สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) รวบรวมข้อมูลกรณีศึกษาจากต่างประเทศในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำ Scenario Planning มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นผลกระทบที่เกิดจาก COVID-19 ของไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อการฟื้นตัวและสร้างภูมิคุ้มกันให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมมีความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
โดยได้หยิบยกกรณีศึกษาของประเทศจีน และเกาหลีใต้ ที่ใช้มาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ จีน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ในช่วงปลายปี 2562 จากนั้นได้แพร่ระกระจายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง จนทางการจีนตัดสินใจใช้มาตรการปิดเมือง เมื่อวันที่ 23 มกราคม จากนั้นปิดบริษัทและโรงงานที่ไม่จำเป็นในมณฑลหูเป่ย และปิดโรงเรียน ในเวลาต่อมา ก่อนจะผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และให้ประชาชนกลับมาทำงนได้ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ จนกระทั่งได้ผ่อนคลายการปิดเมืองอู่ฮั่นในวันที่ 22 มีนาคม
ส่วนที่เกาหลีใต้ ใช้มาตรการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา จากนั้นใช้มาตรการกักบริเวณและการบรรเทาอาการ โดยทางการได้จัดหาสถานที่การกักตัวตามระดับอาการของโรค และเร่งรีบรักษาผู้ป่วยอย่างเร่งด่วน ช่วยให้จำนวนผู้ป่วยและอัตราการตายลดน้อยลง นอกจากนี้ ยังใช้มาตรการคัดแยกผู้ป่วยและจัดระบบการรักษา ที่น่าสนใจคือเกาหลีใต้มีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยบริหารจัดการ เช่น การสร้างระบบตรวจโรคแบบ Drive-Through แห่งแรกของโลก การติดตามข้อมูลผู้ที่อาจจะติดโรคด้วยการสืบค้นประวัติการใช้บัตรเครดิตและการใช้โทรศัพท์มือถือ
มาตรการของเกาหลี มีความน่าสนใจและถูกยกให้เป็นประเทศที่สามารถพัฒนาชุดตรวจ หรือ Test kit ที่สามารถตรวจผู้ป่วยได้มากที่สุดในโลก เรามาไล่เลียงมาตรการของประเทศเกาหลีในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคกันว่า เขาทำอย่างไรกันบ้าง ไล่ตามไทม์ไลน์ให้เห็นชัดกันเลย
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ห้ามชาวต่างชาติจากมณฑลหูเป่ย ประเทศจีนเข้ามาในประเทศ พร้อมทั้งเริ่มใช้ชุดตรวจครั้งแรกจำนวน 16 เคส ต่อมาในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงกว่า 1,700 ราย หลังจากการแพร่กระจายของโรคในผู้ป่วยรายที่ 31 (Super Spreader) จากนั้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทางการได้ประกาศห้ามเข้า-ออก 15 ประเทศ และบังคับใช้กฎหมายในการตรวจหาและทดสอบผู้ที่มีเกณฑ์ติดเชื้อทั้งหมด โดยติดตามจากข้อมูลการใช้บัตรเครดิตและโทรศัพท์มือถือ อย่างที่เกริ่นในตอนต้น
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ มีการบังคับให้อาคารและสถานที่ที่เปิดบริการต้องมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิด้วยกล้องความร้อน จากนั้นอีก 3 วันถัดมาคือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 95 ประเทศยกเลิกหรือโดนจำกัดการเข้ามาในเกาหลี และในวันเดียวกันนี้ มีการใช้ระบบ Drive Though Testing เป็นครั้งแรก ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม ได้นำระบบ Drive Though Testing ไปใช้ในร้านอาหาร fast food ก่อนจะยกระดับมาตรการเข้มข้นขึ้นในวันที่ 10 มีนาคม ห้ามนักท่องเที่ยวจาก 109 ประเทศเข้ามาในเกาหลีใต้ จากนั้นได้พัฒนาชุดตรวจจนสามารถตรวจได้ 15,000 เคสต่อวัน โดยชุดตรวจดังกล่าวสามารถตรวจได้กว่า 180,000 ราย เกาหลีใต้แตกต่างจากจีนตรงที่ เน้นการคัดแยกและติดตามผู้ปวยอย่างใกล้ชิด มากกว่ามาตรการปิดประเทศ
13 มีนาคม เกาหลีใต้ สามารถรักษาผู้ป่วยให้หายจำนวน 177 ราย ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่เกิดขึ้นเพียง 110 ราย 20 มีนาคม ยกเลิกวีซ่า 171 ประเทศที่จะเข้าเกาหลีใต้ และเป็นประเทศที่สามารถใช้ชุดตรวจคัดกรองผู้ป่วยได้ถึง 316,664 ราย ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลก
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.