เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน “KMITL Innovation Expo 2025” ภายใต้แนวคิด Global Partnerships ในโอกาสฉลองครบรอบ 65 ปี สจล. ซึ่งมีการจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมกว่า 1,000 ชิ้น การเวิร์กชอป และการเสวนาของผู้เชี่ยวชาญระดับโลก และการเปิดตัว "Knowva" แชทบอทครูแนะแนว AI ตัวแรกของประเทศไทยที่พัฒนาร่วมกับ Amazon Web Services (aws) เพื่อช่วยแนะแนวอาชีพและการศึกษาผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่เชื่อมโยง ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐบาล เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ ที่ปรึกษาด้านระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาราชการในตำแหน่งรองปลัดกระทรวง อว. เข้าร่วม และมี รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. กล่าวต้อนรับ และมี ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นายกสภา สจล. กล่าวแสดงความยินดี ณ หอประชุมเจ้าพระยา สุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สจล.
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า งาน KMITL Innovation Expo 2025 สะท้อนบทบาทของ สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ไม่ได้เป็นเพียงศูนย์กลางองค์ความรู้และงานวิจัยเชิงลึก แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนา AI และการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับภาคการศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ให้กับเยาวชนทั่วประเทศ ซึ่งหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงานนี้คือการเปิดตัว "Knowva" แชทบอท AI แนะแนวการศึกษาตัวแรกของไทย ที่ใช้ Machine Learning วิเคราะห์ความถนัดและให้คำแนะนำเส้นทางอาชีพแก่เยาวชน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการนำ AI มาเพิ่มโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดแคลนครูแนะแนว กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนทุกมหาวิทยาลัยที่มุ่งใช้เทคโนโลยีพัฒนาการศึกษาและการวิจัย เพราะการพัฒนากำลังคนและเทคโนโลยีต้องก้าวไปพร้อมกัน งานวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สะท้อนศักยภาพของ สจล. และประเทศไทย ในการก้าวสู่ยุคใหม่ของการเรียนรู้และนวัตกรรม
“KMITL Innovation Expo 2025 ไม่ใช่เพียงแค่งานโชว์เทคโนโลยี แต่เป็นเวทีที่นำ "นวัตกรรมที่ขึ้นหิ้ง" มาสู่การ “ขึ้นห้าง” โดยนักวิจัย ภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการสามารถต่อยอดเทคโนโลยีไปสู่เชิงพาณิชย์ ช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยก้าวไกลสู่อนาคต” รมว.อว. กล่าว
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า กระทรวง อว. มุ่งมั่นที่จะสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศผ่านการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา หน่วยงานวิจัย และภาคธุรกิจ ทั้งหน่วยงานภายในสังกัดกระทรวง อว. และหน่วยงานภายนอกทุกระดับ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ยั่งยืน โดยกระทรวง อว. ได้มีความพยายามในการปรับปรุงมาตรฐานอุดมศึกษาและกลไกที่เอื้อต่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน มุ่งเป้าหมายให้บัณฑิตมีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสังคม ตนขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันจัดงาน KMITL Innovation Expo 2025 ซึ่งจัดขึ้นได้อย่างน่าประทับใจ และเป็นการแสดงนวัตกรรมที่สำคัญและเป็นประโยชน์เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต
รศ.ดร.คมสัน กล่าวว่า “Knowva" ถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนและนวัตกรรมด้าน AI ให้กับประเทศ โดยการทำงานร่วมกับ aws ผู้นำระดับโลกด้าน AI และ Cloud Computing ทำให้เราสามารถนำเทคโนโลยีมาสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนไทยได้อย่างทั่วถึง Knowva จะช่วยให้นักเรียนสามารถค้นพบความถนัดของตัวเอง เข้าใจเส้นทางอาชีพ และเตรียมตัวสู่อนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพนอกจากนี้ สจล. ยังมีแผนผลิตและพัฒนากำลังคนด้าน AI อย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจตามนโยบายของกระทรวง อว. ที่มุ่งเน้นการสร้างบุคลากรที่มีทักษะสูงในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะ AI และ Data Science ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง สจล. และ aws ในการพัฒนาโซลูชันด้าน AI ที่จะเข้ามายกระดับระบบการศึกษาและการพัฒนากำลังคนของไทย โดยในอนาคต เรามีแผนขยายการพัฒนา AI ที่สามารถรองรับการแนะแนวทางการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล (Personalized Learning) การช่วยเหลือด้านการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และการสนับสนุนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สจล. พร้อมเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา AI ในระดับประเทศ โดยมุ่งสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพและผลักดันนวัตกรรมด้าน AI ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภูมิภาค
ในงาน KMITL Innovation Expo 2025 มีการจัดแสดงนวัตกรรมล้ำสมัย ไอเดียสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงกิจกรรมเวิร์กชอปจากทุกคณะของ สจล. เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทดลองอาชีพในฝันก่อนเลือกเรียน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบและพัฒนายานยนต์ การจำลองการขับเครื่องบินเสมือนนักบินพาณิชย์ การทดลองกรอฟันเสมือนทันตแพทย์ หรือการพัฒนาอาหารแห่งอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดง 7 กลุ่มนวัตกรรมล้ำสมัย ที่จะกำหนดทิศทางอนาคตของไทย เช่น เมืองอัจฉริยะและดิจิทัล เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน นวัตกรรมชีวภาพและการแพทย์ ปัญญาประดิษฐ์และอุตสาหกรรม 4.0 และเทคโนโลยีการศึกษาเป็นต้น อีกทั้ง งานนี้ยังเป็น เวทีสำคัญที่เชื่อมภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐบาล เพื่อสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนเทคโนโลยีไทย เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้พบแนวคิดใหม่ ๆ และค้นพบศักยภาพของเยาวชน ภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยี นักวิจัยและสตาร์ทอัพสามารถต่อยอดนวัตกรรมสู่การใช้งานจริง และหนึ่งในไฮไลต์ของงานนี้คือ "Knowva" (โนวา) แชทบอท AI ที่ทำหน้าที่เป็น "ครูแนะแนวอัจฉริยะ" ตัวแรกของไทย ซึ่ง โดยมีฟีเจอร์หลัก ได้แก่ การแนะแนวอาชีพตามความสนใจ โดยวิเคราะห์ความถนัดของนักเรียนและแนะนำอาชีพที่เหมาะสม การให้ข้อมูลหลักสูตรการศึกษา โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากมหาวิทยาลัยชั้นนำและหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง การช่วยเตรียมตัวสอบและสมัครเรียน โดยช่วยแนะแนวทางการสอบเข้ามหาวิทยาลัยและเส้นทางอาชีพ และการสนทนาอัจฉริยะ โดยใช้ AI โต้ตอบและให้คำแนะนำแบบเรียลไทม์
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน KMITL Innovation Expo 2025 เพื่อสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตแห่งเทคโนโลยีที่ยั่งยืน ได้ตั้งแต่วันที่ 6-8 มีนาคม 2025 ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.