เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เพื่อเตรียมความพร้อม เฝ้าระวัง และสนับสนุนการรับมืออุทกภัย โดยมี ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการ สสน. นำชมหน่วยวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำเคลื่อนที่ (Mobile War Room) เทคโนโลยีโทรมาตรอัตโนมัติตรวจวัดข้อมูลสภาพอากาศและระดับน้ำ เทคโนโลยีสำรวจภูมิประเทศเพื่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงรองรับคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติและระบบคาดการณ์สถานการณ์น้ำ
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พบว่าตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และคาดว่าจะมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม
รมว.กระทรวง อว.กล่าวต่อว่า ดังนั้น กระทรวง อว. จึงได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยมอบนโยบายสำคัญ 6 เรื่อง ดังนี้ 1. มอบหมายให้ สสน. เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการติดตามและแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้กับประชาชน โดยให้วิเคราะห์ข้อมูลและประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเตรียมการรับมืออุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ สสน. จะทำหน้าที่เป็นคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ รวบรวมข้อมูลจาก 52 หน่วยงาน ภายใน 12 กระทรวง พร้อมทั้งใช้ระบบวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำที่ทันสมัย 2. สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยส่วนหน้า ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดย สสน. จะปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและ สทนช. นำความรู้และเทคโนโลยีด้านการจัดการน้ำมาใช้แก้ไขปัญหาอย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบด้วย รถ Mobile War Room หน่วยวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำเคลื่อนที่ สถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศและระดับน้ำอัตโนมัติ การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการสำรวจภูมิประเทศเพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ระบบติดตามและคาดการณ์สถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง และแอปพลิเคชัน ThaiWater รายงานสถานการณ์น้ำ 3. ให้ศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์ ซึ่งเป็น "หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วของ อว." เข้ามามีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์อุทกภัย โดยจัดทีมลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ แจ้งเตือนสถานการณ์ และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการเตรียมตัวรับมืออุทกภัย รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เพื่อวางแผน ดำเนินการป้องกัน และบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ 4. ริเริ่ม "โมเดล อว. แจ้งภัยน้ำ" โดยประสานงานกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ให้รับข้อมูลสถานการณ์น้ำจาก สสน. และสื่อสารแจ้งเตือนภัยจากภาควิชาการสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนให้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง รวมถึงให้ความรู้ และช่วยเหลือชุมชนโดยรอบ 5. ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่นำความเชี่ยวชาญทางวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง มาร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับจังหวัดในการวางแผนรับมืออุทกภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย และให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งศูนย์ประสานงานเฉพาะกิจ เพื่อรับมือสถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งใช้พื้นที่ และทรัพยากรของมหาวิทยาลัย เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวหากจำเป็น และ 6. มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกระทรวง อว. สนับสนุนทุกภาคส่วนอย่างเต็มกำลัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความอุ่นใจ ให้กับประชาชนในทุกสถานการณ์
"กระทรวง อว. พร้อมที่จะทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และทันต่อสถานการณ์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกคน" นางสาวศุภมาส กล่าว นอกจากนี้ รมว.อว. ยังเน้นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวังและรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนเอง โดยสนับสนุนให้ประชาชนดาวน์โหลดและใช้งานแอปพลิเคชัน ThaiWater ซึ่งพัฒนาโดย สสน. เพื่อใช้ติดตามและคาดการณ์สถานการณ์น้ำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.