เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว. การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน “Chula Deep Tech Demo Day 2023” จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้บริหารกระทรวง อว. พร้อมนักลงทุน (Venture Capital) กว่า 800 คนจากทั่วทุกมุมโลกและสตาร์ตอัปไทยเข้าร่วมงาน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า งานนี้กระทรวง อว.โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกแบบขึ้นมาเพื่อกลุ่มสตาร์ตอัปที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ได้มีโอกาสนําเสนอและแสดงผลิตภัณฑ์ให้กับนักลงทุนที่มีศักยภาพ เพื่อให้เกิดการดึงดูดนักลงทุน VCs และ CVCs จากทั่วโลกเข้ามายังประเทศไทย ขณะเดียวกัน สตาร์ตอัปที่เข้าร่วมงานยังมีโอกาสในการเชื่อมโยงกับสตาร์ตอัปและผู้เล่นสำคัญในระบบนิเวศนวัตกรรม โอกาสในการเข้าร่วมเครือข่ายกับบุคคลผู้มีอิทธิพลในระบบนิเวศนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ระดับโลก พร้อมทั้งได้รับข้อมูลสาระสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ของตลาดสตาร์ตอัปไทยในปัจจุบันอีกด้วย
รมว. อว.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวง อว.ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่มีบทบาทในการสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มสตาร์ตอัปในประเทศไทย โดยได้ร่วมกันขับเคลื่อนทั้งในแง่การสนับสนุนเงินทุนสำหรับสตาร์ตอัปในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงไปใช้ในการประกอบธุรกิจ อาทิ การสนับสนุนทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงผลักดันให้ผลงานวิจัยออกไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ ขณะที่ ยังมีการสนับสนุนให้มีศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ เพื่อช่วยให้กลุ่มสตาร์ตอัปมีแนวทางการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้ดีขึ้น เห็นโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสามารถสร้างเครือข่ายทางธุรกิจได้ ซึ่งตัวอย่างโครงการที่ อว. ได้ขับเคลื่อนอยู่ เช่น การสร้างระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IDEs) การส่งเสริมการร่วมลงทุนเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยกลไก University Holding Company หรือนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุนของสถาบันอุดมศึกษา ศูนย์บ่มเพาะในอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค แพลตฟอร์ม E-Commercial and Innovation (ECIP) เป็นต้น
“ประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มนักลงทุนที่สนใจในธุรกิจสตาร์ตอัปที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง การที่สตาร์ตอัปไทยมีส่วนร่วมทำงานร่วมกับนักลงทุน นอกจากจะสามารถช่วยให้กลุ่มสตาร์ตอัปเข้าถึงแหล่งทุนแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสสร้างการเติบโตของธุรกิจให้ไปถึงระดับสากลได้” นางสาวศุภมาส กล่าว
ด้าน ศ.ดร. บัณฑิต กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะผู้นําด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ อีกทั้งยังเป็นผู้นําในการส่งเสริมนวัตกรรม การวิจัย และความเป็นผู้ประกอบการได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะจัดให้มีแพลตฟอร์มอย่าง Chula Deep-Tech Demo Day เพื่อรองรับการเติบโต ความร่วมมือ และขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมของสตาร์ตอัปไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ที่ผ่านมา จุฬาฯ มีวิสัยทัศน์ในการมุ่งเป็น ‘Chula Innovations for Society’ เพื่อนำความรู้และนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์และทําให้สังคมดีขึ้น และก้าวสู่มหาวิทยาลัยวิจัยที่ทําการเรียนการสอน บัณฑิตจุฬาฯ ต้องมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มีความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) ควบคู่กับความรู้ทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับจากผู้จ้างงานทั่วโลก และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การบริหารมหาวิทยาลัยต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการประเด็นสาธารณะระดับชาติและโลกเพื่อสร้างสังคมแห่งอนาคตที่ดีกว่าวันนี้ โดยในปี 2566 จุฬาฯ ได้มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม (Chula Innovations for Society) โดยสร้างธุรกิจเพื่อสังคมมากกว่า 100 บริษัท มีเงินระดมทุนแล้วมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าตลาดมากกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนมากกว่า 4 ล้านคน ซึ่งภายในปี 2569 คาดว่าจะระดมทุนได้ถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าตลาดมากกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ภายในงาน “Chula Deep Tech Demo Day 2023” ได้มีการนําเสนองานวิจัยจากกลุ่มสตาร์ตอัปจาก 9 กลุ่ม ได้แก่ Increbio, TannD, Hiveground, EngineLife, Baiya Phytopharm, Mineed technology, Nabsolute, CELLMIDI, CrystalLyte พร้อมเจาะลึกนโยบายการสนับสนุนและโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ สมาคม และพันธมิตรทางด้านธุรกิจ นอกจากนี้ มีการบริการในด้านซอฟต์แวร์ที่ใช้ระบบคลาวด์ (B2B Saas) ของไทยและซัพพลายเออร์มากมายและ รับฟังการอภิปรายในหัวข้อที่เป็นกระแสและได้รับความสนใจในปัจจุบันเกี่ยวกับเทคโนโลยี Deep Tech นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ Opportunities and Ecosystem of Thailand Deep Tech Lanscape โดยมี นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) รศ.ดร. ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมเป็นวิทยากร
ติดตามรายละเอียดข้อมูล Chula Deep Tech Demo Day และข้อมูลงานวิจัยของสตาร์ตอัปทั้ง 9 กลุ่ม ได้ที่
เผยแพร่ข่าว : นายอภิชัย ไทยเกื้อ
ถ่ายภาพ : นายสกล นุ่นงาม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.