เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เวลา 14.46 น. ตามเวลาในประเทศญี่ปุ่น ได้เกิดแผ่นดินไหวและสินามิที่ชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกูชิมา-ไดอิจิ (Fukushima-Daiichi NPP, FDNPP) เป็นเหตุให้มีการฟุ้งกระจายของไอโอดีน-131 (I-131; ค่าครึ่งชีวิต 8 วัน) ปริมาณ 100-400 PBq และซีเซียมข-137 (Cs-137; ค่าครึ่งชีวิต 30 ปี) ปริมาณ 7-20 PBq ออกสู่ชั้นบรรยากาศและตกลงสู่ทะเลญี่ปุ่น/มหาสมุทรแปซิฟิกในเวลาต่อมา ประกอบกับได้มีการปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนรังสีลงสู่ทะเล โดยมีปริมาณของ I-131 และ Cs-137 ในช่วง 10-20 PBq และ 1-6 PBq ตามลำดับ ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนทางรังสีในน้ำทะเลหลายพันเท่าเมื่อเทียบกับระดับปกติของทะเลญี่ปุ่น/มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งน้ำทะเลที่ปนเปื้อนรังสีดังกล่าวได้มีการเคลื่อนที่ไปในหลายๆ ทิศทางส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนในระบบนิเวศทางทะเลในวงกว้าง และสารกัมมันตรังสีทั้งสองชนิดนั้นจะไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตทางทะเล ส่งผลให้ปริมาณรังสีที่สิ่งมีชีวิตทางทะเลเหล่านั้นได้รับอาจสูงกว่าเกณฑ์ความปลอดภัยทางรังสีที่ยอมให้สิ่งมีชีวิตทางทะเลรับได้ และอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางรังสีขึ้นกับสัตว์ทะเล เช่น การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพ อัตราการเติบโตลดลง และในขั้นรุนแรงอาจเพิ่มอัตราการตายของสัตว์ทะเลเหล่านั้น รวมถึงประชาชนอาจจะได้รับผลกระทบทางรังสีได้เช่นกันจากการบริโภคอาหารทะเลที่ปนเปื้อนรังสี ซึ่งอาหารทะเลนับว่าเป็นอาหารหลักอีกประเภทหนึ่งของประชากรในหลายๆ ประเทศ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่ประชาชนผู้บริโภคอาหารทะเลจะได้รับปริมาณรังสีสูงเกินกว่าปกติ ถึงแม้ว่า I-131 ที่หลงเหลือในธรรมชาติจะลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากค่าครึ่งชีวิตที่สั้น แต่การปนเปื้อนของ Cs-137 ก็ยังจะคงอยู่ต่อไปถึงแม้อุบัติเหตุดังกล่าวจะผ่านไปหลายสิบปี ด้วยสาเหตุดังกล่าวข้างต้นได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในหลายๆ ประเทศทั้งในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก และในภูมิภาคอื่นๆ ที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานนิวเคลียร์และรังสี ได้ทำการเฝ้าระวังระดับรังสีในอากาศและน้ำทะเลผ่านทางสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสี จำนวน 23 สถานี ทั่วประเทศ และการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อมทางทะเล ได้แก่ น้ำทะเล ตะกอนดิน และอาหารทะเล จากอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวมถึงในอาหาร/ผลิตภัณฑ์นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมประมง (ปม.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ซึ่งจากผลการดำเนินงานข้างต้นไม่พบการปนเปื้อนทางรังสี ในสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและในอาหาร (ทั้งของไทยและจากประเทศญี่ปุ่น) ทั้งนี้ การดำเนินงานของ ปส. ที่ผ่านมาและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีให้กับประชาชน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มเฝ้าตรวจกัมมันตภาพรังสี กองพัฒนาระบบและมาตรฐานกำกับดูแลความปลอดภัย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์. 0 2596 7600 ต่อ 4302 – 4304
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.