เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. น.ส.สุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. นายบุญช่วย เจริญผล ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) คณะผู้บริหาร มทร.กรุงเทพ และ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ อ.อ๊อด และมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรม ร่วมแถลงข่าว “กรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-Degree) ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ของ มทร.กรุงเทพ ที่ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (โยธี)
น.ส.สุชาดา กล่าวว่า ตามที่ได้มีประเด็นการร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-Degree) ช่างซ่อมบำรุงอากาศยานของ มทร.กรุงเทพ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ก็ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยด่วน โดยได้มีการประสานผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า หลักสูตรช่างซ่อมบำรุงอากาศยานดังกล่าวเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-Degree) อยู่ในอำนาจของสภามหาวิทยาลัย และได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามมาตรฐานสากลของสำนักความปลอดภัยการบินของสหภาพยุโรป ที่เรียกว่า EASA : European Union Aviation Safety Agency สำหรับผู้ร้องเรียนนั้น กระทรวง อว. ได้ประสานเพื่อหารือแนวทางให้ความช่วยเหลือ ซึ่ง มทร.กรุงเทพ และผู้ร้องเรียนได้ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 โดยได้ข้อสรุปและได้ทำความตกลงเข้าใจร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ให้ความช่วยเหลือ โดยสนับสนุนเป็นทุนการศึกษาและให้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาที่ต้องการประสงค์ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาและเป็นการพัฒนาอนาคตกำลังคนของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า
“ขอยืนยันว่า กระทรวง อว.ได้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบและโปร่งใส ขอให้สื่อมวลชนช่วยกันเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารไปยังสาธารณชนให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และเพื่อเป็นแนวทางต่อประชาชนผู้สนใจในการศึกษาต่อและสนับสนุนทางมหาวิทยาลัยในการพัฒนากำลังคนเฉพาะทางที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการตอบโจทย์ของประเทศด้านอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์” น.ส.สุชาดา กล่าว
ด้าน นายบุญช่วย กล่าวว่า มทร.กรุงเทพ เริ่มต้นการจัดการศึกษาด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 ตามมติสภามหาวิทยาลัยฯ โดยเริ่มจากการพัฒนาบุคลากรให้ได้มาตรฐานด้วยการส่งไปฝึกอบรมในประเทศเยอรมันนีและสอบผ่านใบอนุญาตให้เป็นผู้สอน ทั้งบุคลากรภายในของมหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสายการบินต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านครุภัณฑ์เครื่องมือเฉพาะทางต่าง ๆ ด้านการเรียนการสอนที่เป็นไปตามมาตรฐานการซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มเติม จนกระทั่งผ่านการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐานเอียซ่า EASA PART 147 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 จากองค์กรสำนักความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป European Aviation Safety Agency : EASA ผ่านทางศูนย์ฝึกอบรมการซ่อมบำรุงอากาศยานแอร์โร่บิลดุง (Aero Bindung) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (LBA : Luftfahrt Bundesamt) โดยเริ่มจัดฝึกอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรทางวิชาชีพตามมาตรฐาน EASA PART 66 CAT B1.1 เมื่อเดือนเมษายน 2559 จนถึงปี 2565 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีหน่วยงานใดในประเทศไทยที่ผลิตกำลังคนด้านซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐาน EASA
นายบุญช่วย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ยกระดับการพัฒนาหลักสูตรเป็นระดับปริญญาตรี 4 ปี หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศบ.) สาขาวิชาวิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เพื่อรองรับการผลิตกำลังคนด้านนี้ให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป กรณีนี้ผู้ร้องเรียนนั้นเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและเข้าใจไม่ตรงกันเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรฯ ประกอบกับทาง มทร.กรุงเทพ ได้เป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทยที่ได้มีการจัดการเรียนการสอนมาตรฐานหลักสูตรเฉพาะทางขั้นสูงดังกล่าวขึ้น ทั้งนี้ ในอนาคตอาจต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจต่อสาธารณชน หรือผู้เรียนให้มีความเข้าใจกับเนื้อหาหลักสูตรอย่างละเอียดมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ รศ.ดร.วีรชัย กล่าวว่า ตนยอมรับว่าได้เกิดความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนหลายประการในการดำเนินการหลักสูตรนี้ของมหาวิทยาลัย แต่หลังจากที่ รมว.อว. และ ผู้ช่วย รมว.อว. เข้ามาดูแลด้วยตนเอง มีเลขานุการ รมว.อว. ประสานงานอย่างใกล้ชิด ทำให้ข้อเท็จจริงหลายอย่างในเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น พร้อมได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. เข้ามาดำเนินการไกล่เกลี่ย จนได้ข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย วันนี้ตนเข้าใจแล้วว่าหลักสูตรนี้มีมาตรฐานจริงๆ ซึ่งผู้ร้องเรียนก็พร้อมจะถอนแจ้งความทั้งหมด ตนจึงขอน้อมรับความผิดที่เกิดจากความเข้าใจผิดนี้ และขอขอบคุณกระทรวง อว.ที่ทำให้เรื่องนี้จบลงอย่างสมบูรณ์ในทุกมิติ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.