(28 พฤษภาคม 2563) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลในกำกับ เข้าประชุมหารือเชิงนโยบายในการปรับบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ณ ห้องประชุมศาสตราจรย์วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) อาคารถนนศรีอยุธยา
ศ.ดร.ศุภชัย รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวรายงานถึง โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ จัดทำโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อลดปัญหาความยากจนแบบระบุเป้าหมายชัดเจน ซึ่งในแต่ละตำบลที่ลงไปดำเนินงานจำเป็นต้องสร้างให้เกิดโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้น ได้แก่ (1) โครงการเกษตรด้านอาหาร (2) โครงการด้านการจัดการน้ำ (3) โครงการด้านการท่องเที่ยวชุมชน (4) โครงการด้านเศรษฐกิจชุมชน (5) โครงการพัฒนา OTOP/ SMEs (6) โครงการด้านพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (7) โครงการด้านอื่น ๆ
ด้านมหาวิทยาลัย
- 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย
- ทำหน้าที่เป็น Area Based System Integrator บูรณาการโครงการต่าง ๆ ที่ลงไปยังตำบลเพื่อให้มีประสิทธิภาพ และไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน
- จ้างงานและกำกับดูแล ประชาชน/ บัณฑิต/ นักศึกษา ที่ช่วยในงานโครงการต่าง ๆ
- จัดทำข้อมูลรายชุมชน
Regional System Integrator
- ดำเนินการด้วย 9 เครือข่าย สถาบันอุดมศึกษาตามภูมิภาค
- บูรณาการการทำงานของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ในการแกไขปัญหาความยากจน การใช้ทรัพยากรและการใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกัน
National System Integrator
- คณะทำงาน ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สศช./ อว./...
- บูรณาการโครงการและข้อมูลในภาพรวมของทุกพื้นที่
- ประเมินผลกระทบ
- จัดทำ Community Big data เพื่อการแก้ปัญหาความยากจนแบบ Targeted Poverty Alleviation
ด้าน ดร.สุวิทย์ ให้ความเห็นว่า งานนี้เป็นงานที่มีความสำคัญเพราะว่าจาก Post COVID หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปมาก (1) เราจะต้องมองวิกฤตให้เป็นโอกาส (2) การใช้เงินกู้ครั้งนี้มันมีนัยยะ มีความสำคัญ ถ้าบริหารจัดการอย่างดีประเทศจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องมาร่วมกันหารือว่าทำอย่างไรถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ไม่ใช่การทำเพื่อการเยียวยาเท่านั้น จึงเชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยคือโจทย์ที่สำคัญ เพราะว่าองค์ความรู้อยู่ในมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นถือเป็นการติดอาวุธทางปัญญาครั้งใหญ่ที่จะลงไปสู่ชุมชน ในส่วนที่สองคือเป็นการ M Power นักศึกษาและบัณฑิตของเราให้ลงไปที่ชุมชน เพราะว่าการจ้างงานครั้งนี้อาจจะเป็นการจ้างงานเพียงชั่วคราว นั่นก็คือ Post COVID ทำให้ Local Economy มีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ต้องร่วมกันทำคือการทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความแข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังของราชมงคล ทั้งเรื่องของเทคโนโลยีและการจัดการ แต่เดิมไม่มีโอกาสได้แสดง แต่ครั้งนี้จะเป็นการโชว์ของ แต่อยู่ในบริบทของการพัฒนาประเทศหลัง COVID
สำหรับราชมงคลถ้ามองดูเรื่องของ Reinventing University อยากให้พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมเป็นสำคัญ ซึ่งครั้งนี้เป็นโจทย์ใหญ่ไม่อยากให้มองแยกส่วน ต้องมาดูว่าภายใต้ 10 S-Curve เราจะแบ่งกันดำเนินการเรื่องอะไร เรื่องของเทคโนโลยีเป็นมิติหนึ่งของราชมงคล เรื่องของ Area ก็เป็นมิติหนึ่งของราชมงคล
ในช่วง COVID ที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ดร.สุวิทย์ ขับเคลื่อนในเรื่องของ BCG (Bio Economy - Circular Economy - Green Economy) ซึ่งเป็น 5 ใน 10 S-Curve และเป็น 5 ใน 10 ที่เป็นของเรา อาทิ เรื่องอาหาร เกษตร การแพทย์ สาธารณสุข พลังงาน วัสดุชีวภาพ การท่องเที่ยว และ creative economy เป็นเรื่องที่เราสามารถสร้างความเข้มแข็งจากภายในและเชื่อมประเทศไทยไปสู่โลกได้ เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ราชมงคลมาช่วยกันโฟกัสที่โจทย์นี้ BCG จะกลายเป็น Post Covid Growth Engine ของประเทศ และจะนำพลังของมหาวิทยาลัยมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะ BCG สามารถลงมาสู่ระดับพื้นที่ ระดับตำบลได้เลย แต่จะทำอย่างไรให้เกิด Mass อยากให้ใช้พลังของราชมงคลพัฒนาในเชิง sector ก็คือ BCG และการพัฒนาในเชิง Area Based ซึ่งก็คือโครงการนี้ แท้จริงแล้วอีกด้านหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือ local BCG ในเรื่องการพัฒนาเกษตร แหล่งน้ำ เครื่องมือ เครื่องจักรกลทางการเกษตร ซึ่งราชมงคลทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่จะผนึกกำลังกับอาชีวะไหม หรืออื่น ๆ เป็นต้น เราต้องมี regional indicator แล้วมาช่วยกันดูภาพรวม
อีกหนึ่งเรื่อง คือ หลังจากที่โครงการจ้างงานหมดไป เกิดการตั้งคำถามว่าชาวบ้านจะอยู่อย่างไรต่อ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยต้องเป็นตัวกลางดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโจทย์คือทำอย่างไรให้ชุมชนนั้น ๆ สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน สิ่งที่อาจารย์จะทำได้คือ อาวุธทางปัญญา ซึ่งไม่ใช่ลงไปแค่เอาปัญญานี้มอบให้แก่ นักศึกษา, บัณฑิต, แต่ยังมอบให้กับผู้นำชุมชน นอกจากนั้น นักศึกษาหรือบัณฑิต หรือประชาชนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะต้องถูก Re-Skill และ Up-Skill ด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.