12 มิถุนายน 2562 : รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ หัวข้อ "การปรับบทบาทของอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)" ในการประชุมคณะกรรมการประจำมหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 11/2562 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
และในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้แทนประชาคมชาวมหิดล
มอบดอกไม้แสดงความยินดี ในโอกาสที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ คนแรก
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายพิเศษ หัวข้อ "การปรับบทบาทของอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)" ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า 14 เรื่องใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจในการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 และนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปพัฒนาประเทศ คือ
1. สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เป็นการควบรวมระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ศธ.
2. กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เป็นกระทรวงใหม่ที่มีขนาดใหญ่ มีบุคลากรในสังกัดเกิน 1 แสนคน งบประมาณแผ่นดินรวม 139,000 ล้านบาท และมีสถาบันวิจัย 20 แห่ง มหาวิทยาลัยของรัฐ 75 แห่ง และของเอกชน 75 แห่ง อยู่ในความดูแล
3. มีสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็น Super Board ดูแลเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในหลายๆกระทรวง เป็นภาพรวมของประเทศไม่เฉพาะแค่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เท่านั้น
4. สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จะทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสภา ในการประมวลทิศทางของประเทศ (future plan) แผนแม่บทอุดมศึกษา แผนแม่บทการวิจัย นวัตกรรม และงบประมาณ
5. ระบบวิจัยจะถูกแบ่งอย่างชัดเจน (1) Policy Maker (2) Policy Deployment (3) Budget Allocation (4) Funding Agencies แต่ละหน่วยงานที่ดูแลจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
6. มีการจัดระบบงบประมาณด้านวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ สำนักงบประมาณจะดูแลงบตามภารกิจพื้นฐาน (Function) และงบลงทุน มหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยจะต้องเสนอไปตามขั้นตอนปกติ แต่สำหรับงบยุทธศาสตร์-งบวิจัย จะมีคณะกรรมการพิจารณาซึ่งแบ่งออกเป็นสองชุด คือด้านอุดมศึกษาและด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
7. ตั้งกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมขึ้นเป็น program bond มีลักษณะ Multi Year และ Multi Agency หลายมหาวิทยาลัย หลายสถาบัน หลายหน่วยงานจะมาทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยหวังให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน
8. มีภาคเอกชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการต่างๆและมีส่วนร่วมมากขึ้น
9. กรมวิทยาศาสตร์บริการ จะปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรมหาชน ใน 3 ปี และจะประเมินสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเปลี่ยนเป็นองค์กรมหาชน (หรือไม่เป็นก็ได้)
10. โครงสร้างคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) จะเปลี่ยนไป มีคณะกรรมการทั้งจากภาคมหาวิทยาลัย อดีตนายกสภาฯ อดีตอธิการบดีเข้ามาเป็น กกอ.ได้ และรวมถึงมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมมากขึ้น
11. คณะกรรมการมาตรฐานอุดมศึกษา (กมอ.) จะมีบทบาทมากขึ้น สามารถจะรับนโยบายและสั่งการได้ โดยผ่านรัฐมนตรีหรือ ผู้ทรงคุณวุฒิ (ที่ไม่ใช่อาจารย์ประจำอยู่ในมหาวิทยาลัย)
12. มี sandbox เกิดขึ้น มีงานวิจัยเรื่องใหม่ได้ มีหลักสูตรที่ไม่ต้องผ่าน กกอ.มาตรฐานอุดมศึกษาได้และทรัพย์สินทางปัญญาที่จะให้ ผู้วิจัยมีสิทธิในผลงานมากขึ้น
13. จัดทำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ฐานข้อมูลวิจัยจัดทำโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ฐานข้อมูลอุดมศึกษาจัดทำ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงฯ จะเริ่มทำงานโดยจะมีมาตรการสำหรับมหาวิทยาลัยที่ไม่ส่งข้อมูล จะใช้ระบบ block chain หรือระบบฐานข้อมูลอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยมีอยู่แล้ว เพื่อรวบรวมไปเป็นฐานข้อมูลใหญ่ของอุดมศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องรับผิดชอบข้อมูลของตนเอง
และ 14. มีคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการปฏิรูป วาระการทำงาน 4 ปี เพื่อติดตามการทำงานให้เป็นไปตามทิศทางที่ต้องการ
ข้อมูลข่าวโดย : สป.อว. (ด้านการอุดมศึกษา)
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
อาคารอุดมศึกษา ถนนศรีอยุธยา โทร.02 0395606-9