เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ที่รัฐสภา นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (พ.ร.บ.วว.) (ฉบับที่.... พ.ศ...... ) โดยมีหลักการคือ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.วว. พ.ศ. 2522 ดังต่อไปนี้ (1) แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของ วว. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6) (2) แก้ไขเพิ่มเติม อำนาจหน้าที่กระทำการต่างๆ ภายในขอบเขตวัตถุประสงค์ ของ วว. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6) (3) ปรับปรุงรายได้ของ วว. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (3) และยกเลิกมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (4)
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความสามารถในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน วว. ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ มีพันธกิจที่จะนำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปปฏิบัติ และร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้ วว. สามารถดำเนินธุรกิจ และนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.วว. พ.ศ. 2522 มีสาระสำคัญคือ (1) แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของสถาบัน ให้สามารถดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลงานวิจัยและนวัตกรรม หรือเกี่ยวเนื่องกับการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ การพัฒนาบุคลากรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยีให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ร่างมาตรา 3 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6) (2) แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของสถาบัน ให้สามารถรับค่าบำรุง ค่าใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา รายได้ และผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใด ที่ได้ดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่ การให้บริการทดสอบ ตรวจสอบ ตรวจวัด วิเคราะห์ สอบเทียบ ตรวจประเมิน ประเมินความเสี่ยง และรับรองระบบคุณภาพ และผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานแห่งชาติและมาตรฐานอื่น พัฒนาและผลิต ผลิตภัณฑ์และบริการอื่น ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การกู้ยืมเงิน ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใด เพื่อการลงทุนหรือให้กู้ยืมเงิน โดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สิน ถือหุ้น เข้าเป็นหุ้นส่วน และลงทุนหรือร่วมลงทุน ทั้งนี้ หากการดำเนินการ เกินคราวละยี่สิบล้านบาท ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการให้คำปรึกษา การจัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่นจัดตั้งนิติบุคคล หรือลงทุน หรือร่วมลงทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เพื่อดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกิจการของสถาบัน หรือเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น และการดำเนินกิจการอื่นใดตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน (ร่างมาตรา 4 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7) และ (3) ปรับปรุงรายได้ของ วว. ให้ครอบคลุมรายได้หรือผลประโยชน์ตอบแทนอื่นทั้งที่มาจากการให้กู้ยืมเงิน การลงทุนการร่วมทุนจากทรัพย์สิน และการดำเนินงานของสถาบัน รวมทั้งดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมการลงทุน และจากทรัพย์สินของสถาบันด้วย (ร่างมาตรา 5 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 (3) และร่างมาตรา 6 (ยกเลิกมาตรา 8(4)
การปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.วว. ถือเป็นอีกหนึ่งการพลิกโฉมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการพัฒนางานวิจัยของประเทศ เป็นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย หน่วยงานสามารถนำทรัพย์สิน เครื่องมือ เครื่องจักร ที่ใช้กับกลุ่มชุมชน ไปจนถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศที่รัฐได้ลงทุนจากงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่องหลังจากโครงการวิจัยแล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกกลุ่มที่รับเทคโนโลยีจาก วว. อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดการพึ่งพางบประมาณภาครัฐ ตลอดจนนำรายได้ที่ได้จากการร่วมทุนไปลงทุนทำงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและชุมชนได้อย่างทันการ ตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและบริบททางสังคมในขณะนั้น โดยไม่ต้องรองบประมาณแผ่นดิน รวมถึงประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงได้มากขึ้น โดยมีหน่วยงานของรัฐเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทางของราคาที่เหมาะสม นับเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกระทรวง อว. ทางกระทรวงพร้อมที่จะรับคำแนะนำ เพื่อนำไปปรับปรุงเพิ่มเติม ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญ ที่สภาผู้แทนราษฎรจะเสนอชื่อในโอกาสต่อไป
จากนั้นที่ประชุมสภาได้พิจารณารับหลักการร่าง พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ฉบับที่….. พ.ศ….. จำนวนผู้ลงมติ 413 คน เห็นด้วย 409 คน ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 0 ไม่ลงคะแนนเสียง 4
“กระทรวง อว. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้ ได้ช่วยผลักดันให้การแก้กฎหมายหรือ พ.ร.บ. วว. ที่มีใช้มากว่า 45 ปี ได้สำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง ในนามของกระทรวง อว. ขอขอบคุณที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ให้ความสำคัญเห็นชอบรับหลักการฯ แบบเอกฉันท์ ดิฉันมั่นใจว่า ผลจากการปรับ พ.ร.บ. ครั้งนี้ จะทำให้ วว. สามารถนำผลงานวิจัยสู่สังคม ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างทั่วถึง“ น.ส.ศุภมาส กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากการลงมติดังกล่าว ได้มีการเสนอจำนวนกรรมาธิการ 33 ท่าน ในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี 8 คน ส่วนสัดส่วนคณะกรรมการของพรรคการเมือง 25 คน ก้าวไกล 7 คน พรรคเพื่อไทย 7 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคพลังประชารัฐ 2 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 2 คน พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน และพรรคประชาชาติ 1 คน
โดย น.ส.ศุภมาส ได้ลุกขึ้นเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ฉบับที่…. พ.ศ…. จำนวน 8 คน ได้แก่ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี, นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์, นางชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต, น.ส.เกวลี มโนภินิเวศ, น.ส.วิภารัตน์ ดีอ่อง, นายศุภชัย ใจสมุทร, นายธนันท์วรุตม์ ลิ้มทรงพรต, และนายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.