที่ ขยายขอบเขตให้สอดคล้องกับมาตรา 6 ที่เพิ่มขึ้น โดยให้องค์กรสามารถถือหุ้น เข้าเป็นหุ้นส่วน และลงทุนหรือร่วมลงทุน การกู้ยืมเงิน การออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน และแก้ไขมาตรา 8 แหล่งที่มาของรายได้ ขยายขอบเขตให้สอดคล้องกับมาตรา 6 และ 7 ที่เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มแหล่งที่มาของรายได้เชิงพาณิชย์ เช่น ผลตอบแทนจากการร่วมลงทุน เป็นต้น
ผู้ว่า วว. กล่าวต่อว่า การแก้ไข พรบ. วว. ทําให้เพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในการต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมขององค์กรเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผ่านการลงทุนหรือร่วมทุนกับภาครัฐ สามารถผลักดันให้เกิดโครงการลงทุนด้านนวัตกรรมแก่ประเทศได้ตามนโยบายรัฐบาลส่งผลให้เกิดข้อดี ดังนี้ 1.เกิดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ สามารถสร้างผลงานนวัตกรรมออกสู่ตลาดได้จริงสอดรับต่อนโยบายตลาดนํานวัตกรรมเสริม สามารถขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ วว. มีศักยภาพ เช่น นวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพ นวัตกรรมด้าน Waste Management เป็นต้น เกิดการจ้างงาน การลงทุน และการแก้ไขปัญหาสําคัญของประเทศ ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (วทน.) 2. ลดการพึ่งพิงเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลในการลงทุนโครงการวิจัยนวัตกรรมเพิ่มความ มั่นคงทางการเงินให้ วว. จากการมีรายได้เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 3.มีการนําโครงสร้างพื้นฐาน วทน. ของ วว. ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ผ่านการให้เอกชนเข้ามาร่วมดําเนินโครงการวิจัยนวัตกรรม ทําให้ภาครัฐเกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน วทน. และ 4.การร่วมลงทุนกับภาคเอกชนทําให้ลดความเสี่ยงการดําเนินโครงการวิจัยนวัตกรรม ตามหลักการร่วมลงทุนถ่ายโอนความเสี่ยงให้ภาคเอกชนดําเนินการแทนในส่วนที่มีความสามารถสูง เช่น การตลาด การเงิน เป็นต้น ความเสี่ยงจากการดําเนินงานในโครงการวิจัยของ วว. จึงสามารถลดลงได้
“กระทรวง อว. มีส่วนสำคัญยิ่งที่เร่งผลักดันให้การแก้ไข พรบ. วว. เป็นไปอย่างราบรื่น โดย วว. ได้วางแผนรองรับหลังจากนี้ เพื่อให้การแก้ไข พรบ. วว. ได้ถูกนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้ เชื่อมั่นว่าการต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านการลงทุนหรือร่วมทุนกับภาครัฐ คาดช่วยให้เกิดโครงการลงทุนด้านนวัตกรรมแก่ประเทศได้ตามนโยบายรัฐบาล ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” ดร.ชุติมา กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.