26 มิถุนายน 2563 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมผู้บริหาร อว. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการดำเนินงานในการพัฒนาธุกิจชุมชน และได้เยี่ยมชมสวนทุเรียน “สวนศรีมูล” อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ชมนวัตกรรมชุดกับดักแมลงศัตรูพืชเพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการ “อว.สร้างงาน ระยะที่ 1” ในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์
รมว. อว. เผยในที่ประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม ว่า “เป็นที่น่าพอใจการดำเนินการโครงการ อว. สร้างงาน ระยะที่ 1 ซึ่งได้ดำเนินการจ้างงานจำนวน 10,000 คน โดยเริ่มไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งผลลัพธ์เป็นที่พอใจอย่างมาก โดยภาพรวมเห็นชัดว่าหน่วยจ้างงานหลายแห่งดำเนินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าไปช่วยเหลือการว่างงานและสร้างรายได้อย่างทั่วถึง มีมาตรการการคัดกรองผู้รับจ้างงานที่ชัดเจน เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวและธุรกิจชุมชนให้มีคุณภาพ รวมทั้งต่อยอดการผลิตสินค้าและบริการที่มีศักยภาพสูงด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรม และ อว. จะเริ่มโครงการ อว.สร้างงาน ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยมีจำนวนอัตราจ้างกว่า 3.2 หมื่นคน โดยลักษณะงานที่ผู้รับจ้างดำเนินงาน จะเป็นเรื่องข้อมูลเชิงพื้นที่ ติดต่อประสานงานกับผู้นำชุมชน ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ เก็บข้อมูลจากหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การวิเคราะห์และจัดทำแผน วางแผนโครงการและแผนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานคู่ความร่วมมือ ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น ด้าน Smart Faming ด้านการจัดการน้ำชุมชน ด้านสุขภาพ ด้านการสร้างอาชีพ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้านการจัดการขยะ ด้านการจัดการสังคมผู้สูงอายุ หรือด้านอื่นๆ ที่สอดคล้องกับบริบทปัญหา หรือความต้องการของพื้นที่เป็นหลัก” พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานโครงการต่างๆ ที่นำมาจัดแสดง
จากนั้น ดร.สุวิทย์ พร้อมคณะลงพื้นที่ สวนศรีมูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อชมนวัตกรรมชุดกับดักแมลงศัตรูพืชเพื่อกำจัดแมลงศัตรูที่พบในทุเรียน ได้แก่ หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน หนอนเจาะผลทุเรียน หนอนกินขั้วผล ไรแดง เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยจักจั่นฝอย มอดเจาะลำต้น บุ้งหูแดง หนอนด้วงปีกแข็งกินรากทุเรียน แมลงค่อมทอง ด้วงบ่าหนามจุดนูนดำ เป็นต้น โดยงานวิจัยการป้องกันกำจัดด้วยกลวิธีกับดักแสงไฟ สามารถลดแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชในสวนทุเรียน
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ร่วมกับสถาบันศึกษาในเขตภาคเหนือตอนล่าง อีก 15 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยนเรศวรมหาวิทยาลัยพิษณุโลก มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรมหาวิทยาลัยภาคกลาง มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์วิทยาลัยลุ่มน้ำปิง วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี วิทยาลัยชุมชนตาก และวิทยาลัยชุมชนพิจิตร ซึ่งทุกสถาบันเป็น Strategic partner ร่วมกัน ในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนล่างตั้งเป้าสร้างงานสำหรับประชาชนที่ว่างงาน ให้ได้รับความรู้และสามารถนำทักษะจากการทำงานไปประกอบอาชีพใหม่ได้ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย
เป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาเขตภาคเหนือตอนล่าง คือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณของเสียในชุมชน พร้อมส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผลิตเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย เชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง และมุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการต่อเนื่องให้มีคุณภาพ จะทำให้ประชาชนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืนและกระจายประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยทุกมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการฯ ทำหน้าที่เป็น Area Based System Integrator บูรณาการโครงการต่างๆ ที่ลงไปยังตำบล โดยจ้างงานและกำกับดูแล ประชาชน บัณฑิต และนักศึกษา ที่เขาไปดำเนินโครงการในตำบลเป้าหมาย เช่น โครงการด้านการพัฒนาสินค้าและบริการของชุมชน โครงการด้านการพัฒนาตลาดและสิ่งอำนวยความสะดวกของชุมชน โครงการพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data)
“อว. พร้อมสนับสนุนบัณฑิตที่เพิ่งเรียนจบหรือกลุ่มคนที่ว่างงานผ่านโครงการ อว. จ้างงาน สร้างเครือข่ายและพัฒนาท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน ยกระดับความสามารถการแข่งขันและวางรากฐานทางเศรษฐกิจ โดยการบ่มเพาะผู้ถูกจ้างงานและผู้ประกอบการ ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (RDI for S-Curve Industries) การยกระดับและสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบต่าง ๆ เช่น แพลตฟอร์มเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ผลักดัน Regional BCG และนโยบาย อว. ผ่านมหาวิทยาลัยในภูมิภาคในรูปแบบ Regional System Integrator สู่การการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษา (Reinventing University) ในอนาคต” รมว. อว. กล่าวในตอนท้าย
ถ่ายภาพ : อินทิรา บัวลอย
เขียวข่าว : วัชรพล วงษ์ไทย
วีดีโอ : จรัส เล็กเกาะทวด
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.อว.(ภารกิจด้านการอุดมศึกษา)
ถนนศรีอยุธยา ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
www.facebook.com/opsMHESI/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.